โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

อ.จุฬา โต้เดือด 'ไพบูลย์' เสนอให้ ส.ว.ร่วมผ่านงบฯ ชี้แนวคิดสร้างปัญหา อันตราย!

Khaosod

อัพเดต 18 เม.ย. 2562 เวลา 09.47 น. • เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 09.46 น.
ไพบูลย์

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬา โต้เดือด ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ เสนอให้ ส.ว.ร่วมผ่านงบฯ ชี้แนวคิดสร้างปัญหา อันตราย!

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง กรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เสนอให้ส.ว.ร่วมกับส.ส.พิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

ข้อเสนอที่ให้ใช้ ม.270 ของรัฐธรรมนูญมาเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการออกกฎหมายต่างๆ ทั้งนี้เพราะเรื่องเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลในอนาคต หากพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่พึงเสนอให้กระทำและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

1.ม.270 อยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นการ “เฉพาะเรื่อง” กล่าวคือ วุฒิสภามีอำนาจร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ไม่ใช่การตราตัวบทกฎหมายทั่วๆ ไป

2.การอาศัย ม.270 เป็นฐานอำนาจในการออกกฎหมายคือการตีความให้กฎหมายทุกฉบับเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศทั้งหมด การตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งต่อ “เหตุผลของเรื่อง” (Nature of things) ที่ใช้กำกับในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ม.270 เอง กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากตีความเช่นนี้ ต่อไปการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจะมาใช้และอ้างอิง ม.270 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นอันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง

3.การตีความเช่นนี้ส่งผลเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตามหลักวิชาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความอันมีลักษณะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยพฤตินัย (De Facto Constitutional Amendment) เพราะเป็นการขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภาในการตรากฎหมายอย่างชัดแจ้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้และความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วยกันอีกด้วย อันอาจส่งผลกระทบและความเสียหายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

เราพึงต้องตระหนักด้วยว่าปัญหาหนึ่งของวิกฤติระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคือ การ (พยายาม) ตีความ หรือบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง (Constitutional fidelity) ดังนั้น จึงพึงหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมอีก

มาตรา 270 ว่าไว้อย่างไร?

ทั้งนี้ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ปี2560 ที่นายไพบูลย์ ยกมานั้น คือ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยระบุว่า

นอกจากสมาชิกวุฒิสภา จะมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้วุฒิสภาตามมาตรา 269 มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน

ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมิได้แจ้งว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของแต่ละสภา อาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย การยื่นคำร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นแล้วเสร็จ

เมื่อประธานรัฐสภาได้รับคำร้องตามวรรคสาม ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมซึ่งประกอบด้วยประธานวุฒิสภาเป็นประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรีคนหนึ่ง และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะเป็นกรรมการ เพื่อวินิจฉัย

การวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสี่ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด และให้ประธานรัฐสภาดำเนินการไปตามคำวินิจฉัยนั้น

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0