โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"อ้ายอ่วม อกโรย" คดีประหารนักโทษสุดโหดสมัยร.5 เอาขวานตัดตัวขาด 2 ท่อน!

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 31 ต.ค. 2565 เวลา 03.01 น. • เผยแพร่ 30 ต.ค. 2565 เวลา 03.47 น.
เพชฌฆาตกำลังลงดาบ นัก โทษ ประหารรายหนึ่งที่วัดโคก (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพในอดีต โดยเทพชู ทับทอง )
เพชฌฆาตกำลังลงดาบ นัก โทษ ประหารรายหนึ่งที่วัดโคก (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพในอดีต โดยเทพชู ทับทอง )

หนึ่งในคดีประหารนักโทษที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุดในสังคมที่ยังใช้กฎหมายโบราณคือคดีของ“อ้ายอ่วม อกโรย” โจรผู้ร้ายแถบหัวเมืองมณฑลอยุธยา เมื่อถูกจับได้ก็ต้องโทษประหาร โดยให้เพชฌฆาตใช้ขวานตัดตัวให้ขาดเป็น 2 ท่อน เพื่อให้โจรผู้ร้ายตามหัวเมืองหวาดกลัวและหลาบจำ

ประวัติของอ้ายอ่วมไม่มีกล่าวไว้เท่าใดนัก สันนิษฐานว่าพื้นเพเดิมเป็นคนบ้านอกโรย แถบจังหวัดรอยต่อสิงห์บุรี-อ่างทองในปัจจุบัน อ้ายอ่วมเป็นหัวหน้าพวกโจรผู้ร้ายแถบหัวเมืองมณฑลอยุธยา มีพรรคพวกหลายสิบคน โดยคดีอ้ายอ่วมเกิดเมื่อ พ.ศ. 2414 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการ คดีนี้มีบันทึกไว้ใน“ความทรงจำ” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

“…ทางหัวเมืองมณฑลอยุธยา ด้วยเป็นโจรมีพวกมาก ทั้งที่ช่วยปล้นสะดมและช่วยแก้ไขในโรงศาล จนราษฎรพากันเกรงกลัว ไม่กล้าร้องฟ้อง หรือแม้แต่จะรับเบิกความเป็นพยานที่ในศาล พวกผู้ร้ายก็กำเริบได้ใจเที่ยวปล้นสะดมหนักขึ้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รู้เค้าไม่ไว้ใจพวกเจ้าเมืองกรมการ เลือกหาข้าราชการ ที่ท่านไว้วางใจ ให้เป็นข้าหลวงแยกย้ายกันไปเที่ยวสืบจับโดยลับหลายทาง

เล่ากันว่า ข้าหลวงคนหนึ่งไปเห็นเรือแหวดเก๋งแจวสวนทางลงมาลำหนึ่ง สําคัญว่าเป็นเรือเพื่อนข้าหลวงที่ขึ้นไปสืบจับผู้ร้ายด้วยกัน เบนเรือเข้าไปหมายจะไต่ถามข้อราชการ เมื่อเข้าไปใกล้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเปิด ม่านเก๋งเรือแหวดลำนั้น กวักมือเรียกและชี้มือไปในเก๋ง ก็รีบไปขึ้นเรือแหวดจับได้ตัว ‘อ้ายอ่วม (ชาวบ้าน) อกโรย’ หัวหน้าผู้ร้ายตัวสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ ด้วยผู้หญิง… ถูกอ้ายอ่วมฉุดเอามาข่มขืนใจให้เป็นเมีย ได้ช่องจึงบอกให้ข้าหลวงจับ มีข้าหลวงอีกสายหนึ่งจับได้อ้ายโพ หัวหน้าสำคัญอีกคนหนึ่งที่ตำบลบ้านสาย

แต่นั้นพวกราษฎรเชื่ออำนาจรัฐบาลก็กลับเป็นใจช่วยสืบจับโจรกับพรรคพวกได้อีกเป็นอันมาก พอจับหัวหน้าโจรได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ขึ้นไปยังพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยผู้พิพากษาตุลาการ ไปตั้งศาลรับสั่งชำระพิพากษาในทันที พวกหัวหน้าโจรที่ต้องโทษถึงประหารชีวิตนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเอาขวานตัดตัวให้ขาดเป็น 2 ท่อน ที่หน้าพะเนียดคล้องช้างแห่ง 1 ให้ผ่าอกที่วัดชีตาเห็น (บ้านผักไห่) อีกแห่ง 1 ป่าวร้องให้คนมาดู โดยหวังจะให้คนพาลสยดสยอง เรื่องนี้แม้ใครจะติเตียนว่าลงอาชญาอย่างทารุณ ก็ต้องยอมว่าได้ผลตามท่านหวัง ด้วยโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองเงียบสงัดลงในทันใด…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้เพียงเท่านี้ ขณะที่ “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8 จดหมายเหตุโหรของ จมื่นเก่งศิลป์ (หรุ่น)” ได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับคดีอ้ายอ่วม สรุปได้ว่า เมื่อวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ได้จับอ้ายโพกับอ้ายชื่น ซึ่งเป็นพรรคพวกของอ้ายอ่วม จับได้ที่บ้านสาย ครั้นถึงวันแรม 8 ค่ำ ก็ประหารชีวิตทั้งสองด้วยการผ่าอกตัดหัว ที่วัดชีตาเห็น บ้านปากไห่ (ผักไห่)

ต่อมา ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ประหารชีวิตอ้ายอ่วมและพรรคพวกคือ อ้ายคง อ้ายใหญ่ อ้ายรง ด้วยวิธีตัดท่อนกลางลำตัว ส่วนพรรคพวกโจรผู้ร้ายอีก 9 คนให้ฟันคอ สัปดาห์ต่อมา ก็ประหารชีวิตพรรคพวกอ้ายอ่วมอีก 11 คน นอกจากนี้ได้ส่งตัวนักโทษ 31 คน ไปเป็นทหาร อีก 9 คน ส่งเข้าคุก

หลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังปรากฏใน “กลอนเพลงยาวนายตาบ” ซึ่งกล่าวถึงการตามเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 5 ในการประพาสทุ่งกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ. 2414 ได้กล่าวถึงการประหารชีวิตอ้ายอ่วมกับพรรคพวกไว้ด้วย โดยระบุว่า รัชกาลที่ 5 พระราชทานดาบกับขวานอาญาสิทธิ์สำหรับการประหารนักโทษกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ไอ้พวกโจรเหล่านี้ถึงที่ตาย เป็นผู้ร้ายเสี้ยนแผ่นดินหมิ่นทะนง

จึ่งประทานดาบกับขวานอาญาสิทธิ์ ไปประหารผลาญชีวิตให้ผุยผง

อ้ายอ่วมกับอ้ายคงถูกประหารด้วยการ “บั่นสองท่อนมันให้ปลงชีวาลัย” พรรคพวกอีก 9 คนถูกตัดหัว โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นประธานการประหารในวันนั้น ในการนี้ รัชกาลที่ 5 ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการประหาร โดยเสด็จพระราชดำเนินเลยที่ประหารไปก่อน แล้วจึงเริ่มการประหาร เมื่อประหารแล้วเสร็จ “พวกชาวเมืองปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ ว่าแต่นี้จะเป็นสุขไปทุกวัน ต่างพากันอวยพรสลอนไป”

ไม่ปรากฏรายละเอียดว่า อ้ายอ่วมได้กระทำการเลวทรามอย่างไร มีระบุเพียงฉุดผู้หญิงมาเป็นเมีย แต่เมื่อได้ขึ้นชื่อว่าโจร ก็คงต้องปล้นทรัพย์สินของชาวบ้านเป็นแน่ และด้วยการต้องโทษประหารแบบพิเศษ ถึงขั้นตัดตัวให้ขาดเป็น 2 ท่อน เช่นนี้แล้ว อ้ายอ่วมคงเป็นโจรผู้ร้ายที่ชั่วช้า เป็นที่ประหวั่นพรั่นพรึงของชาวบ้าน คงเป็นโจร “ใหญ่” พอตัว

โปรโมชั่นพิเศษ ส่งท้ายปีซื้อนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลด 15% พร้อมจัดส่งลงทะเบียนทุกฉบับ แถมฟรีอีก 1 เดือน (1 ฉบับ) เฉพาะวันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 คลิกดูรายละเอียดและสั่งซื้อได้ที่นี่

อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2516). ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : บุรินทร์การพิมพ์.

เอนก นาวิกมูล. (2549). หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 3. กรุงเทพฯ : คอมแพคท์พริ้นท์.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0