โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อีอีซี บูมธุรกิจขนส่ง ตั้งบริษัทใหม่โต5%

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 08.00 น.

บริษัทตั้งใหม่ม.ค.เพิ่ม5%

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนม.ค.2562 มีจำนวน 7,311 ราย เพิ่มขึ้น 78%เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 5%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ประเภทธุรกิจที่ตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปยังคงเป็นอันดับ 1 มีจำนวน 620 ราย ตามด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 386 รายซึ่งยังคงขยายตัวตามการลงทุนและการเติบโตของเมือง และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 184 ราย ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่ขยับขึ้นมาติดอันดับ 3 เป็นครั้งแรก แซงธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าออนไลน์

ธุรกิจขนส่งในอีอีซีโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จำนวนบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ 7,311 ราย นี้ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดลำดับที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของโครงการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจเพิ่มขึ้น

"พบว่าการจัดตั้งบริษัทในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ในจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีมากขึ้นถึง 5%เพื่อรองรับกับการเติบโตของอีอีซีโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจขนถ่ายสินค้า ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะจ.ฉะเชิงเทราสูงถึง 51%"

สอดคล้องกับ การแบ่งขนาดธุรกิจในอีอีซีพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ สัดส่วนถึง 61.15% รองลงมา ขายส่ง/ปลีก 23.64% และการผลิต 15.21% โดยพื้นที่อีอีซีมีนิติบุคคลคงอยู่จำนวน 67,446 ราย แบ่งเป็นพื้นที่จำนวนธุรกิจมากที่สุดคือชลบุรี จำนวน 49,427 ราย ระยอง 12,758 ราย และ ฉะเชิงเทรา 5,261 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 1.85 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ สัดส่วน38.09% มูลค่า 7.04 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จากญี่ปุ่น 51.10% มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท รองลงมา สิงคโปร์ 8.81% มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท จีน สัดส่วน 7.45% มูลค่า 5.2 หมื่นล้านบาท และประเทศอื่นๆ สัดส่วน 25.66% มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท

มูลค่าธุรกิจในอีอีซีเพิ่มเท่าตัว

โดยอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ของม.ค.2562 จำนวน 689ราย เพิ่มขึ้น 30 ราย หรือ 4.55% อย่างไรก็ตาม พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนในพื่้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดย ม.ค. 2562 มีมูลค่า 2,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122% จากม.ค. 2561 ซึ่งมีมูลค่า1,201ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง1,468ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ภาพรวมทั่วประเทศพบว่ามีอัตราขยายตัวลดลงสวนทางกับในพื้นที่อีอีซีโดยในเดือนม.ค.2562 มูลค่ารวม17,693 ล้านบาท ลดลง 54% เทียบกับเดือนธ.ค.2561 และ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

นายวุฒิไกร กล่าวว่า สำหรับบริษัทเลิกกิจการในเดือนม.ค.2562 มีจำนวน 1,401 ราย ลดลง 75%เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 แต่เพิ่มขึ้น 4%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 150 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 75 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 44 ราย

จับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกผันผวน

ส่วนแนวโน้มการจดตั้งบริษัทใหม่ในปี2562กรมฯ คาดการณ์ยอดการจดทะเบียนใกล้เคียงกับปี2561ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ70,000ราย จากปัจจัยสนับสนุน คือ เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โครงการลงทุนภาครัฐขยายตัว การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ความชัดเจนทางการเมือง ที่มีผลต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ด้วย

เอกชนชี้อีอีซีหนุนโลจิสติกส์โต

นายธนิตโสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย และประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ กรุ๊ปกล่าวว่า การที่ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจขนถ่ายสินค้า มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น ก็เป็นตามการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งปัจจุบันการขนส่งผ่านตู้คอนเทรนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพมีจำนวนมากอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ธุรกิจประเภทนี้จะมีการเติบโตตาม ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตในเขตพื้นที่อีอีซี

ส่วนการเติบโตด้านการขนส่ง โลจิสติกส์มาก ในภาพรวมเป็นผลจากธุรกิจด้านออนไลน์ที่กำลังเป็นเทรนด์ด้านการค้าก็ต้องอาศัยธุรกิจขนส่งขนถ่ายสินค้า ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้รถคอนเทรนเนอร์ขนาดใหญ่ เพราะเราจะเห็นว่ามีการใช้รถตู้ขนาดเล็กในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ทั้งส่งให้ผู้บริโภคหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

"ธุรกิจประเภทนี้แม้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การแข่งขันก็สูงและมีความรุนแรง มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจประเภทนี้ บางบริษัทก็มีต้นทุนสูงมาก สายป่านยาว ทำให้ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง"

คาดว่าธุรกิจประเภทนี้ก็ยังมีการเติบโตอยู่ ประมาณ 10%ในแต่ละปี ซึ่งเป็นตามแนวโน้มของเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาดูแลผู้ประกอบการคนไทยให้สามารถที่จะยืนอยู่ได้ เนื่องจากธุรกิจนี้จะเป็นจำพวกทำแล้วเหนื่อยมากแต่กำไรน้อย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0