โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อินเดีย-จีน ไม่ลงรอยกันจริงหรือ?

The101.world

เผยแพร่ 11 พ.ย. 2562 เวลา 18.06 น. • The 101 World
อินเดีย-จีน ไม่ลงรอยกันจริงหรือ?

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ข่าวร้อนประจำเดือนคงหนีไม่พ้นการประกาศขอเจรจาเพิ่มเติมต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของอินเดีย ซึ่งส่งผลให้อินเดียอาจเป็นประเทศเดียวที่ไม่สามารถลงนามในความตกลงดังกล่าวได้ภายในช่วงต้นปีหน้า หรืออินเดียอาจตัดสินใจถอนตัว

นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวของอินเดียเป็นผลมาจากความกลัวต่ออิทธิพลของจีนที่ขยายขอบเขตเพิ่มมากยิ่งขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงดังกล่าวอาจส่งผลให้การขยายอำนาจของจีนเข้ามาในภูมิภาคในเอเชียใต้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นอินเดียดูเหมือนจะเสียเปรียบในหลายด้าน ทั้งยังไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากความตกลงดังกล่าวด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้อินเดียยังคงวิตกกังวลอย่างมากต่อการเข้าเป็นภาคีสมาชิก

เรียกได้ว่าตอนนี้ อินเดียยังไม่ได้ถอนตัวออกจากกรอบความตกลงดังกล่าวอย่างเต็มตัว เพียงขอใช้เวลาเพิ่มเติมในการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามทางด้านเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น เพราะยังมีข้อกังวลในเรื่องสินค้าเกษตรหลายตัวที่อินเดียยังคงต้องการปกป้องเพราะถือเป็นสินค้าอ่อนไหวของประเทศ แน่นอนว่าข้อวิเคราะห์เรื่องนี้มีผู้เขียนมากมายแล้ว แต่ที่น่าสนใจคือนักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวโดยมุ่งไปที่จีนว่าเป็นตัวแปรสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้น ครั้งนี้จึงจะพาทุกท่านมาไขข้อสงสัยที่ว่า “อินเดีย-จีน ไม่ลงรอยกันจริงหรือ?” คำถามง่ายๆ แต่แสนจะซับซ้อน

 

จีนในภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจใหม่ของเอเชียใต้

 

ก่อนจะตอบคำถามหลัก การทำความเข้าใจสถานการณ์และที่มาที่ไปอันส่งผลให้ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนได้รับความสนใจอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะนำพาเราไปหาคำตอบหลักว่าสุดท้ายแล้วสองชาติที่ส่งอิทธิพลมากมายในภูมิภาคเอเชียนั้น แท้จริงแล้วไม่ลงรอยกันจริงหรือไม่ และถ้าจริง สองชาตินี้ไม่ลงรอยกันอย่างไร

การจะทำความเข้าใจสายสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการมองความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งอินเดียให้ความสำคัญอย่างมาก และมองว่านี่คือหลังบ้านสำคัญของตัวเอง แม้ว่าอินเดียจะไม่ลงรอยเท่าไหร่นักกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน แต่สายสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ถือว่าแนบแน่นอย่างมากตลอดช่วงสงครามเย็น เรียกได้ว่าอินเดียเป็นนักลงทุนรายสำคัญของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคแถบนี้

สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียใต้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 21 เมื่อตัวแปรอย่างจีนขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจีนจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้มานานแล้ว แต่บทบาทของจีนไม่ได้โดดเด่นมากเท่าใดนักเมื่อเทียบกับอินเดีย เพราะในอดีตการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้จะมาในรูปของการขยายดินแดน และการส่งออกอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากประเทศในภูมิภาคเพราะนอกจากการขยายดินแดนของจีนจะสร้างความหวาดระแวงให้ประเทศในแทบเทือกเขาหิมาลัยอย่างเนปาลและภูฏานแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเหมายังสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองภายในของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ฝักใฝ่ความเป็นประชาธิปไตยอีกด้วย ทำให้ตัวแปรอย่างจีนไม่ได้มีความสำคัญเท่าใดนักในอดีต

แต่เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะจีนในวันนี้ไม่ได้เข้ามาในเอเชียใต้แบบเดิม แต่มาในรูปของนักลงทุนทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในช่วงที่หลายประเทศต้องการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียเท่านั้น แต่เม็ดเงินเหล่านี้ยังไหลเวียนไปลงทุนในประเทศอินเดียด้วย นั่นทำให้หลายประเทศในเอเชียใต้อ้าแขนรับจีนอย่างไม่ขัดเขินแต่อย่างใด เพราะสำหรับจีน ไม่ว่าการเมืองในประเทศจะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ตาม จีนก็พร้อมจะเข้าไปลงทุน ถ้าเล็งเห็นว่าผลประโยชน์ที่จีนจะได้รับนั้นคุ่มค่า

ด้วยเหตุนี้เองทำให้บทบาทและอิทธิพลของจีนขยายตัวมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้ จากการเข้ามาในฐานะนักลงทุนสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของบางประเทศในภูมิภาค และทำให้อินเดียเริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค ในวันที่อินเดียเริ่มมีความสำคัญลงทีละน้อย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อินเดียจะจับตาความเคลื่อนไหวของจีนในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคง เพราะส่งผลโดยตรงต่อผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดีย ทำให้ในหลายครั้งอินเดียมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีน จนทำให้หลายคนต่างคิดไปว่าสงสัยสองประเทศนี้จะไม่ลงรอยกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น

 

เพื่อนรัก เพื่อนร้ายที่ขาดกันไม่ได้

 

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นก็คงไม่แปลกอะไรที่ใครจะสรุปออกมาว่า อินเดีย-จีน ไม่ลงรอยกันเท่าไหร่นัก แต่นั่นเป็นเพียงความจริงบางส่วนเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด ในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า “อินเดีย-จีน เปรียบเหมือนเพื่อนรัก เพื่อนร้าย” ที่มีมุมที่ทั้งขัดแย้งกัน และร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างดี

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมความสัมพันธ์อินเดีย-จีนจึงออกมาในรูปนั้น หากย้อนเวลากลับไปในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจีนที่ได้รับการเสนอให้เป็นสมาชิกถาวรของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว อินเดียก็เป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับข้อเสนอดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่นายกรัฐมนตรีชวาหร์ลาล เนห์รูของอินเดียในเวลานั้น เลือกที่จะปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าวที่ทางการสหรัฐอเมริกาเสนอให้ โดยหนึ่งในเหตุผลสำคัญคือไม่ต้องการขัดแย้งกับจีน แต่สายใยที่ดีของอินเดียที่มีให้กับจีนไม่ช่วยอะไรอินเดียนักเมื่อจีนบุกยึดธิเบต รวมถึงผนวกรวมดินแดนบางส่วนของแคว้นลดาขของอินเดียไป นั่นทำให้อินเดียต้องปฏิรูปความสัมพันธ์กับจีนยกใหญ่จากมิตรประเทศ สู่ประเทศคู่ขัดแย้งทางด้านพรมแดน

ฉะนั้นเมื่อประเด็นเรื่องความมั่นคงและพรมแดนถูกหยิบขึ้นมาในเวทีทวิภาคี หรือพหุพาคี เห็นได้ชัดว่าท่าทีของทั้งสองประเทศจะขึงขังเข้าใส่กัน หรือมีความเห็นในทิศทางที่ไม่ตรงกัน เป็นความไม่ลงรอยกันอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาความขัดแย้งทางด้านพรมแดนถือเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนเสมอมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยุทธศาสตร์ BRI ของจีนจะถูกอินเดียต่อต้านอย่างหนัก กลายเป็นภาพความบาดหมางของทั้งสองประเทศ เพราะดันมีโครงการย่อยอย่างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China–Pakistan Economic Corridor: CPEC) ที่พาดผ่านพื้นที่ทับซ้อนซึ่งอินเดียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวอยู่ หรือในกรณีล่าสุดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการแบ่งรัฐจัมมูและแคชเมียร์

แต่สิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติของคนที่เป็นเพื่อนกันที่ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เพื่อนก็คือเพื่อน ถึงแม้ในประเด็นปัญหาความมั่นคงและพรมแดนจะทำให้สองประเทศนี้บาดหมางกัน แต่ใช่ว่าสองประเทศนี้จะไม่มีมุมที่รักกันเลย ในความเป็นจริงนั้นต่างออกไป เพราะถ้าไปมองเรื่องเศรษฐกิจทุกคนอาจจะงงกันได้ว่านี่คือสองประเทศที่ทะเลาะกันเรื่องพรมแดนจริงหรือ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการค้าระหว่างอินเดีย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้อินเดียเสียเปรียบดุลการค้าให้กับจีนเป็นจำนวนกว่า 8 เท่าตัว เรียกง่ายๆ ก็คือ เศรษฐกิจอินเดียส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาจีน จีนจึงเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของอินเดียไปด้วยในตัว ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือจีนถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในช่วงที่อินเดียเปิดประเทศรับการลงทุนจากภายนอก

ยิ่งไปกว่านั้นสายสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันกับนักลงทุนจีนกมีความใกล้ชิดอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงที่นายกรัฐมนตรีโมดีเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต นักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนในรัฐนี้จำนวนมหาศาล และทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีโมดีเยือนจีน มักจะหอบหิ้วมุขมนตรีรัฐต่างๆ ในอินเดียไปด้วยเพื่อพบปะกับนักลงทุนชาวจีน

ความแน่นแฟ้นทางด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือของอินเดีย-จีนยังสะท้อนผ่านการร่วมแรงร่วมใจกันในเวทีองค์การการค้าโลกด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการส่งเสริมการค้าเสรีให้เกิดขึ้นจริง อินเดียและจีนต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่อยากให้เกิดการค้าเสรีและลดการปิดกั้นทางการค้า และในเวทีองค์การการค้าโลกนี้เองที่อินเดียกับจีนร่วมมือกันคัดง้างกับสหรัฐอเมริกามาแล้ว

อีกเครื่องยืนยันความรักที่สองประเทศมีให้กันอาจสะท้อนผ่านการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการของสองผู้นำระหว่างนเรนทรา โมดีและสี จิ้นผิง ที่จัดไปเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ เมืองมหาบาลีปุรัม รัฐทมิฬนาดู อันถือเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การประชุมครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ ลักษณะการประชุมนี้เกิดขึ้นเพื่อสานความเข้าใจระหว่างกันของสองผู้นำหลังจากเกิดปัญหาเรื่องพรมแดนในปี 2017 โดยทั้งสองคนได้เน้นย้ำว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาการเมืองและความมั่นคงระหว่างกันอย่างสันติ และหันมามุ่งเน้นพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกันให้มากยิ่งขึ้น โดยจีนย้ำว่าจะพยายามแก้ไขข้อกังวลที่อินเดียมีต่อยุทธศาสตร์ BRI ในขณะที่อินเดียเองก็พร้อมจะทบทวนเรื่องดังกล่าวหากมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ดังนั้นใช่ว่าภาพที่เห็นกันว่าอินเดีย-จีนขึงขังระหว่างกันจะสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้ทั้งหมด เพราะทั้งสองประเทศมีกรอบความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ในขณะที่เศรษฐกิจอินเดียยังคงพึ่งพาจีนอยู่หลายภาคส่วน และอินเดียต้องการลดการขาดดุลทางการค้าดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่อินเดียจะไม่แยแสจีน และเช่นเดียวกันกับจีน ด้วยความผูกพันทางเศรษฐกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสองผู้นำที่ทวีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่ทั้งสองประเทศนี้จะเปิดฉากปะทะกัน

แต่แนวโน้มที่น่าจะเห็นมากที่สุดคงจะเป็นทั้งอินเดียและจีนจับมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเพื่อต่อต้านสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ก่อ เพราะผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่มีเพียงจีนเท่านั้นที่ต้องแบกรับมัน แต่รวมถึงอินเดียที่เป็นคู่ค้ารายต่อไปที่สหรัฐอเมริกาต้องการเล่นงานด้วย

โดยสรุปจึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์อินเดีย-จีน เปรียบเหมือนเพื่อนรัก เพื่อนร้าย ที่มีเรื่องให้ต้องทะเลาะกันบ้างโดยเฉพาะในเรื่องปัญหาพรมแดนและยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีหลายมุมที่มีความจริงใจและร่วมมือกันเพื่อสานต่อผลประโยชน์ชาติร่วมกันอย่างเรื่องเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างขาดกันไม่ได้ และนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา อินเดีย-จีนแทบไม่มีปัญหากระทบกระทั่งครั้งใหญ่กันอีกเลย มีเพียงการปะทะกันประปราย และทุกครั้งจะจบด้วยการเจรจาระหว่างกันอย่างสันติ ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้จึงมีทั้งความลึกซึ้ง และซับซ้อนในตัวเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0