โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อ่านระหว่างบรรทัด - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 03 พ.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ผู้อ่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาหลายปี ย่อมชินกับเรื่องที่ผมชอบอำเล่นว่าผมเป็นเจ้าของรถเบนท์ลีย์หลายคัน มีเรือยอชต์หลายลำ มีคฤหาสน์บนที่ดินหลายพันไร่ มีเงินหลายพันล้านบาท

หากคิดว่าทุกคนอ่านออกว่าผมอำเล่น ก็คิดใหม่ได้ เพราะมีบางคนเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ ! เชื่อไหมว่ามีคนมาขอลดราคาหนังสือเพราะเห็นว่าผมรวยมากแล้ว !

ผู้อ่านไม่น้อยเข้าใจว่า ทุกเรื่องทุกภาพที่ผู้เขียนตีพิมพ์สะท้อนความคิดเห็นของผู้เขียน 100 เปอร์เซ็นต์

ใช่ - บางครั้งจริง 

ไม่ - บางครั้งไม่จริง

นี่เองที่ผู้อ่านต้องฝึกอ่านระหว่างบรรทัด ว่าอะไรจริง อะไรอำ อะไรขำ อะไรซีเรียส

อ่านระหว่างบรรทัด (Read between the lines) หมายถึงการอ่านแบบวิเคราะห์ว่าข้อเขียนนั้น ๆ แปลว่าอะไร (คนยุคก่อนเรียก ‘อ่านเอาเรื่อง’) อะไรคือสาระหลัก อะไรคือแก่น อะไรคือแก็ก อะไรคืออุปมาอุปไมย

ยกตัวอย่าง เช่น ผมวาดรูปคนซักผ้าด้วยมือ หรือบ่นเรื่องความทรมานของสามีผู้ซักผ้าด้วยมือ ก็ไม่ได้แปลว่าความจริงผมเป็น ‘สามีคนนั้น’ มันเป็นแค่การมองโลกแบบขำ ๆ ว่า สามีไม่ค่อยชนะภรรยา ก็เท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับการซักผ้า การซักผ้าเป็นเพียงอุปมา

บางครั้งผมอาจชวนผู้อ่านไปดื่มเหล้า ก็ไม่ได้แปลว่าผมไปดื่มจริง ๆ มันอาจเป็นแค่แก๊ก

งานในลักษณะล้อเล่น (Joking), เสียดสี (Satire) และล้อเลียน (Parody) นั้น ค่อนข้างอ่านระหว่างบรรทัดง่าย งานแบบซีเรียสจะยากหน่อย เพราะโทนจริงจังของมัน ทำให้คิดว่าผู้เขียนคงไม่อำหรือล้อเล่นในเรื่องซีเรียส ซึ่งไม่จริงเสมอไป

---------------------------------------------------

การอ่านระหว่างบรรทัดผิดในเรื่องขำๆ คงไม่ทำให้ใครตาย แต่การอ่านระหว่างบรรทัดผิดในเรื่องอื่น ๆ อาจจะส่งผลร้ายได้จริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและยา เช่น ล้อเล่นว่าดื่มน้ำผลไม้ X ผสมผลไม้ Y และผลไม้ Z รักษามะเร็งได้ ก็อาจมีคนนำไปปฏิบัติและตายได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงถือหลักว่าไม่พูดเล่นในเรื่องสุขภาพ โรคภัย ยา เพราะกลัวคนอ่านไม่เก็ตว่าพูดเล่น

นอกจากนี้ในนิยายหรือเรื่องแต่ง ความคิดเห็นของตัวละครหลักก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ตัวอย่างเช่น นักเขียนคนหนึ่งเขียนถึงตัวละครคนหนึ่งว่ารักหรือเกลียดรัฐบาล ก็มิได้หมายความว่านักเขียนเป็นอย่างนั้น เพราะผู้เขียนไม่ใช่ตัวละคร ตัวละครหนึ่ง ๆ อาจหยิบยืมมาจากบุคคลจริงผสมกับจินตนาการ

คนบางคนอ่านโดยมีความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า (Preconceived idea) และหรือความอยากเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งล่วงหน้า หรือทายใจไว้ล่วงหน้าว่าก่อนอ่านว่า นักเขียนคนนี้ต้องคิดแบบนี้แบบนั้นแน่เลย การอ่านหนังสือแบบนี้อันตราย มันบดบังโลกทัศน์ได้ง่ายมาก

อ่านไม่วิเคราะห์ + Preconceived idea คือสูตรทำลายสมองที่แท้จริง

ยิ่งหาก Preconceived idea นั้นมาจากความเชื่อที่แชร์และหรือล้างสมองต่อกันมาโดยไม่ตรวจสอบ ก็ยิ่งอันตราย

เรื่องการตัดสินนักเขียน นักร้อง ศิลปิน จากผลงานของพวกเขาเป็นปัญหาของคนทั้งโลก เป็นกันเยอะมาก และในยุคที่นิยมอ่านสั้นอ่านเร็ว ยิ่งเป็นกันมาก

แต่เรื่องนี้แก้ไขปรับปรุงได้

อย่างไร?

ก็โดยการตั้งคำถามทุกครั้งที่อ่านว่า “จริงหรือ ?” แล้วตรวจสอบ ทำให้เป็นนิสัย

การอ่านเป็นใบเบิกทางชีวิตอย่างหนึ่ง อ่านเป็น ก็เพิ่มทางเลือกความคิดมากขึ้น อ่านแค่ผิวเผิน (Face value) ก็อาจทำให้คับแคบกว่าเดิมได้

โชคดีที่เราสามารถฝึกนิสัยอ่านระหว่างบรรทัดได้

เพราะเมื่อรู้จักวิเคราะห์ทุกสิ่งรอบตัวบ่อย ๆ สมองก็จะถูกลับคมขึ้นเอง

---------------------------------------------------

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0