โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

อีก 5 ปี คนซัวเถา จะรวยกว่า คนไทย

ลงทุนแมน

อัพเดต 22 ต.ค. 2562 เวลา 10.42 น. • เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

อีก 5 ปี คนซัวเถา จะรวยกว่า คนไทย / โดย ลงทุนแมน

รู้หรือไม่ คนรวยสุดในประเทศจีนและไทยในปัจจุบัน มีบ้านเกิดอยู่ที่เดียวกันคือ “ซัวเถา”

คนที่รวยสุดในจีนที่ผ่านมา จะสลับกันระหว่าง Ma Huateng กับ Jack Ma
คุณ Ma Huateng หรือ Pony Ma เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี Tencent และเกิดที่ซัวเถา

ส่วนคนรวยสุดในไทย คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีครอบครัวที่อพยพมาจากซัวเถา

และเราหากไปถามคนไทยเชื้อสายจีนหลายๆ คน จะพบว่าส่วนใหญ่บรรพบุรุษก็มาจากซัวเถาเช่นกัน

“ซัวเถา” ในวันนี้เป็นอย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ซัวเถา (ซ่านโถว) เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลจีนตะวันออก ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง
โดยถือเป็นหนึ่งในเขตอารยธรรมจีนที่เรียกว่า จีนแต้จิ๋ว หรือ แต้ซัว ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ แต้จิ๋ว ซัวเถา และ กิ๊กเอี๊ย

ซัวเถา มีพื้นที่ประมาณ 2,199 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยอยู่ 5.6 ล้านคน

จริงๆ แล้วชาวจีนจากซัวเถาเริ่มอพยพมายังประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
ส่วนหนึ่งเดินทางเพื่อติดต่อค้าขาย และอีกส่วนก็หนีความอดอยากและภัยพิบัติมา

ในสมัยกรุงธนบุรีของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งบรรพบุรุษของท่านก็มาจากซัวเถา ทำให้มีนโยบายสนับสนุนและชักชวนให้คนจีนเข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทยมากขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2403 ซัวเถามีการสร้างท่าเรือพาณิชย์และกลายเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของประเทศจีน

ตอนนั้นการเดินเรือมีการพัฒนาค่อนข้างมากแล้ว ประกอบกับเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก เพราะเป็นยุคของการค้าเสรีซึ่งเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง ในช่วงรัชกาลที่ 4

เรื่องนี้ส่งผลให้มีคนจีนเดินทางจากซัวเถามาเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

สัดส่วนผู้อพยพจากซัวเถาที่เดินทางมาประเทศไทยจากการเก็บข้อมูลบันทึกของศุลกากรจีน

พ.ศ. 2425-2435 คนที่อพยพออกจากซัวเถา มาประเทศไทย 20% ของทั้งหมด
พ.ศ. 2436-2448 คนที่อพยพออกจากซัวเถา มาประเทศไทย 33% ของทั้งหมด
พ.ศ. 2449-2460 คนที่อพยพออกจากซัวเถา มาประเทศไทย 50% ของทั้งหมด

ถ้าดูจากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศยอดฮิตของคนซัวเถาสมัยนั้นเลยทีเดียว

โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2488-2492 กวางตุ้งเกิดภัยแล้ง อดอยากต่อเนื่องทั่วทั้งมณฑล รวมทั้งเกิดสงครามในประเทศระหว่างจีนก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์

ทำให้ชาวแต้จิ๋ว (ซัวเถาและเมืองโดยรอบ) กว่า 2 ล้านคน อพยพมายังประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

จุดเด่นของชาวแต้จิ๋วที่อพยพมา ก็คือ ความสู้ชีวิตเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว

บางคนมาเพียงแค่เสื่อผืนหมอนใบ แต่ก็รับจ้างทำแทบทุกอย่าง
ซึ่งนอกจากความขยัน อดทนแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ทักษะการค้า

จะเห็นได้จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนก็มีเชื้อสายจีน
โดยเฉพาะจีนแต้จิ๋ว ซึ่งรัชกาลที่ 6 ยกให้เป็น “ยิวแห่งประเทศจีน” เพราะความเก่งในการทำธุรกิจและการค้า

ไม่เพียงเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่กระจายไปทั่วโลก อย่างในฮ่องกงที่มีสัดส่วนคนกวางตุ้งมากกว่า แต่คนรวยอันดับหนึ่งกลับเป็น คุณ Li Ka-shing ที่เป็นคนแต้จิ๋ว

แล้วซัวเถาในวันนี้เป็นอย่างไร?

ปัจจุบัน ซัวเถา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน
อุตสาหกรรมหลักที่น่าสนใจของเมืองซัวเถา คือ การผลิตของเล่น

โดยการผลิตของเล่นทั้งหมดในประเทศจีน มาจากกวางตุ้งเกือบ 80%
ซึ่งหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตก็อยู่ที่เมืองซัวเถา

ไม่เพียงใหญ่สุดในจีน แต่ยังถือเป็นแหล่งผลิตของเล่นที่ใหญ่สุดในโลก

ในปี 2560 กวางตุ้งมีมูลค่าส่งออกของเล่นมากถึง 6.9 แสนล้านบาท
โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป

ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนท้องถิ่น
ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

แล้วตอนนี้คนซัวเถา หรือ คนไทย รวยกว่ากัน?

ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนได้ยินคำถามนี้คงหัวเราะ แล้วตอบว่าคนไทยรวยกว่าแน่นอน
รู้หรือไม่ว่า คนสมัยก่อนมักจะใช้คำว่า “มาจากซัวเถา” เป็นคำเยาะเย้ย เหมือนบ้านนอกเข้ากรุง
แต่ตอนนี้เรื่องอาจเปลี่ยนไป เพราะคนซัวเถากำลังจะรวยกว่าคนไทย..

GDP ต่อหัวของซัวเถา
พ.ศ. 2551 อยู่ที่ 80,387 บาท
พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 192,138 บาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 9%

GDP ต่อหัวของไทย
พ.ศ. 2551 อยู่ที่ 141,424 บาท
พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 231,589 บาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 5%

จากตัวเลขนี้ถ้า GDP ต่อหัวของซัวเถาและไทย ยังโตในอัตราเดิมต่อไปเรื่อยๆ
อีกประมาณ 5 ปี GDP ต่อหัวของซัวเถา ก็จะสามารถแซงประเทศไทยได้..

ปิดท้ายด้วยเรื่องที่น่าสนใจ

คนซัวเถาที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้มาพร้อมกับวัฒนธรรมมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือภาษาแต้จิ๋ว

รู้หรือไม่ว่า คำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันจนคิดว่าเป็นภาษาไทย จริงๆ แล้วมาจากภาษาแต้จิ๋ว

เก้าอี้ มาจาก 高椅 (ออกเสียงว่า เกาอี่) แปลตรงตัวว่า ม้านั่งสูง
ยี่ห้อ มาจาก 字號 (ออกเสียงว่า หยี่ห่อ) แปลตรงตัวว่า ชื่อตราสินค้า
ตะหลิว มาจาก 鼎鑢 (ออกเสียงว่า เตี๋ยหลิว) แปลตรงตัวว่า กระทะ + ตะไบ

ที่น่าสนใจคือ แม้แต่คำว่า ไข่เจียว คำว่า เจียว ก็มาจากภาษาแต้จิ๋ว 焦 (ออกเสียงว่า เจียว) แปลว่า ไหม้, แห้ง, กรอบ ถ้าไม่เชื่อลองถามตัวเองดูสิว่าทำไมเราเรียกว่า กระเทียมเจียว ซึ่งก็แปลว่าการนำกระเทียมไปทอดนั่นเอง

และในปัจจุบัน วัฒนธรรมของทั้ง 2 ชาติได้หลอมรวมกัน จนเราแทบแยกไม่ออกแล้วว่าสิ่งไหนเป็นไทยแท้ สิ่งไหนเป็นไทย-ซัวเถา..
———————-
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
———————-

References
-https://www.silpa-mag.com/history/article_37903
-https://www.the101.world/shantou-predecessor-home/
-https://www.ceicdata.com/en/china/gross-domestic-product-per-capita-prefecture-level-city/cn-gdp-per-capita-guangdong-shantou
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/thailand/gdp-per-capita
-http://www.hktdc.com/web/featured_suppliers/guangdong/index.html
-https://english.shantou.gov.cn/english/population/list_tt.shtml
-https://en.wikipedia.org/wiki/Shantou

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0