โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เกม' ติดง่าย ฝังลึกถึงยีน ในวันที่ 'มือถือ' ไม่ต่างจาก 'อาวุธ'

MATICHON ONLINE

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 00.26 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 00.26 น.
เกม22

‘เกม’ ติดง่าย ฝังลึกถึงยีน ในวันที่ ‘มือถือ’ ไม่ต่างจาก ‘อาวุธ’

เกม – เห็นลูกนั่งๆ นอนๆ เล่นเกมมือถือ เป็นเด็กเงียบเรียบร้อยอยู่ในบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าเพิ่งไว้วางใจ เพราะลึกๆ แล้วผลลัพธ์อาจมากกว่าที่เห็น ความร้ายแรงอาจมากกว่าที่เคยรับรู้มาก่อน จึงต้องรับมือก่อนถึงวันที่ภูเขาไฟระเบิด ในเสวนาสาธารณะ “ความรุนแรง และการพนันในเกมออนไลน์” จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และภาคีเครือข่าย ณ ห้องธาราเทพ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา กรุงเทพฯ

ในงานฉายภาพให้เห็นถึง สถานการณ์คนไทยเล่นเกมออนไลน์ ปัจจุบันมีถึง 27.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ต่อ 4 ประชากรทั้งหมดที่เล่นเกมออนไลน์ ส่วนใหญ่เล่นผ่านช่องทางมือถือ รองลงมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และเกมคอนโซล ด้วยเหตุนี้ทำให้อุตสาหกรรมเกมในไทยเติบโตถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เกมออนไลน์ในปัจจุบันสามารถ “เข้าถึง ติดง่าย และฝังลึกถึงยีน” ในส่วนเข้าถึง ต้องบอกว่าแม้ปัจจุบันจะมีการจัดเรตติ้งเกมแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ อย่างเกมที่จัดเรตติ้ง 20+ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกมต่อสู้ทำลายล้าง เอาเข้าจริงเด็ก ป.6 ก็เข้ามาเล่นได้

ส่วนติดง่าย ตรงนี้ยืนยันตามประกาศองค์การอนามัยโลกว่าอาการติดเกมคือโรคระบาดหนึ่ง จากพฤติกรรมที่ทำจนเป็นพฤตินิสัย 3 ขั้น เริ่มจาก 1.ติดเกมจนไม่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เล่นเกมจนไม่กินข้าว 2.ติดแรงขึ้น จากการเล่นเกมหนักขึ้น มากขึ้น จนเข้าสู่ 3.ติดเกมจนถ้าไม่ได้เล่นจะมอาการลงแดง ทำร้ายพ่อแม่ที่มาห้ามเล่นเกม โดยที่ตัวเด็กไม่รู้สึกผิด ถือเป็นความคลั่งที่ไร้จิตสำนึก

“พฤตินิสัยติดเกมมีผลต่อระบบสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่คิดวิเคราะห์ชั้นสูง ไม่ได้รับการพัฒนา ยิ่งเกมที่ใช้ความรุนแรง สมองส่วนนี้ยิ่งถูกทำลาย ทำให้เด็กเมื่อเจอภาวะวิกฤตไม่สามารถคิดแก้ปัญหาได้ ยิ่งในวัยรุ่นที่ฮอร์โมนด้านอารมณ์สูงยิ่งไม่สามารถควบคุมยับยั้งอารมณ์ได้ คล้ายๆ กับเหตุการณ์กราดยิงโคราช ที่สมองส่วนหน้าของผู้ก่อเหตุอยู่ในสภาพชัตดาวน์ไปเลย”

หมอเดวยังยกงานวิจัยต่างประเทศที่พบว่าการเล่นเกมทำให้ร่างกายหลั่งสารความเครียด “คอร์ติซอล” (cortisol) ซึ่งตรงข้ามกับสารความสุขอย่าง “เอ็นโดรฟิน” (Endorphine) หากเล่นต่อเนื่องก็หลั่งตลอด ร่างกายก็จะปรับสภาพ ที่สุดสมดุลชีวิตเปลี่ยน ทำให้ผู้เล่นนั้นเป็นคนอ่อนไหว ระเบิดอารมณ์ง่าย อีกทั้งส่งต่อเป็นยีนโน้มนำไปยังรุ่นลูกให้เป็นเด็กเลี้ยงยาก ระเบิดอารมณ์ง่ายเช่นกัน

จึงแนะนำให้เสริมพลังบวก ดึงเด็กออกจากเกมออนไลน์ ด้วยการมีกิจกรรมในโรงเรียน สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน และเปิดพื้นที่ทางความคิดเด็กในครอบครัว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

 

 

ขณะที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยการเล่นเกมทั่วโลกก็พบข้อดีของการเล่นเกม อาทิ ในเกมที่ใช้ความรุนแรง ถือเป็นการระบายหรือแสดงออกในสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ในชีวิตจริง รวมถึงเป็นการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง แต่ก็มีข้อเสียไม่น้อย เหมือนผลกระทบที่ รศ.นพ.สุริยเดว ได้ฉายภาพให้เห็น

อาจารย์ธามถอดรหัสเกมในปัจจุบันถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นต้องเล่นตลอด เพื่อไต่อันดับให้สูงขึ้น เก็บและรักษาไอเท็มอยู่ตลอด จ่ายเพื่อชัยชนะ ยิ่งเป็นลักษณะเกมออนไลน์ที่ผู้เล่นสามารถมีตัวตนในสังคมออนไลน์ มีโซเชียลสเตตัส จึงทำให้ผู้เล่นถอนตัวไม่ได้ ไม่เหมือนเกมสมัยก่อน ที่เล่นแบบออฟไลน์ ชนะก็จบ

“สิ่งที่จะพบมากในเกมออนไลน์คือการรบราฆ่าฟัน ผู้เล่นจะเห็นอาวุธ ทั้งปืน มีด กระทั่งของใช้ภายในบ้านที่นำมาเป็นอาวุธได้ นำมาฆ่ากัน ยิ่งฆ่ามากก็ได้รางวัลมาก ผ่านภาพกราฟิกที่ดูสมจริงมาก จะเห็นทั้งเลือดไหล ไส้ทะลัก จนผู้เล่นรู้สึกชินชากับภาพเหล่านี้ โดยที่ไม่มีการลงโทษใดๆ

“ซึ่งผมเคยคุยกับเยาวชนในสถานพินิจที่เล่นเกมออนไลน์ เขาบอกว่าการฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ เพื่อความอยู่รอด สะท้อนว่าพวกเขาเล่นจนเห็นเรื่องนี้จนชินชา ฉะนั้นเราจะปล่อยให้เกมมีอิสระอย่างนี้ต่อไปหรือไม่” อาจารย์ธามกล่าว พร้อมมอบข้อเสนอให้มีการจัดระเบียบเกมออนไลน์จริงจัง อาทิ ควบคุมอายุผู้เล่นอย่างจริงจัง มีกฎหมายควบคุมเกมออนไลน์ ครอบคลุมการพนันออนไลน์ มาตรการทางภาษีเนื่องจากปัจจุบันเงินไหลออกหมด ส่งเสริมเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ

ส่วน ดร.อารณีย์ วิวัฒนาภรณ์ รองคณบดีคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยกงานวิจัยด้านอาชญาวิทยา ที่พบเด็กเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง มีโอกาสเป็นอาชญากรในอนาคต เพราะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ที่มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

ดร.อารณีย์กล่าวว่า เป็นสิ่งน่าคิดว่าเยาวชนเหมือนกัน ทำไมเล่นเกมออนไลน์แล้วผลกระทบต่างกัน ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปดูสถาบันครอบครัว ที่อบรมเลี้ยงดูจนเด็กแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตอย่างไร อย่างบางคนที่พอลูกกระทำผิดแล้วบอกว่า “ลูกฉันเป็นคนดี” อย่างนี้พ่อแม่ต้องโดนตำหนิ เพราะถ้าดีจริงทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ ก็ต้องย้อนไปถึงการเลี้ยงดูว่าทำไมไม่สอนให้เขารู้จักคิด เช่น เจอคนขอทาน เขารู้สึกอย่างไร โดยที่พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

ปิดท้ายดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายก สสดย.กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเกมออนไลน์ใครทำ ก็ทำได้ ไม่มีการควบคุม ฉะนั้นถึงเวลาแล้วต้องมีการกำกับดูแล สสดย.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลประกอบกิจการเกม พ.ศ. … เพื่อจะมากำกับดูแลเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในปีนี้ต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0