โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อึ้ง'อคส.'หมกเม็ดคดีแทรกแซงสินค้าเกษตร ทำรัฐเสียหายหมื่นล้าน

ไทยโพสต์

อัพเดต 17 ก.ค. 2561 เวลา 02.44 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2561 เวลา 01.51 น. • ไทยโพสต์

                            อึ้ง'อคส.'หมกเม็ดคดีแทรกแซงสินค้าเกษตร ทำรัฐเสียหายหมื่นล้าน

อคส.หมกเม็ดคดีแทรกแซงสินค้าเกษตรตั้งแต่ปี 2542/43 มากกว่า 1,000 คดี มูลค่าเสียหายหมื่นล้านบาท ชี้ส่วนใหญ่ส่งฟ้องไม่ทัน จี้ตั้งสอบตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง หอมแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2542/43 ที่นอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี 2554/55 ปี 2555/56 และปี 2556/57  มากกว่า 1,000 คดี มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยบางส่วนได้หมดอายุความฟ้องร้องทางแพ่งแล้ว เนื่องจากอคส.ไม่ได้ดำเนินการสั่งฟ้องกับคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของโกดังกลาง ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) และโรงสีที่เกี่ยวข้อง    

ทั้งนี้ สาเหตุที่อคส.ส่งฟ้องทางแพ่งไม่ทันกับระยะเวลาที่กำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นการแทรกแซงราคาข้าวเปลือก เนื่องจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบบางรายไม่ได้เข้มงวดดำเนินการหรือปล่อยละเลยการปฎิบัติหน้าที่ และบางรายอาจได้รับผลประโยชน์หรือเรียกว่าเงินทอนข้าวเปลือก จนส่งผลให้ภาครัฐได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังนั้นต้องการให้นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหมือนกับการตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัดและทุจริตเงินทอนคนจน

“คดีความที่ทยอยหมดอายุความทางแพ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแทรงกแซงสินค้าเกษตรตั้งแต่ปี 2542/43  - ปี 2548/49  จนภาครัฐได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เบื้องต้นพบว่าหลายๆคดีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานแก่ผู้ใหญ่ได้รับทราบ  ขณะที่บางคดีอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้อง แต่เจ้าหน้าที่อคส.บางคนไม่ดำเนินฟ้องดำเนินคดี เพราะตามกฎหมายผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งหมายถึงอคส.สามารถฟ้องร้องเองได้ด้วย  ดังนั้นต้องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่. พ.ศ. 2539” แหล่งข่าวกล่าว   

อย่างไรก็ตาม จากการที่คดีหมดอายุความไปจำนวนมาก ทำให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการและมีปัญหาการส่งข้าวไม่ครบตามสัญญา, ข้าวได้รับความเสียหาย รวมถึงกลุ่มบริษัทเซเวอร์เยอร์ที่เกี่ยวข้องได้ส่งหนังสือมายัง อคส. เพื่อยื่นยันว่าจะไม่ชดเชยความเสียหายตามสัญญา โดยหนึ่งเหตุผลที่บริษัทและโรงสีอ้าง คือ เกิน 10 ปีหรือหมดอายุความทางเพ่ง  เช่น ที่จังหวัดพิจิตร, ชัยนาท,  กำแพงเพชร, นครสวรรค์ และจังหวัดอื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการทำหนังสือมาในช่วงต้นปี 2561

นอกจากนี้ บางกรณีที่อคส.ได้ดำเนินคดีไป แต่พบว่าบางบริษัทยอมเข้ามาทำสัญญาเพื่อชดเชยความเสียหายตามที่ภาครัฐเรียกร้อง เช่น มูลค่าความเสียหาย 15 ล้านบาท แต่บริษัทเข้ามาจ่ายเพียงแค่ 4-5 ล้านบาท จากนั้นก็ได้มีการถอนแจ้งความดำเนินคดี เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์  กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มี 30 คดีที่อัยการไม่ส่งฟ้องดำเนินคดี ซึ่งได้มอบหมายให้ อคส.ทำสำนวนใหม่เพื่อดำเนินการส่งฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายใหม่ด้วย ส่วนโครงการก่อนปี 2554 นั้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีการละเลยปฎิบัติหน้าที่ก็จะดำเนินตรวจสอบการกระทำความผิดต่อไป

“กระทรวงพาณิชย์จะทำเรื่องนี้ให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด และทุกคดีที่มองว่าไม่โปร่งใสก็จะเร่งรัดส่งดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องทางเสียหายทางแพ่งและอาญาทุกคดี  ซึ่งได้ให้ผู้อำนวยการ อคส.รายงานความคืบหน้าการดำเนินการทุกๆ 15 วันด้วย” นายสนธิรัตน์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0