โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อุตสาหกรรมไทย 1 ทศวรรษ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ธ.ค. 2562 เวลา 10.05 น. • เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2562 เวลา 10.05 น.
edi04051262p1

คอลัมน์ ร่วมด้วยช่วยกัน

โดย ดร.จิตเกษม พรประพันธ์, ชุติกา เกียรติเรืองไกร วัชรินทร์ ชินวรวัฒนา, พรชนก เทพขาม ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.

 

ช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวเรื่องการปิดโรงงานในภาคอุตสาหกรรม หรือหลายโรงงานหยุดการผลิตชั่วคราว จากเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับปัจจัยพิเศษ อาทิ สงครามการค้า ทำให้ภาคส่งออกไทยหดตัวลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อาทิ ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล กระบวนการผลิตสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงกับภาคบริการมากขึ้น หรือ product as a service ทำให้หลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าภาคอุตสาหกรรมไทยควรเดินหน้าไปทิศทางใดในอนาคต ผ่านข้อมูลแบบสำรวจสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้รวบรวมข้อมูลด้านการผลิต ผลประกอบการ การจ้างงานแต่ละบริษัทในภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2549, 2554 และ 2559 รวม 10 ปี ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยได้ 5 ประการ ดังนี้

(1) ภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมกลุ่มเดิม ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และยางและพลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มสูงสุด 4 อันดับ บางอุตสาหกรรมได้เติบโตและสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 5 แทนที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ที่เคยมีบทบาทสำคัญมากเมื่อทศวรรษก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มมากถึงครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมไทยทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของ GDP และมีการจ้างงานร้อยละ 43 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดอีกด้วย

การกระจุกตัวของอุตสาหกรรมไม่กี่กลุ่มนี้ มองมุมหนึ่งเป็นข้อดีต่อประเทศ เนื่องจากหากอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวมีศักยภาพในการเติบโตจะทำให้ง่ายต่อการสนับสนุนให้เป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคต แต่ในทางกลับกัน หากอุตสาหกรรมนั้นเสี่ยงจะถูกเทคโนโลยีใหม่ disrupt และผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีก็มีโอกาสเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมได้ในที่สุด

(2) การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดิม แม้ช่วงที่ผ่านมา เริ่มเห็นการกระจายการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมออกไปมากขึ้น เช่น ออกไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดลำพูน นครราชสีมา เป็นต้น แต่มองในภาพรวมแล้วโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวและเติบโตอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก ตามพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ Eastern Seaboard เป็นหลัก

ในแง่หนึ่งอาจสะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่ได้พัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ของผู้ผลิตและห่วงโซ่การผลิตครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เห็นได้ชัดในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นฐานผลิตรถยนต์สำคัญของอาเซียน แต่การกระจุกตัวในบางพื้นที่มากเกินไปโดยขาดการจัดการที่ดีของภาครัฐ อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ระหว่างแรงงานในพื้นที่เหล่านี้กับนอกพื้นที่ รวมถึงความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการขยายตัวของโรงงาน และอาจส่งผลต่อปัญหาเชิงสังคมด้านอื่น ๆ

(3) บริษัทไทยเติบโตสูงกว่าบรรษัทข้ามชาติ (MNC) ที่เข้ามาดำเนินกิจการในไทย ซึ่งเห็นได้จากมูลค่าเพิ่มของบริษัทไทยที่การขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี ขณะที่บรรษัทข้ามชาติแทบไม่เติบโตตลอดช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสำคัญของบริษัทไทยในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยยังมีผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าบรรษัทต่างชาติอยู่มาก เพราะเมื่อวิเคราะห์ลักษณะการลงทุนของบริษัทไทยพบว่าที่ผ่านมาเน้นลงทุนเฉพาะแค่เครื่องจักร ซื้อเทคโนโลยี หรือ know-how จากต่างประเทศเข้ามาใช้ แต่ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) น้อยกว่าบรรษัทข้ามชาติที่ลงทุน R&D สม่ำเสมอ จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่าในระยะยาว

(4) แม้บริษัทไทยจะเติบโตดีช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นการเติบโตเฉพาะกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ โดยมูลค่าเพิ่มกิจการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5 ขณะที่มูลค่าเพิ่มของกลุ่มกิจการขนาดเล็กแทบไม่ขยายตัว หรืออาจหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อน สอดคล้องกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการระบุในแบบสอบถาม ซึ่งพบว่ากิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าจากขนาดตลาดที่เล็กกว่า อีกทั้งได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมากกว่ากิจการขนาดใหญ่เนื่องจากกระบวนการผลิตอาจไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) และไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้จัดหาวัตถุดิบ ปัญหาเหล่านี้ยังสะท้อนไปสู่กิจการขนาดเล็กที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนการลงทุนมากกว่ากิจการขนาดใหญ่ รวมทั้งภาครัฐอาจสนับสนุนโดยสร้างระบบนิเวศปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้กิจการขนาดเล็กเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย

(5) อุตสาหกรรมไทยปรับมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในการผลิต (automation) อย่างมากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อการใช้แรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปรับตัวไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้เครื่องจักรเสียหายจำนวนมาก จึงถือโอกาสปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ที่ใช้แรงงานลดลง และช่วงเวลาเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555 กดดันให้ผู้ประกอบการหาวิธีลดต้นทุนแรงงานในการผลิต

แม้การใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตส่งผลดีของผู้ประกอบการทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการควบคุมคุณภาพสินค้า แต่ก็เป็นความเสี่ยงต่อการจ้างงานจำนวนมากที่แรงงานอาจถูกเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัว ทั้งพัฒนาทักษะเดิม (upskill) และเสริมทักษะใหม่ (reskill) ปัจจุบันมีบางอุตสาหกรรมที่ยังใช้สัดส่วนแรงงานเข้มข้นในการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารมีการจ้างงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้นในอนาคต

การวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนการใช้กระจกสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตในรูปแบบเดิม ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ การใช้ automation ที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกที่กดดัน อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษต่อจากนี้อุตสาหกรรมไทยจะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ จากกระแสโลกที่เข้ามารวดเร็ว อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัลที่นำไปสู่ platform และ sharing economy การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเปลี่ยนแปลงไป เช่น green product หรือ universal design product เป็นต้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเร่ง disrupt ตัวเอง ให้ทันกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก่อนที่จะถูก disrupt

นอกจากผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือแล้ว แรงงานไทยก็ต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปในอนาคตอีกด้วย ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ภาครัฐต้องปรับบทบาทไปขับเน้นในฐานะผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เพื่อปรับกฎเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและแรงงานไทยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้

หมายเหตุ – บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0