โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมจังหวัด ดัน SMEs เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 12.02 น.
phu02210561p1

ภาคอุตสาหกรรมนับเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค OPOAI 4.0 เพื่อยกระดับให้อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้น้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 มาปรับใช้พร้อมกับนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่เยี่ยมสถานประกอบการ ในภาคเหนือ 2 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ไลโคปีน จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร เป็นประเภทอุตสาหกรรมอาหาร สกัดน้ำมันจากถั่วดาวอินคา จำหน่ายผลิตภัณฑ์เองร้อยละ 90 และรับจ้างผลิต ร้อยละ 10 มียอดขาย 10 ล้านบาทต่อปี (เมื่อปี 2560) โดยมีตลาดในประเทศ 97% ต่างประเทศ 3% โดยใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ในจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการโอปอยในปี 2560 จำนวน 2 แผนงาน คือ แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแผนงานที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด (best practice)

2.บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จังหวัดตาก ประเภทอุตสาหกรรมอาหาร ต้มหน่อไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บรรจุปี๊บ กระป๋อง และถุงพลาสติก โรงงานตั้งอยู่ศูนย์กลางของพื้นที่เพาะปลูกที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบผักและผลไม้ต่าง ๆ ทางบริษัทเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเอง และทำสัญญาเพาะปลูกกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ได้วัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานอย่างสม่ำเสมอ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ได้รับมาตรฐาน BRC เกรดเอ GMP และ HACCP และเป็นผู้ผลิตผักผลไม้กระป๋องมานานกว่า 20 ปี ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าร่วมโครงการใน 2 แผนงาน ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (best practice) และแผนงานที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“พรเทพ การศัพท์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า โครงการโอปอย ได้จัดทีมที่ปรึกษาเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงาน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.แผนงานการบริหารจัดการโลจิสติกส์

2.แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.แผนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4.แผนการลดต้นทุนพลังงาน 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล 6.แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด และ 7.แผนการบริหารจัดการด้านการเงิน โดยทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ วางแผนการดำเนินงาน และติดตามผลพร้อมทั้งให้คำปรึกษาเป็นระยะ รวมเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณ 4-6 เดือน จึงจะเสร็จสิ้นโครงการในปี 2560 ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการในระยะเวลา 1 ปี สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สถานประกอบการได้ โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 459 ล้านบาท เปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณในการพัฒนา 40 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 11.48 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 171 ราย เฉลี่ยแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้รายละ 2.45 ล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาททั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้คำปรึกษากับสถานประกอบการ โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 และมีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practice) ทั้ง 2 โรงงาน เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม “ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์” ประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก บอกว่า โครงการโอปอยเป็นโครงการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนแต่งบประมาณในการขับเคลื่อนมีน้อย ฉะนั้นหากผู้ประกอบการจะเข้าร่วมโครงการทางอุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องคัดเลือก และผู้ประกอบการเองต้องให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะหากประสบผลสำเร็จจะเกิดผลดีต่อผู้ประกอบการเอง หากจะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จทั่วประเทศภาครัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการดำเนินการ

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก จะทำให้อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีเข้มแข็ง อุตสาหกรรมจังหวัดจะพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในโครงการนี้ทุกปี โดยปกติทำได้เพียง 1-2 แห่ง เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีกว่า 80% คือฐานรากของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการขึ้นค่าแรง แต่หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0