โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

อีกทางเลือกหนึ่งกับการลงทุนในกองทุนรวม

SET ตลาดหลักทรัพย์ฯ

อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 07.02 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 07.02 น. • SET Education

ปัจจุบัน หากสนใจลงทุนในกองทุนรวม นอกจากจะลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยตรง หรือลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.)

 

บลน. คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายและให้คำแนะนำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมของบลจ. ต่างๆ

 

นั่นหมายความว่า ถ้าใช้บริการผ่าน บลน. จะสามารถซื้อขายกองทุนรวมได้หลากหลาย ทั้งในแง่ของจำนวนกองทุน และจำนวน บลจ. เช่น บลน. ABC เป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนจำนวน 100 กองทุน จาก 15 บลจ. เป็นต้น โดยปัจจุบันมี บลน. ที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถดำเนินงานได้จำนวน 10 บลน. ขณะที่มี 27 บลจ. ที่ได้รับใบอนุญาตให้สามารถจัดตั้งกองทุนรวมได้

 

ดังนั้น บลน. จะทำให้ผู้ลงทุนเข้าถึงการลงทุนในกองทุนรวมต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น และสะดวกรวดเร็ว เพียงเปิดบัญชีลงทุนครั้งเดียว ก็สามารถซื้อขายได้หลายกองทุนรวม และครอบคลุมในหลาย บลจ.

 

และถ้าเอ่ยถึงผู้ให้บริการซื้อขายกองทุนรวมในรูปแบบ บลน. ก็มีให้เลือกหลายแห่งด้วยกัน ดังนั้น ก่อนผู้ลงทุนจะตัดสินใจใช้บริการ ควรพิจารณาให้ละเอียดว่าแต่ละแห่ง มีสินค้าและบริการที่เหมาะกับตนเองมากน้อยเพียงใด

 

โดยข้อดีของการลงทุนผ่าน บลน. มีดังนี้

 

  • มีเงินน้อย ก็ลงทุนได้

การลงทุนผ่านการให้บริการในรูปแบบ บลน. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม เพราะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนไม่มาก เช่น 500 บาท ที่สำคัญสามารถลงทุนในลักษณะการจัดพอร์ตลงทุน หรือ Asset Allocation หรือลงทุนแบบสม่ำเสมอด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน (Dollar Cost Average : DCA) รวมถึงได้รับบริการคำปรึกษาและสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้อีกด้วย

 

  • มีเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก และวางแผนการลงทุน

โดยส่วนใหญ่แล้วการให้บริการของ บลน. จะให้บริการผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ดังนั้น การทำธุรกรรมตั้งแต่การเปิดบัญชีลงทุน การซื้อขายหน่วยลงทุน ตลอดจนการติดตามการลงทุนทุกอย่างสามารถทำผ่านแอปพลิเคชันได้ อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี Robo – Adviser เข้ามาช่วยวางแผนการลงทุน และแนะนำพอร์ตการลงทุนแบบส่วนตัว โดยการนำปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราผลตอบแทน ระยะเวลา ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง ทำให้แผนการลงทุนชัดเจนและเป็นไปได้ เพราะจะรู้จำนวนเงินที่ต้องลงทุนต่อเดือน รู้สัดส่วนการลงทุนในทางเลือกต่างๆ และรู้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ และเมื่อสถานการณ์ลงทุนเปลี่ยนไป Robo – Adviser จะช่วยติดตามและแนะนำแนวทางปรับสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารเงินลงทุนอัตโนมัติ เรียกว่า AI Portfolio Manager ซึ่งเป็นผู้ช่วยตัดสินใจด้านการลงทุน โดยใช้วิธีการคิด (Algorithm) ด้วยการเรียนรู้จากตัวอย่าง ข้อมูลสถานการณ์ลงทุนปัจจุบัน และข้อมูลผู้ลงทุนทั้งส่วนตัวและทางการเงินมาช่วยปรับพอร์ตลงทุนให้มีความเหมาะสมกับผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

 

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการ และวางแผนการลงทุน ทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องเสียเวลา ศึกษาข้อมูลที่ซับซ้อน และเกาะติดข่าวสารตลอดทั้งวัน เพราะเทคโนโลยีจะช่วยออกแบบพอร์ตการลงทุน พร้อมกระจายความเสี่ยง และปรับแผนให้เข้ากับสภาวะตลาดโดยอัตโนมัติ

 

  • มีทางเลือกให้จัดพอร์ตด้วยตัวเอง

ถึงแม้ว่า บลน. จะนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ เข้ามาช่วยบริหารเงินลงทุนอัตโนมัติ แต่หากผู้ลงทุนต้องการกำหนดเป้าหมายการลงทุนด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้ และเมื่อลงทุนแล้ว สามารถเข้าไปดูสรุปผลการลงทุนในแต่ละวัน แต่ละเดือนได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์ของ บลน.นั้นๆ

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ่านบทความอื่นๆ ต่อได้ที่ >> https://setga.page.link/ds4rghK8pyNH5ZUZ6

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0