โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฮอนด้า ซีวิค ไมเนอร์เชนจ์ ขับดีคงเดิม เพิ่มเติมปลอดภัย

Manager Online

อัพเดต 16 ก.พ. 2562 เวลา 03.34 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2562 เวลา 03.34 น. • MGR Online

หลังจากเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี 2559 ผ่านมาเกือบ 3 ปีเต็ม ฮอนด้าจึงได้ฤกษ์ขยับปรับโฉม “ซีวิค” เจเนอเรชันที่ 10 ในช่วงงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปปลายปี 2561 ซึ่งการปรับโฉมครั้งนี้ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการไมเนอร์เชนจ์อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยจุดใหญ่ใจความของการปรับโฉมรอบนี้คือการเพิ่มเติมระบบความปลอดภัยใหม่ Honda Sensing

หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ฮอนด้า ได้จัดคิวให้สื่อมวลชนได้มีการทดลองขับเพื่อสัมผัสกับระบบใหม่ ด้วยเส้นทางกรุงเทพ-เขาใหญ่-กรุงเทพฯ แบบไปเช้า-เย็นกลับ รวมระยะทางที่ขับร่วม 400 กม. ก่อนจะไปถึงบททดลองขับมาดูกันว่า มีอะไรเปลี่ยนใหม่บ้างในเจ้า ซีวิค ไมเนอร์เชนจ์ 2019 โมเดลนี้

เพิ่มระบบความปลอดภัย

รูปร่างภายนอกทุกอย่างยังคงเดิม มีเพียงการเปลี่ยนกันชนหน้า , กระจังหน้าใหม่ทั้งรุ่น 1.5 เทอร์โบ และ 1.8 ลิตร พร้อมกับเปลี่ยนไฟตัดหมอกและเพิ่มเส้นสายให้กับกันชนด้านล่าง ทั้งหน้าและหลัง ล้ออัลลอยลายใหม่ เฉพาะรุ่น 1.5 เทอร์โบ มีการติดตั้งเสาอากาศแบบครีมฉลามเพิ่มเติมเข้ามาอีกหนึ่งจุด

ภายในห้องโดยสารเปลี่ยนลายผ้าในรุ่น 1.8 ลิตร ลายไม้หน้าคอนโซลหน้า ปรับหน้าจอเครื่องเสียงใหม่ และเฉพาะรุ่น 1.5 เทอร์โบ มีการเดินด้ายแดงเบาะนั่งทั้งคัน พร้อมเปลี่ยนลายแผงข้างประตู และเพิ่มสีใหม่อีก 2 สี ได้แก่ สีขาวและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีโปรโมท

สำหรับจุดใหญ่ที่สุดของการปรับเปลี่ยนในรอบนี้คือ การเพิ่มเข้ามาของระบบ Honda Sensing ระบบความปลอดภัยใหม่ของทางฮอนด้า โดยทำงานผ่านกล้องและเรดาร์ ที่จะมีเฉพาะในรุ่น 1.5 เทอร์โบ ตัวท็อปเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ระบบดังกล่าวประกอบไปด้วย

ระบบเตือนการชนรถและคนเดินถนนพร้อมระบบช่วยเบรก (Collision Mitigation Braking System - CMBS) ระบบช่วยเตือนผู้ขับให้ลดความเร็วของรถเมื่อมีรถคันข้างหน้า หรือคนเดินถนนอยู่ในระยะที่ไม่ปลอดภัย โดยระบบจะแจ้งเตือนผ่านหน้าจอแสดงข้อมูลและสัญญาณเสียง รวมถึงมีการสั่นเตือนของพวงมาลัยในกรณีที่มีรถสวนทาง ซึ่งหากผู้ขับขี่ยังไม่ตอบสนองหรือในกรณีที่อยู่ในระยะที่เสี่ยงต่อการชน ระบบจะช่วยเสริมแรงเบรกให้อัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนหรือลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ

ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมระบบปรับความเร็วตามรถยนต์คันหน้าที่ความเร็วต่ำ (Adaptive Cruise Control with Low-Speed Follow - ACC with LSF) เป็นระบบช่วยควบคุมความเร็วของรถให้คงที่ตามที่ผู้ขับขี่ตั้งค่าไว้ และระบบจะปรับความเร็วอัตโนมัติ โดยมีกล้องและเรดาร์ตรวจจับรถคันหน้า เพื่อรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าอย่างเหมาะสม และในการขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ระบบจะช่วยปรับความเร็วให้รถเคลื่อนที่ตามรถคันหน้า รวมถึงเบรกและหยุดตามรถคันหน้าอัตโนมัติ ระบบจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่อผู้ขับขี่กดปุ่มที่พวงมาลัยหรือเหยียบคันเร่ง

ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System - LKAS) กล้องด้านหน้าจะทำการตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ และระบบจะช่วยเพิ่มแรงหน่วงของพวงมาลัย เพื่อช่วยผู้ขับขี่ให้ควบคุมรถอยู่ภายในช่องทางปกติรวมทั้งช่วยลดอาการเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่จากการขับขี่ โดยต้องมีการกดปุ่มเปิดระบบด้วยตัวผู้ขับขี่เอง

ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning - RDM with LDW) เป็นระบบที่ใช้กล้องด้านหน้าในการตรวจจับเส้นแบ่งช่องทางจราจร หากพบว่ารถอยู่ในสภาวะเบี่ยงออกนอกช่องทางโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนที่หน้าจอแสดงข้อมูลพร้อมการสั่นเตือนของพวงมาลัย

ในกรณีที่รถเริ่มเบี่ยงออกนอกช่องทางมากยิ่งขึ้น ระบบจะช่วยหน่วงพวงมาลัยเพื่อให้รถกลับเข้าสู่ช่องทาง หากรถยังคงเบี่ยงออกนอกช่องทางอย่างไร้การควบคุมจนอาจเกิดอุบัติเหตุ ระบบเบรกจะทำงานเพื่อชะลอความเร็ว (ในกรณีเส้นแบ่งถนนเป็นเส้นทึบ) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่รถจะออกนอกช่องทางจราจร ซึ่งเราได้ลองใช้งานพบว่าใช้ได้ดีจริง

ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam - AHB) เป็นระบบปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติด้วยกล้อง โดยจะปรับเป็นไฟสูงเมื่อขับขี่ในที่มืด และจะปรับเป็นไฟต่ำเมื่อตรวจจับได้ว่ามีรถสวนทางหรือมีรถยนต์ด้านหน้า

ทั้ง 5 รายการนี้คือ สิ่งที่เพิ่มเข้ามา แต่น่าเสียดายที่มีเฉพาะในรุ่นท็อปสุดเท่านั้นในเวลานี้ ส่วนอนาคตจะใส่เพิ่มในรุ่นย่อยอื่นด้วยหรือไม่ คำตอบคือ จะมีการเพิ่มเติมอย่างแน่นอน แต่จะเป็นเมื่อไหร่อย่างไรนั้น ทางทีมงานฮอนด้าไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้

เราได้ขับและนั่งตลอดเส้นทางร่วม 400 กม. ในรุ่น 1.5 เทอร์โบ ที่ต้องยอมรับตรงๆ ว่า ขับดี ช่วงล่างเกาะถนน วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 120 กม./ชม. รถยังนิ่ง ขับแบบสบายๆ พละกำลังเหยียบติดเท้าดี พวงมาลัยเบามือ แต่มีหน่วงๆ อยู่บ้าง น่าจะไม่ใช่ปัญหา แต่ยังคงมีเรื่องของการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกที่น่าจะมีการใส่วัสดุดูดซับเพิ่มเติมอีกสักหน่อย จะได้ความสุนทรีในการขับมากขึ้นไปอีก

สำหรับหัวใจยังคงเหมือนเดิม เบนซินขนาด 1.5 ลิตร DOHC VTEC TURBO ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดแบบ flat torque 220 นิวตัน-เมตร ที่ 1,700 - 5,500 รอบ/นาที อัตราการบริโภคน้ำมันเฉลี่ยเคลมไว้ที่ 17.9 กม./ลิตร ซึ่งเราทำได้ 15.4 กม./ลิตรกับการขับในครั้งนี้ กับระยะทางร่วม 400 กม.

เหมาะกับใคร

คนที่กำลังมองหา รถขนาดคอมแพคขับสนุก ลูกเล่นเพียบ รูปโฉมความสวยงามแล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล แต่หากมองเรื่องความปลอดภัย ซีวิค 1.5 เทอร์โบตัวท็อปนี้มากับระบบที่เรียกว่าจัดเต็ม กับราคา 1,219,000 บาท ถือว่า น่าสนใจ โดยเฉพาะคนที่ต้องขับทางไกลๆ ออกต่างจังหวัดบ่อยๆ Honda Sensing ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้อีกระดับ

ราคา ฮอนด้า ซีวิค รุ่น TURBO RS ราคา1,219,000 บาท เพิ่มขึ้น 20,000 บท (เดิม 1,199,000 บาท)

รุ่น TURBO ราคา1,104,000 บาท เพิ่ม 5,000 บาท (เดิม 1,099,000 บาท)

รุ่น 1.8 EL ราคา 964,000 บาท เพิ่ม 5,000 บาท (เดิม 959,000 บาท)

รุ่น 1.8 E ราคา 874,000 บาท เพิ่ม 5,000 บาท (เดิม 869,000 บาท)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0