โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อากาศวิกฤติพ่นพิษพิภพ

สยามรัฐ

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
อากาศวิกฤติพ่นพิษพิภพ

สภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของโลก ณ เวลานี้ ต้องถือว่า แปรปรวนจนน่าเป็นห่วง

อย่างที่ “ไทย” เรา ใน “ต่างจังหวัด” หลายแห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน ก็ผจญชะตากรรมกับ สถานการณ์ “ภัยแล้งหนัก” ที่ถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญสันทัดกรณี ออมาชี้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายสิบปีเลยก็ว่าได้

ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียใต้ คาบเกี่ยวไปถึงเอเชียกลาง อันกอปรด้วยอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ในเอเชียใต้ และอัฟกานิสถาน ในเอเชียกลาง ก็ต้องบอกว่า หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าภูมิภาคใดในเวลานี้ เพราะวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งพิษแรงทำให้เผชิญทั้ง “ภัยแล้ง” และ “ภัยลมฝนมรสุม” ในเวลาเดียวกัน จนสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างระทมทุกข์หนัก

ฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดดินถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในปากีสถาน ส่งให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดดินถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในปากีสถาน ส่งให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

โดยมีรายงานตัวเลขความสูญเสียจากสภาพวิกฤติทางอากาศ โดยเฉพาะจาก “ลมมรสุม” ที่ทำให้เกิด “ภาวะฝนตกหนัก” ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เกิด “ภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลัน” และ “ดินถล่ม” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 150 คน และยังวิตกกังวลกันว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะทะยานเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ภัยพิบัตจากสภาพภูมิอากาศที่วิกฤติข้างต้น ก็ส่งให้เกิดผลกระทบต่อประชากรของภูมิภาคแถบนั้นกว่า 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับผลกระทบทางตรงถึง 4.3 ล้านคน

ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่ของบรรดาประเทศในเอเชียใต้และเอเชียกลางตามที่เอ่ยชื่อแล้วข้างต้น ก็ผจญชะตากรรมกับ “ภาวะภัยแล้งหนัก” อีกประการหนึ่งด้วย เรียกว่า เผชิญทั้งภัยฝนมรสุมและภัยแล้งในเวลาเดียวกัน

ภาวะความแห้งแล้งที่ชาวอัฟกานิสถานหลายพื้นที่กำลังเผชิญ
ภาวะความแห้งแล้งที่ชาวอัฟกานิสถานหลายพื้นที่กำลังเผชิญ

โดยภัยแล้งที่ภูมิภาคดังกล่าวเผชิญ เช่นที่ “อัฟกานิสถาน” ถึงขนาดทำให้เกษตรกรจำนวนหลายล้านคน ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน เพราะพื้นที่การเกษตรเดิมของพวกเขา เพาะปลูกอะไรไม่ได้ เนื่องจากแล้งหนัก

ท่ามกลางการพยากรณ์ของบรรดานักอุตุนิยมวิทยาว่า ปีนี้ในหลายพื้นที่ของเอเชียกลาง เอเชียใต้ แล้งเหลือหลาย เช่นเดียวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยเราด้วย โดยจะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” เป็นระยะเวลานาน ฝนมาล่าช้ากว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา

เหล่านักอุตุนิยมวิทยา ได้แสดงทรรศนะถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภัยแล้งเช่นนั้นด้วยว่า เป็นเพราะปรากฏการณ์ความชื้นจากขั้วโลกเหนือไม่แผ่ลงมา จนทำให้ไม่เกิดมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาในพื้นที่ที่อยู่ทางตอนใต้ของขั้วโลกเหนือ นั่นเอง โดยสาเหตุที่ทำให้ความชื้นจากขั้วโลกเหนือไม่แผ่ลงมา ก็มาจากสาเหตุการเคลื่อนตัวของบรรยากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นเอง ซึ่งจะเรียกว่า เป็นผลพวงของพิษภัยจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ก็มิผิด

พร้อมกันนี้ บรรดานักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศอย่าง “สถาบันเทคโนโลยีอีทีเอช” ในนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งจากภาวะโลกร้อนในอนาคตจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าปัจจุบันอีก โดยประเมินกันว่า อีกราว 30 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวๆ 2 องศาเซลเซียส โดยถ้าว่ากันแบบเฉพาะเจาะจง หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส อย่างที่โทรอนโต แคนาดา อุณภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ส่วนที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.9 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่ก็มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส เช่น นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส เป็นต้น

แผนที่แสดงเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่คาดว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
แผนที่แสดงเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่คาดว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ทั้งนี้ จากการที่พื้นที่หลายแห่งทั่วโลก มีอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยที่ 2 องศาเซลเซียสข้างต้น ก็บ่งชี้ว่า ทางการของประเทศต่างๆ ยังคงล้มเหลวในการควบคุมอุณหภูมิโลกมิให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ใช่แต่เท่านั้น จากการศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังประเมินว่า จากผลพวงของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สภาพอากาศในเขตขั้วโลกเหนือ ที่มีอากาศหนาว เปลี่ยนแปลงจนมีสภาพอากาศคล้ายกับบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้นด้วย โดยราวกับว่าเมืองในขั้วโลกเหนือเหล่านั้น เขยิบเข้ามาใกล้กับเส้นศูนย์สูตรถึง 1,000 กิโลเมตร เลยทีเดียว เช่น กรุงลอนดอน ของอังกฤษ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ก็จะมีสภาพอากาศคล้ายกับนครบาร์เซโลนาของสเปนในปัจจุบัน เป็นต้น

ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังระบุด้วยว่า ปัจจัยจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สภาพภูมิอากาศของบรรดาเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แปรปรวนไปจากเดิมอย่างมาก และแปรปรวนกันในลักษณะที่แปลกประหลาดด้วย นั่นคือ เกิดภาวะอุทกภัยอันสืบเนื่องจากฝนตกหนัก และภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในแบบพร้อมๆ กันได้ เหมือนอย่างที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียกลาง กำลังเผชิญอยู่นี้

วิกฤติสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติตามมา
วิกฤติสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติตามมา

งานศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังมีคำเตือนด้วยว่า เหตุอากาศเปลี่ยนแปลงไปข้างต้น ก็จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชากรโลก ก่อนหยิบยกถ้อยแถลงของนางมามิ มิซึโทริ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการลดความเสี่ยงต่อหายนะภัย มาสะกิดต่อทางการของประเทศต่างๆ ให้ตระหนักถึงพิษภัยของวิกฤติสภาพอากาศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และให้ดำเนินมาตรการในอันที่จะช่วยลดปัญหาทางสภาพอากาศ รวมถึงแนะนำให้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับหายนะภัยอันเกิดวิกฤติทางอากาศที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0