โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง

Beartai.com

อัพเดต 07 ก.ค. 2563 เวลา 02.08 น. • เผยแพร่ 06 ก.ค. 2563 เวลา 12.46 น.
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง

เมื่อวานนี้ ( 5 กรกฎาคม) เพิ่งเป็นวัน ‘อำลา’ โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนสุดคลาสสิกที่อยู่คู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน ที่ได้ปิดตำนานลงอย่างงดงามพร้อมกับฉายภาพยนตร์รอบสุดท้ายคือ ‘Cinema Paradiso’ ภาพยนตร์อิตาลีที่ครองใจคนรักหนังทุกยุคทุกสมัย หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้คงรู้ดีว่ามันเหมาะสมที่สุดแล้วที่ใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้ในการปิดตำนานสกาลา  

มาในวันนี้ก็มีอีกการ ‘อำลา’ เกิดขึ้นนั่นคือการจากไปของตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์และท่านผู้นี้ก็ได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Cinema Paradiso’ เสียด้วย เขาคือ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ (Ennio Morricone) นักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี ผู้ฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้ในภาพยนตร์ร่วม 500 เรื่อง ที่ได้จากไปในวันนี้ (6 กรกฎาคม) ด้วยวัย 91 ปี หลังเขารับการรักษาตัวจากการหกล้มจนกระดูกหักเมื่อสัปดาห์ก่อน

Ennio Morricone, composer and conductor from Italy, poses during a photo call to promote his German 2014 concerts, in Berlin, Germany, Friday, Dec. 6, 2013. (AP Photo/Michael Sohn)
Ennio Morricone, composer and conductor from Italy, poses during a photo call to promote his German 2014 concerts, in Berlin, Germany, Friday, Dec. 6, 2013. (AP Photo/Michael Sohn)

เอนนิโอ มอร์ริโคเน คือนักประพันธ์เพลงชาวอิตาลีที่ฝากผลงานสร้างชื่อไว้ในภาพยนตร์สไตล์คาวบอยอิตาลีหรือที่เรียกว่า ‘Spaghetti Westerns’ และอีกภาพยนตร์อีกมากมายร่วม 500 กว่าเรื่อง เขาคือหนึ่งในนักประพันธ์เพลงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกภาพยนตร์สมัยใหม่ ได้สร้างสรรค์งานเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งความนุ่มนวล งดงาม และองอาจ ที่สอดผสานลงไปในเรื่องราวของภาพยนตร์จากผู้กำกับชื่อดังมากมายที่เขาเคยร่วมงานด้วยตลอดช่วงระยะเวลา 40 กว่าปีในวงการภาพยนตร์ อาทิ Bernardo Bertolucci , Pier Paolo Pasolini, Terrence Malick, Roland Joffé, Brian De Palma, Barry Levinson, Mike Nichols, John Carpenter, Quentin Tarantino  และอีกมากมาย รวมไปถึงบทเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cinema Paradiso” (1988)  ของ Giuseppe Tornatore ที่ฉายอำลาสกาล่าไปเมื่อวานนี้ด้วย

มอร์ริโคเนกับรางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิต
มอร์ริโคเนกับรางวัลออสการ์ตัวแรกในชีวิต

หลังจากเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงหลายต่อหลายครั้งในที่สุดเมื่อปี 2016 มอร์ริโคเนในวัย 87 ปี ก็ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งแรกในชีวิตจากภาพยนตร์เรื่อง “The Hateful Eight” ของเควนติน ทารันติโน ซึ่งนอกจากออสการ์แล้วก็ยังได้รับรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาเพลงประกอบด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านี้ในปี 2007 มอร์ริโคเน เคยได้รับรางวัล ‘Oscar for lifetime achievement’ และเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 ครั้ง ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ 2 ครั้ง รางวัลแกรมมี่ 4 ครั้งและรางวัลจากนานาชาติอีกมากมายหลายโหล

แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับมอร์ริโคเนจนเป็นที่รู้จักในหมู่คอหนังทั่วโลก นั่นคือผลงานการผสมผสานเสียงดนตรีประกอบเข้ากับซาวด์เอฟเฟกต์ในภาพยนตร์คาวบอยอิตาลีแห่งยุค 60 ของผู้กำกับSergio Leone ซึ่งมีผลงานสุดลือลั่นในชุด  “The Dollars Trilogy” อันประกอบไปด้วย “A Fistful of Dollars” (1964), “For a Few Dollars More” (1965) และ “The Good, the Bad and the Ugly” (1966) ซึ่งภาพยนตร์ทั้ง 3 แสดงนำโดย Clint Eastwood ใช้ทุนสร้างประมาณ 2 ล้านเหรียญแต่กวาดรายได้ทั่วโลกไปประมาณ $280 ล้าน !!

นอกจากนี้มอร์ริโคเนยังได้แต่งเพลงประกอบให้กับผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของ Leone อีกสองเรื่องคือ “Once Upon a Time in the West” (1968) และ “Once Upon a Time in America” (1984) ที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยม และคลาสสิกทั้งตัวหนังและงานเพลงประกอบไม่แพ้ “The Dollars Trilogy” เลย

“The Ecstasy of Gold” เพลงธีมจากภาพยนตร์เรื่อง “The Good, the Bad and the Ugly” คือหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมและชื่นชมที่สุดของมอร์ริโคเน บันทึกเสียงโดยยอดมือเชลโล ‘Yo-Yo Ma’ ซึ่งเพลงนี้ถูกใช้ในคอนเสิร์ตของ 2 วงร็อก คือ The Ramones ที่ใช้เป็นเพลงปิดคอนเสิร์ต และ Metallica ที่ใช้เป็นเสมือนบทเพลงโหมโรงในคอนเสิร์ตของพวกเขา

นอกจากผลงานภาพยนตร์แล้ว มอร์ริโคเนยังแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ทางโทรทัศน์และซีรีส์ด้วย อาทิเช่น ซีรีส์ “The Sopranos” ที่เขาได้ประพันธ์ดนตรีสุดอลังการที่ใช้เครื่องดนตรีร่วม 100 ชิ้น นอกจากนี้ยังเคยเรียบเรียงดนตรีออเคสตราในบทเพลงของนักร้องชื่อดัง อาทิ Joan Baez,  Paul Anka , Anna Maria Quaini, และนักร้องสาวชาวอิตาลี Mina

ตลอดช่วงชีวิต 91 ปี มอร์ริโคเนแทบจะไม่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเลย ไม่เคยแม้แต่จะออกจากโรมบ้านเกิดของเขาเพื่อไปทำงานที่อื่น และมักปฏิเสธที่จะบินไปที่นู่นที่นี่ แต่ก็มีบ้างที่เขาต้องรับงานควบคุมวงออเคสตรา การแสดงดนตรีประกอบที่เขาแต่งขึ้นมา และถึงแม้ว่าเขาจะแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวูดไว้หลายต่อหลายเรื่องแต่ก็ไม่เคยไปเยือนอเมริกาเลยสักครั้งจนกระทั่งปี 2007 ที่เขาได้รับรางวัล Oscar for lifetime achievement’

ห้องทำงานของมอร์ริโคเน
ห้องทำงานของมอร์ริโคเน

เอนนิโอ มอร์ริโคเน เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1928 เป็นหนึ่งในลูก 5 คนของ Libera Ridolfi และ Mario Morricone บิดาผู้เป็นนักเล่นทรัมเป็ตซึ่งเป็นคนสอนมอร์ริโคเนให้อ่านโน้ตดนตรีเป็นและเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด มอร์ริโคเนแต่งเพลงครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 6 ขวบและเข้าเรียนดนตรีที่ The National Academy of Santa Cecilia ในปี 1940 ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเล่นทรัมเป็ต การประพันธ์เพลง และการกำกับดนตรี

ประสบการณ์จากสงครามโลก ทั้งความอันตรายและความหิวโหยที่เกิดขึ้นทั่วโรมได้ส่งผลกระทบต่อผลงานในช่วงเวลาต่อมาของเขา หลังสงครามจบมอร์ริโคเนก็ได้แต่งเพลงให้กับสถานีวิทยุในอิตาลี คือ RAI และ แต่งเพลงให้กับศิลปินในสังกัด RCA รวมไปถึงเล่นทรัมเป็ตอยู่ในวงแจ๊ส จากนั้นมาเขาก็ได้ทำงานเป็น ghost writing แต่งเพลงให้กับภาพยนตร์และละครเวทีมากมาย มอร์ริโคเนแต่งงานกับภรรยา Maria Travia ในปี 1956 มีลูกด้วยกัน 4 คนคือ Marco, Alessandra, Andrea และ Giovanni

มอร์ริโคเนและครอบครัว
มอร์ริโคเนและครอบครัว

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มอร์ริโคเนแต่งแล้วได้เครดิตก็คือภาพยนตร์เรื่อง “The Fascist” (1961) ของ Luciano Salce จากนั้นไม่นานจึงได้ร่วมงานกับ Sergio Leone ในผลงานชุด “The Dollars Trilogy” ในปี 1964-1966 และตามติดมาด้วยผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์อิตาลีอีกมากมายอาทิ “The Battle of Algiers” (1966) ของ Gillo Pontecorvo , “The Hawks and the Sparrows” (1966) ของ Pier Paolo Pasolini , “Sacco and Vanzetti” (1971) ของ Giuliano Montaldo  และ “1900” (1976) ของ Bernardo Bertolucci ที่เพลงประกอบเพราะมาก ๆ เลย

ส่วนภาพยนตร์ 5 เรื่องที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบนั้นต่างแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘มาเอสโตร’ หรือปรมาจารย์ทางดนตรีของมอร์ริโคเน ไม่ว่าจะเป็น “Days of Heaven” (1978) ของ Terrence Malick ที่มาพร้อมบทเพลงในห้วงอารมณ์รักอันงดงามชวนหวามไหว “The Mission” (1986) ของ Roland Joffé ที่เล่าเรื่องการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในป่าดงดิบของอเมริกาใต้ ซึ่งมอร์ริโคเนได้ใช้ดนตรีพื้นเมืองผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีของยุโรปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความปะทะกันทางวัฒนธรรมจากสองขั้ว  

ใน  “The Untouchables” (1987) ของ Brian De Palma ก็มาพร้อมบทเพลงงดงามอันชวนตื่นใจที่ล้อไปกับเรื่องราวของเหล่าเจ้าพ่อผู้องอาจ ใน “Bugsy” (1991) หนังนีโอ-นัวร์ ของ Barry Levinson ก็มาพร้อมบทเพลงที่ถ่ายทอดห้วงอารมณ์ ความคิดและชีวิตของอาชญากรชื่อก้องของอเมริกานามว่า Benjamin “Bugsy” Siegel และสุดท้ายคือ “Malèna” (2000) ของ Giuseppe Tornatore ผู้กำกับคนเดียวกันกับ Cinema Paradiso ที่มาพร้อมบทเพลงออเคสตราอันไพเราะสะท้อนช่วงเวลาแห่งสงครามในเมืองซิซิลีผ่านสายตาของหนุ่มน้อยที่หลงใหลในเสน่ห์ของสุภาพสตรีแสนงามนางหนึ่ง

ส่วน ‘Cinema Paradiso’ ภาพยนตร์เจ้าของรางวัลออสการ์สาขา “ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม” ในปี ค.ศ.1990 นั้นถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเพลงประกอบด้วยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทเพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนึ่งในผลงานที่เป็นที่จดจำมากที่สุดของมอร์ริโคเน อันถ่ายทอดห้วงอารมณ์และความทรงจำอันสุดแสนประทับใจในมิตรภาพต่างวัยระหว่างหนูน้อย ‘โตโต้’ กับคุณลุง ‘อัลเฟรโด้’ ผู้ทำหน้าที่ฉายหนังให้กับโรงหนังเล็ก ๆ บนเกาะซิซิลี จนวันหนึ่งเด็กน้อยได้เติบใหญ่ไปเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ นี่คือหนังสำหรับคนทำหนังและคนรักหนังโดยแท้จริง อันมีบทเพลงเด่นคือ “Love Theme from Cinema Paradiso” ที่มอร์ริโคเนแต่งร่วมกับลูกชาย คือ Andrea Morricone นั่นเอง

ถึงแม้วันนี้มอร์ริโคเนจะได้จากโลกนี้ไป แต่บทเพลงอันสุดประทับใจของเขาจะยังคงโลดแล่นอยู่ในโสตสัมผัสและห้วงทรงจำของพวกเราไปตลอดกาล

RIP. Ennio Morricone (1928-2020)

Source

The New York Times

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
อำลา ‘เอนนิโอ มอร์ริโคเน’ ตำนานแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าไว้ในหนัง 500 กว่าเรื่อง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0