โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อุตตม แจงกู้เงิน 1 ล้านล้าน ขยายเยียวยาเกษตรกร เผยนายกฯ สั่งดูแลกลุ่มลูกจ้างธุรกิจที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ต้องปิดตัวเอง

THE STANDARD

อัพเดต 08 เม.ย. 2563 เวลา 14.09 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 14.09 น. • thestandard.co
อุตตม แจงกู้เงิน 1 ล้านล้าน ขยายเยียวยาเกษตรกร เผยนายกฯ สั่งดูแลกลุ่มลูกจ้างธุรกิจที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ต้องปิดตัวเอง
อุตตม แจงกู้เงิน 1 ล้านล้าน ขยายเยียวยาเกษตรกร เผยนายกฯ สั่งดูแลกลุ่มลูกจ้างธุรกิจที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ต้องปิดตัวเอง

วันนี้ (8 เมษายน) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการ NEWSROOM ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางเนชั่นทีวี ถึงมาตรการการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระยะ 3 ซึ่งใช้วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท และกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท 

 

วิกฤติโควิด-19 แรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

 

อุตตม กล่าวว่า “วิกฤตครั้งนี้ใหญ่แบบเราไม่เคยเห็นมาก่อน ถ้าเทียบกับวิกฤตปี 2540 ครั้งนี้ในความเห็นผมเห็นว่าแรงกว่ามาก ครั้งนั้นเมื่อปี 2540 ปัญหาเกิดจากภาคธุรกิจ สถาบันการเงินอาจปล่อยกู้เยอะ เกิดปัญหามาถึงภาคธุรกิจ ภาคเอกชนได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง คนที่ตกงานเพราะภาคธุรกิจถูกกระทบยังสามารถกลับไปบ้านได้

 

“แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่ โควิด-19 กระทบทั่วโลก ประเทศไทยส่งออกร้อยละ70 ของจีดีพี โดนกระทบแน่นอน 

 

“เศรษฐกิจตอนนี้กระทบตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาข้างบน ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงพนักงานออฟฟิศ กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมันหายไปโดยฉับพลัน แรงซื้อน้อย ขายของได้น้อย ก็กระทบลูกจ้างพนักงาน กำลังซื้อก็หดเข้าไปอีก และยิ่งรัดตัวไปเรื่อยๆ 

 

อุตตม ย้ำว่า ในวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เป็นการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่อีก 9 แสนล้าน ใช้ พ.ร.ก. เพื่อปลดล็อกให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเงินจำนวนนี้ออกมากอบกู้เศรษฐกิจได้

 

พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน จะเอาไปทำอะไร

 

อุตตม กล่าวว่า “เราจะดูแลประชาชนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ส่วนด้านสาธารณสุขก็เอาไปสนับสนุนการต่อสู้โควิด-19

 

“รัฐบาลใช้งบในการต่อสู้กับโควิด-19 ไปเยอะ โดยเฉพาะงบกลาง แต่ชัดเจนว่ายังไงก็ไม่พอ ในภาพรวมก็ไม่พอ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องกู้เงิน”

 

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะมีการดูแลตามกฎกติกา

 

ส่วนอาชีพอิสระ เราก็ดูแลด้วยงบประมาณในส่วนนี้ อีกส่วนก็จะไปดูแลเกษตรกร โดยหลักใหญ่จะดูแลเป็นรายครัวเรือน ซึ่งมีข้อมูลอยู่พอสมควร แต่นาทีนี้จะให้เป็นตัวเงิน ต้องนำเงินใส่มือในนาทีนี้ เพียงแต่รูปแบบจะทำให้เหมาะสมว่าจะให้เท่าไร จะพิจารณาผ่าน ครม.

 

นายกฯ สั่งการดูแลกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดตัวเองเพราะผลจากโควิด-19

 

ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจที่ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิด แต่ต้องปิดกิจการตัวเองเพราะนักท่องเที่ยวไม่มี แต่พอปิดตัวเอง ไม่เข้าข่ายการเยียวยาตามมาตรการของประกันสังคม จะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไรนั้น

 

อุตตม กล่าวว่า อันนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นลูกจ้าง พนักงานที่ธุรกิจถูกกระทบ รัฐบาลมีการหารือเรื่องนี้ใน ครม. ซึ่งกระทรวงแรงงานจะไปดูว่าทำอย่างไรให้ดูแลได้ ซึ่งอาจมีการปรับกฎกระทรวง ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

 

ส่วนกลุ่มที่ไม่ถูกออกจากงาน แต่ถูกลดรายได้ เพราะผลจากเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่ม 14 ล้านคนที่ได้เงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้อะไรจากมาตรการชุดใหม่จาก พ.ร.ก. เงินกู้นี้นั้น

 

อุตตม กล่าวว่า “รัฐบาลดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ถ้าท่านอยู่ในระบบประกันสังคม ก็ไปดูแลในทางนั้น จะถูกปิดหรือไม่ก็ตามก็ดูตามเกณฑ์ ส่วนอาชีพอิสระก็ดูแลโดยกระทรวงการคลัง ส่วนกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ก็มารับสิทธิ์ 5,000 บาท โดยเราจะพยายามดูแลให้ครบ”

 

ส่วนกลุ่มบัตรสวัสดิการ ก็ได้รับต่อไปไม่มีการลดเงินลง แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ ถ้าท่านอยู่ในระบบประกันสังคม หรือเป็นอาชีพอิสระก็ยังได้สิทธิ์ตามที่กล่าวข้างต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0