โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"อุตตม"แจงงบฯปี 63 ทำตามกฎหมาย ตั้งเป้าสมดุลปี73

เดลินิวส์

อัพเดต 17 ต.ค. 2562 เวลา 14.27 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 13.56 น. • Dailynews
รมว.คลัง ยันทำร่างพ.ร.บ.งบฯปี 63 มีวินัยการเงินการคลัง ปัดแจกเงินอย่างไร้เป้าหมาย โว"ชิม ช้อป ใช้“กระตุ้นเศรษฐกิจจริง ตั้งเป้าหมายปี 73 จัดทำงบประมาณแบบสมดุล

เมื่อเวลา 18.40 น.วันที่ 17 ต.ค.ที่รัฐสภา  นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563  ว่า  การจัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกมิติ ทั้งในเรื่องการสร้างประโยชน์กับประชาชน เรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย  มีหน่วยงานพิจารณาแต่ละขั้นตอนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ   การทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณนี้รัฐบาลได้ทำรายละเอียดที่มาและแหล่งรายได้ ซึ่งมีทั้งส่วนที่มาจากภาษี

ส่วนที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งจัดเก็บโดยหน่วยงานอื่นๆ การส่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ  ขณะที่การประมาณการรายได้ที่รัฐบาลคาดว่าจะจัดเก็บได้นั้น เราได้ทำอย่างรอบคอบผ่านกลไกที่มีคณะทำงานด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง อาทิ สำนักงบประมาณ  กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  อีกทั้งการจัดทำงบประมาณฯ มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของประเทศ และแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกถดถอยอีก และสงครามการค้าโลกส่งผลกระทบกับประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออก  รัฐบาลนี้ทำงานได้ 3 เดือนเศษ แต่ต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้จะต้องเร่งใช้จ่ายงบประมาณ ความท้าทายครั้งนี้ เราจะก้าวพลาดไม่ได้  

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า  การเร่งการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น  รัฐบาลมีการหารือในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ใช่การแจกเงินอย่างไร้เป้าหมาย โดยรัฐบาลมีหลัก 4 ข้อในการออกแบบมาตรการชุดเศรษฐกิจ คือ 1.ต้องแก้ตรงจุด  2.มีความรวดเร็วทันการณ์ 3.เป็นมาตรการชั่วคราว  4.ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ   ส่วนกลุ่มเป้าหมายของเรา คือผู้มีรายได้น้อย  เกษตรกร โดยมาตรการ "ชิม ช้อป ใช้" เป็นมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป และเป็นหนึ่งในชุดมาตรการที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีเงินจับจ่าย ขณะที่ธุรกิจก็ได้ลูกค้า และที่สำคัญยังส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ  และมาตรการ"ชิม ช้อป ใช้"ไม่ใช่การหว่านเงิน และร้านค้าที่ร่วมโครงการนี้ ร้อยละ 80 เป็นร้านค้ารายย่อย ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ใช่ห้างใหญ่ และคาดว่าจะมีจำนวนห้างใหญ่มาร่วมโครงการนี้ลดลง  

สำหรับที่มีการดำเนินการผิดหลักเกณฑ์ ยอมรับว่ามีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เมื่อเราพบก็ได้ตักเตือน แต่ถ้าเกินขอบเขต เรามีมาตรการจัดการ ทั้งการระงับสิทธิ์ เพิกถอนสิทธิ์ และดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ เราใช้ระบบอี-เพย์เมนท์ ตอนนี้เรากำลังต่อยอด ขยายผลอย่างกว้างขวาง ใช้เทคโนโลยีมาทำให้มาตรการนี้ไปสู่ประชาชน และจากนี้ไปสิ่งดีๆจะเข้าหาประชาชนตามมาแน่นอน  สำหรับข้อมูลการจับจ่ายของประชาชนผ่านมาตรการระบบของรัฐ  เรารวบรวมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารประเทศ บริหารโครงการ ไม่ได้เอาไปทำอื่นใด  ทั้งนี้การดูแลเศรษฐกิจไทย ต้องอาศัยทุกภาคส่วนมาช่วยกัน เพื่อทำให้คนในและคนข้างนอกมองเข้ามาด้วยความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยเฉพาะสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่มองว่าไทยมียุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน และแข็งแกร่งเพียงพอทางการเงินการคลัง

นายอุตตม กล่าวว่า  ส่วนการจัดทำงบประมาณ เรื่องงบขาดดุล เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ เร่งการลงทุน ปรับเปลี่ยนประเทศ บางอย่างต้องเริ่มวันนี้ เราต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เหมือนกับหลายประเทศ เพื่อให้การพัฒนาสอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ขอยืนยันว่าเรามีวินัยการเงินการคลัง ทุกโครงการต้องสอดคล้องกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง  ขาดดุลได้เฉพาะการทำเพื่อสนับสนุนการลงทุน  แต่รัฐบาลมีแนวทางชัดเจนว่าในการจัดทำประมาณในอนาคต ต้องเป็นงบประมาณสมดุล โดยเราจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีเป้าหมายการทำงบประมาณสมดุล ในปี 2573 สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยจากนี้ไปมุ่งลดการขาดดุลขอภาครัฐ ส่วนการจัดเก็บรายได้ ซึ่งมีส.ส.บางคนบอกว่าประมาณการไว้มากเกินไปหรือไม่ และรัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า นั่นเป็นข่าวคลาดเคลื่อน ตนยืนยันว่างบประมาณปี 2562 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้า 13,000 ล้านบาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0