โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อ่าน'โปรตุเกส'ผ่าน'ฌูเซ่ ซารามากู'

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 16 พ.ย. 2562 เวลา 01.00 น.

สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย และศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส เปิดตัว "บอด" วรรณกรรมแปลจากภาษาโปรตุเกสเรื่อง Ensaio Sobre a Cegueira ผลงานการประพันธ์ชั้นเยี่ยมของฌูเซ่ ซารามากู (José Saramago: 2465-2553) นักเขียนชาวโปรตุเกสเจ้าของรางวัลโนเบล ประจำปี 2541 ถือเป็นวรรณกรรมภาษาโปรตุเกสเล่มแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

"บอด" แปลโดย กอบชลี งานชิ้นนี้เคยแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วโดยแปลจากภาษาอังกฤษ ความพิเศษในรอบนี้จึงอยู่ที่การแปลจากภาษาที่เป็นต้นฉบับโดยตรง

ดร.ประโลม บุญรัศมี หัวหน้าสาขาวิชาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนภาษาโปรตุเกสรุ่นแรกๆ และคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาโปรตุเกสศึกษา ความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาวรรณกรรม แนะนำว่า ในแวดวงวิชาการ ฌูเซ่ ซารามากู เป็นนักเขียนที่มีผลงานค่อนข้างมาก ระยะเวลาทำงานประมาณ 30 ปี สร้างผลงานประมาณ 40 ชิ้น

สำหรับ "บอด" นักวิชาการรายนี้มองว่า เป็นผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยถูกเวลา เพราะถ้าเลือกพิมพ์ผลงานเล่มก่อนหน้านี้ของฌูเซ่ ซารามากู ที่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจในสังคมโปรตุเกสไม่ว่าจะในด้านการเมืองหรือศาสนานักอ่านไทยยังไม่พร้อม แต่เล่มนี้มีความเป็นสากลสูง

"ความเป็นสากลนี้คือสิ่งที่ฌูเซ่ ซารามากู ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง นับแต่นี้ต่อไปนักเขียนโปรตุเกสจะเขียนงานให้คนโปรตุเกสอ่านอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นสากล" หัวหน้าภาควิชาภาษาโปรตุเกสกล่าว ซึ่งหากอ่านจากบทสรุปย่อของหนังสือที่ว่า เป็นนวนิยายที่ฉายภาพชะตากรรมสับสนของผู้คนที่จริยธรรมพังทลาย พร้อมท้าทายความเชื่อเดิมที่เคยคิดกันว่าอาการตาบอดไม่ใช่โรคติดต่อรุนแรง

"ขณะที่ชายคนหนึ่งขับรถติดไฟแดง จู่ๆ ดวงตาของเขากลับเห็นแต่สีขาว เขากลายเป็นคนตาบอด และแล้วอาการตาบอดของคนที่หนึ่ง ก็ลุกลามแพร่ระบาดไปถึงอีกคน อีกคน และอีกคน จนกระทั่งคนทั้งเมืองสูญเสียการมองเห็น รัฐบาลพยายามกักกันผู้ติดโรคเพื่อยับยั้งอาการประหลาดด้วยมาตรฐานการเยียวยาที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่มีวิธีรักษา ไม่มีช่องทางสื่อสาร ก่อนจะเกิดความโกลาหลอลหม่าน เกิดสภาวการณ์ที่ไม่สามารถชี้วัดสาเหตุอย่างแท้จริง" เท่านี้ก็น่าจะสะท้อนถึงปรากฏการณ์สังคมที่เกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใดก็ได้ สอดรับกับความเป็นสากลของผลงานที่ ดร.ประโลมกล่าวถึง

และหากมีคำถามว่า ทำไมนักอ่านคนไทยจึงควรรู้จักนักเขียนชาวโปรตุเกสท่านนี้ ดร.ประโลมขยายความว่า ในแวดวงวิชาการวรรณกรรมไม่ใช่แค่ในยุโรปแต่รวมไปถึงละตินอเมริกาโดยเฉพาะที่บราซิล งานของฌูเซ่ ซารามากู ศึกษาได้ในหลายแง่มุม แต่ธีมหลักคือ ศาสนา การเมือง สังคม และสตรี

"การแปลจากโครงสร้างที่เป็นโปรตุเกส ขณะที่ผู้อ่านเป็นคนไทย ถือเป็นความท้าทาย แต่การอ่านต้องทำความเข้าใจ ตีความ ถอดรหัส ต้องใช้ประสบการณ์จากความรุ่มรวยของการเป็นนักอ่านที่สั่งสมมา รวมถึงบริบททางสังคม" หัวหน้าภาควิชาภาษาโปรตุเกสทิ้งท้าย พอเหมาะพอดีกับความเห็นของฟรานซิส วาช ปาตตู เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยที่ว่า การแปลวรรณกรรมโปรตุเกสถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

"หนังสือจะทำให้คนไทยใกล้ชิดกับโปรตุเกสมากขึ้น ขอบคุณนักอ่านคนไทย หนังสือเล่มนี้สำหรับคุณ เพราะถ้าไม่มีคุณก็คงไม่มีใครหยิบงานของนักเขียนโปรตุเกสขึ้นมาแปล" ท่านทูตกล่าว ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเมื่อได้ทราบว่าขณะนี้สำนักพิมพ์เตรียมตัวแปลวรรณกรรมโปรตุเกสเพิ่มเติม ทั้งของฌูเซ่ ซารามากู และนักเขียนคนอื่น นั่นเท่ากับว่าโลกของโปรตุเกสและไทยจะใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยมีวรรณกรรมเป็นเครื่องมือ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0