โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อาการแพ้อาหาร (Food allergy)

HonestDocs

อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 21.32 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 21.32 น. • HonestDocs
อาการแพ้อาหาร (Food allergy)
อาการแพ้อาหาร มีกี่ประเภท แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร? อาการแพ้อาหาร มีอะไรบ้าง อันตรายหรือไม่? กี่วันหาย? วิธีปฐมพยาบาลอาการแพ้อาหารในเบื้อต้น เป็นอย่างไร?

อาการแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางชนิดแบบผิดปกติ ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อได้รับอาหารชนิดนั้นๆ โดยคนเรามีอาการแพ้อาหารได้เกือบทุกชนิดเลยทีเดียว และไม่อาจคาดเดาระดับความรุนแรงของอาการแพ้ได้เลย การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการแพ้ วิธีหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และการรักษาอาการแพ้อาหารจะช่วยให้คุณรับมือกับโรคภูมิแพ้ชนิดนี้ได้อย่างถูกต้อง

อาการแพ้อาหารเป็นอย่างไร?

อาการแพ้อาหารมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง บางคนมีอาการแพ้อาหารเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก แต่อาจพัฒนาเป็นอาการแพ้อาหารรุนแรงในครั้งถัดๆ ไปได้ โดยอาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจ โดยทำให้มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน ดังนี้

  • ชาหรือคันที่ปาก ใบหู หรือในลำคอ
  • มีผื่นคันเหมือนเป็นลมพิษ ในบางรายอาจมีผิวหนังแดงและรู้สึกคัน แต่ไม่มีผดผื่น
  • บวมบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และในลำคอ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • หายใจลำบาก หายใจติดขัด
  • วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • รู้สึกไม่สบาย อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  • ปวดบริเวณท้องน้อย หรือท้องเสีย
  • มีอาการคล้ายเป็นไข้ละอองฟาง เช่น จามหรือคันบริเวณดวงตาและเยื่อบุตา

ส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ และบ่อยครั้งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที มีบางกรณีที่พบได้น้อยมาก คืออาจใช้เวลาถึง 4-6 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นกว่าจะมีอาการ ซึ่งการตอบสนองต่อการแพ้ที่ช้านี้มักพบได้ในเด็กที่มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) จากอาการแพ้อาหาร

นอกจากนี้ บางคนอาจมีปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่ตอบสนองช้าแบบอื่น เช่น การแพ้โปรตีนในอาหารจนทำให้เกิดลำไส้อักเสบ (Food protein-induced enterocolitis syndrome) โดยจะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง เกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานนม ถั่วเหลือง ธัญพืช และเนื้อสัตว์บางชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารกที่รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นครั้งแรกหรือเด็กที่กำลังหย่านม เด็กที่มีอาการแพ้อาหารแบบนี้อาจมีอาการอาเจียนซ้ำหรือมีอาการท้องเสียปนเลือดด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนที่มีอาการคันปากและลำคอหลังจากรับประทานผักหรือผลไม้ดิบที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก นั่นอาจไม่ใช่อาการแพ้ภายในช่องปากที่เกิดจากอาหาร แต่เป็นการแพ้เกสรของพืช ซึ่งเกสรนี้สามารถถูกทำลายโดยความร้อน ดังนั้น หากนำไปทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนเสียก่อน ก็อาจรับประทานอาหารนั้นๆ ได้โดยไม่เกิดอาการแพ้ขึ้น

ปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)

บางครั้งอาการแพ้อาหารก็อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง หรือที่เรียกว่าแอนาฟิแล็กซิส โดยเป็นอาการแพ้ที่ส่งผลต่อหลายๆ ระบบในร่างกายในร่างกายพร้อม ๆ กัน เริ่มแรกผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจนำไปสู่อาการอื่นๆ ที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ดังนี้

  • หายใจลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หายใจเสียงดังฟืดฟาด รวมทั้งมีอาการไอร่วมด้วย
  • คอบวม หรือรู้สึกเหมือนมีก้อนบวมอยู่ในลำคอ ทำให้หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการมึนงง สับสน และวิงเวียนศีรษะ
  • อยู่ๆ ก็รู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัวอย่างมาก

ปฏิกิริยานี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังสัมผัสกับอาหารที่แพ้ และทำให้เสียชีวิตได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉิน การไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากคุณพบผู้ป่วยที่มีอาการของภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง เช่น หายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด มีอาการเหมือนจะเป็นลมหรือหมดสติ คุณจำเป็นต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โทรเรียกรถพยาบาล หรือโทรไปที่เบอร์สำหรับเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 โดยเร็วที่สุด

ประเภทของภูมิแพ้อาหาร

ภูมิแพ้อาหารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับอาการและช่วงเวลาที่เกิดอาการ ดังนี้

  • IgE-mediated food allergy เป็นอาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งถูกกระตุ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการผลิตสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า Immunoglobulin E หรือ IgE ออกมา โดยอาการแพ้จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาทีหลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ เข้าไป ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารลักษณะนี้มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้
  • Non-IgE-mediated food allergy เป็นอาการแพ้อาหารที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจาก IgE แต่เกิดจากเซลล์ชนิดอื่นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งอาการแพ้ประเภทนี้จะวินิจฉัยลำบาก เนื่องจากจะไม่เกิดอาการแพ้ขึ้นทันที แต่จะค่อยๆ แสดงอาการหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้วหลายชั่วโมง
  • Mixed IgE และ Non-IgE-mediated food allergies ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้อาหารทั้งสองลักษณะ คือ ทั้งแบบ IgE-mediated food allergy ที่มีอาการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และแบบ Non-IgE-mediated food allergy ที่มักทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งอาการภูมิแพ้ผสมเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่แพ้นม

กลไกการเกิดอาการแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่าอาหารหรือสารบางอย่างในอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้มีการปล่อยสารแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสารภูมิต้านทานออกมาเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ โดยในครั้งแรกที่ได้รับอาหารนั้นๆ ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการแพ้ แต่จะจดจำว่าเป็นสารที่อันตราย เมื่อร่างกายได้รับสารชนิดเดิมในครั้งต่อไป แอนติบอดี้จะจดจำได้และส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารที่ชื่อว่าฮิสตามีนและสารอื่นๆ ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ตามมา

ภูมิแพ้อาหารเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

หากคุณมีพ่อแม่ พี่น้อง หรือคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ เช่น หอบหืด โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ หรือมีอาการแพ้อาหาร คุณก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้อาหารได้สูง โดยไม่จำเป็นต้องมีโรคภูมิแพ้หรือมีอาการแพ้อาหารชนิดเดียวกันกับสมาชิกภายในครอบครัวก็ได้

ภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยเด็กวัยนี้ประมาณ 1 ใน 14 คนจะมีอาการแพ้อาหารอย่างน้อย 1 อย่าง และอาการแพ้อาหารต่างๆ เช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง หรือข้าวสาลี ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กจะหายไปเองเมื่อเริ่มเด็กโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ถั่วลิสงและถั่วตระกูลยืนต้นนั้นมักจะเป็นนานกว่า โดยพบว่าเด็กที่แพ้ถั่วจำนวน 4 ใน 5 คน จะมีอาการแพ้ไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกับอาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ หรือมีอาการสืบเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็ก

นอกจากนี้ จากสถิติพบว่า อัตราผู้ป่วยภูมิแพ้อาหารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่คาดว่าเป็นเพราะอาหารที่เด็กๆ บริโภคนั้นมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมา และมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่าเด็กๆ ยุคใหม่เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมแบบ "ปลอดเชื้อโรค" จึงเป็นสาเหตุทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ค่อยได้ทำงานมากนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สถิติการเกิดโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

สาเหตุของอาการแพ้อาหาร

อาหารเกือบทุกประเภทสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่ก็มีอาหารบางชนิดมักก่อให้เกิดอาการแพ้มากกว่าอาหารอื่นๆ

สำหรับเด็กเล็ก มักพบว่าอาการแพ้มีสาเหตุมากจากอาหารเหล่านี้

  • ไข่
  • นม เด็กที่มีอาการแพ้นมวัวจะมีโอกาสเสี่ยงแพ้นมทุกชนิด
  • ข้าวสาลีหรือแป้งข้าวสาลี
  • ถั่วเหลือง
  • ถั่วลิสง
  • ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้ เป็นต้น

สำหรับผู้ใหญ่ มักพบว่าอาการแพ้มีสาเหตุมากจากอาหารเหล่านี้

  • ถั่วลิสง
  • ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้ เป็นต้น
  • ปลา
  • อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู ล็อบสเตอร์ กุ้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าปฏิกิริยาภูมิแพ้อาหารเกิดจากอาหารจำพวกต่อไปนี้ได้เช่นกัน

  • ผักชีฝรั่งหรือผักขึ้นฉ่าย
  • กลูเตน (Gluten) โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในข้าวและธัญพืชต่างๆ
  • มัสตาร์ด
  • งา
  • ผักและผลไม้ โดยจะส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้บริเวณปาก ริมฝีปาก และในลำคอ
  • เมล็ดสน
  • เนื้อสัตว์บางชนิด บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์ชนิดเดียว บางคนมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์หลายชนิด

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแพ้วัตถุเจือปนอาหาร

อาการแพ้วัตถุเจือปนในอาหารนั้นพบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม สารปรุงแต่งอาหารบางตัวอาจทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นอย่างกะทันหันได้

ซัลไฟต์หรือสารกันเสียซัลไฟต์

สารกันเสียซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (E220)* และสารกันเสียซัลไฟต์อื่นๆ (E221, E222, E223, E224, E226, E227 และ E228) ถูกนำมาใช้เพื่อถนอมอาหารประเภทต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม ไส้กรอก เบอร์เกอร์ ผักและผลไม้แห้ง เป็นต้น

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการผลิตไวน์และเบียร์ และพบว่าถูกนำมาใช้เติมลงในไวน์ด้วยเช่นกัน ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจมีปฏิกิริยาจากการสูดดมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ ทว่ามีผู้ป่วยโรคหอบหืดเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรงจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของซัลไฟต์

โซเดียมเบนโซเอต

กรดโซเดียมเบนโซเอต (E210) และกรดเบนโซเอตอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหารซัลไฟต์ (E211, E212, E213, E214, E215, E218 และ E219) เป็นสารเจือปนที่นำมาใช้ถนอมอาหารและป้องกันการเกิดเชื้อรา มักนำมาใช้กับน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มต่างๆ โดยกรดเบนโซเอตนี้เกิดขึ้นจากผลไม้หรือน้ำผึ้งโดยธรรมชาติได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กรดนี้เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ต่างๆ ได้ เช่น หอบหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

การวินิจฉัยอาการแพ้อาหาร

หากคุณคิดว่าตนเองหรือบุตรหลานมีอาการแพ้อาหาร แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้จะถามคำถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว และอาการที่คุณเป็น คุณควรเตรียมตัวสำหรับการตอบคำถามดังต่อไปนี้

  • คุณรับประทานอะไรเข้าไปบ้างก่อนเกิดอาการแพ้อาหาร รับประทานปริมาณมากแค่ไหน
  • นานแค่ไหนกว่าอาการแพ้จะเริ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป?
  • อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นนานแค่ไหน?
  • อาการแพ้รุนแรงมากน้อยเพียงใด?
  • อาการแพ้เกิดขึ้นครั้งแรกหรือไม่? หากไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แล้วอาการแพ้เกิดขึ้นมากี่ครั้งแล้ว?
  • คุณมีอาการแพ้อื่นๆ นอกจากอาการแพ้อาหารหรือไม่?
  • มีใครในครอบครัวเป็นภูมิแพ้หรือไม่?
  • หากบุตรหลานของคุณมีอาการแพ้อาหาร แพทย์จะสอบถามว่าเด็กถูกเลี้ยงมาด้วยนมแม่หรือนมผง จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโดยประเมินน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมตามเกณฑ์

หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน ดังต่อไปนี้

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin-prick tests)

เป็นการหยดของเหลวที่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยลงบนท้องแขนหรือบนแผ่นหลัง หลังจากนั้นจะใช้หัวเข็มขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อสะกิดที่ผิวหนังเพื่อให้ของเหลวนั้นซึมเข้าไปใต้ผิวหนัง การทดสอบนี้จะทราบผลภายในเวลาประมาณ 20 นาที และไม่ทำให้เจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ หากผลการทดสอบเป็นบวก หมายถึงเกิดรอยบวมนูนขึ้นที่ผิวหนัง (คล้ายกับการโดนยุงกัด) ณ ตำแหน่งที่หยดสารก่อภูมิแพ้ใด แสดงว่าคุณแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้นๆ โดยในการทดสอบจะมีการควบคุมผลทดสอบด้วยการหยดของเหลวที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้และทำการสะกิดผิวหนังไว้ด้วย ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดรอยบวมนูนที่บริเวณนี้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลกับบริเวณที่มีสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างชัดเจน

การตรวจเลือด 

การตรวจวิธีนี้มีความแม่นยำน้อยกว่าการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเล็กน้อย โดยจะเป็นการตรวจหาสาร IgE antibody หรือสารภูมิต้านทานการแพ้ต่ออาหาร การตรวจวิธีนี้จะให้ผลเป็นตัวเลข ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะทราบผลตรวจ

การลองรับประทานอาหารที่แพ้ 

ในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณทดสอบอาการแพ้อาหารที่สงสัยโดยการให้ลองรับประทาน (Oral food challenge test) ซึ่งเป็นวิธีวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารที่แม่นยำ การทดสอบนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้อาหารรุนแรงได้ โดยเริ่มแรกจะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าทำให้เกิดอาการแพ้ในปริมาณเล็กน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และติดตามดูอาการไปสักระยะหนึ่ง (ไม่กี่ชั่วโมง) เพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาการแพ้เกิดขึ้นหรือไม่ การทดสอบนี้มีประโยชน์ในกรณีที่ประวัติของผู้ป่วยไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถสรุปผลจากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือการตรวจเลือดได้ และยังเป็นวิธีที่ใช้ประเมินว่าอาการแพ้อาหารนั้นเป็นมากขึ้นหรือไม่ด้วย

การเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ 

เป็นการทดสอบโดยงดรับประทานอาหารที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของภูมิแพ้เป็นเวลา 2 – 6 สัปดาห์ แล้วจึงกลับมารับประทานอีกครั้ง หากอาการแพ้หายไปเมื่อหยุดรับประทานอาหารนั้นและกลับมาเป็นอีกครั้งเมื่อกลับมารับประทานอาหารดังกล่าวอีก นั่นหมายความว่าคุณมีอาการแพ้อาหารจริง

ก่อนที่จะเริ่มทดสอบวิธีการนี้ คุณจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากนักโภชนาการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

  • อาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง
  • วิธีการอ่านฉลากโภชนาการเพื่อให้สามารถเลือกซื้ออาหารอื่นๆ ทดแทนสารอาหารที่ถูกงดไปได้
  • ระยะเวลาที่เหมาะสมในการงดรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้

ทั้งนี้ คุณจะต้องไม่ทดสอบด้วยวิธีการเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ด้วยตนเองเป็นอันขาด และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการทดสอบเสมอ

อาการแพ้อาหารจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ทุกครั้งที่รับประทานอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น โดยอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างตามแต่ละบุคคล และคุณเองก็อาจมีอาการไม่เหมือนกันในแต่ละครั้งที่แพ้ เนื่องจากปฏิกิริยาการแพ้อาหารจะส่งผลต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดการณ์ว่าอาการแพ้ในครั้งต่อไปจะรุนแรงเพียงใด ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแพ้อาหารควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง หรือที่เรียกว่า Anaphylaxis ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต และต้องได้รับการรักษาด้วยยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) อย่างทันท่วงที

การรักษาอาการแพ้อาหาร

คนหลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้สงสัยว่าโรคนี้จะเป็นไปตลอดหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้ การแพ้นม ไข่ ข้าวสาลี และถั่วเหลืองอาจหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่การแพ้ถั่วลิสง ถั่วชนิดอื่นๆ ปลา และสัตว์น้ำที่มีเปลือกนั้น มีแนวโน้มที่จะแพ้ไปตลอดชีวิต

สิ่งแรกที่คุณควรทำเมื่อมีอาการแพ้อาหารคือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้นๆ โดยคุณสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • อ่านส่วนผสมที่ฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างรอบคอบ และศึกษาว่าอาหารที่คุณแพ้นั้นมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหรือไม่ จะได้ระมัดระวังได้ถูก
  • สังเกตคำเตือนบนฉลาก โดยหลายๆ ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมีการระบุส่วนประกอบของอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้บ่อยๆ 8 ชนิดบนฉลาก คือ นม ไข่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วต่างๆ ปลา และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก ซึ่งจะระบุไว้แม้ว่าจะเป็นเพียงสารเติมแต่งหรือสารแต่งกลิ่นก็ตาม
  • ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด อาจเขียนด้วยคำที่แตกต่างกัน เช่น “อาจประกอบด้วย” “ผลิตจากเครื่องมือเดียวกัน” “ผลิตในโรงงานเดียวกัน” หรือข้อความอื่นๆ ที่สื่อได้ว่าอาจมีการเจือปนของอาหารที่มีโอกาสแพ้ได้สูงในผลิตภัณฑ์นั้น หากคุณไม่มั่นใจหรือเกิดคำถามเกี่ยวกับอาหารและความปลอดภัยของอาหารที่คุณจะรับประทาน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ปรึกษานักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้มีอาการแพ้ โดยยังคงได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
  • เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ถ้าเป็นไปได้ควรขอคุยกับพ่อครัวแม่ครัวเกี่ยวกับอาหารที่คุณแพ้ เพราะพนักงานเสิร์ฟ รวมถึงพนักงานห้องครัวอาจไม่ทราบส่วนผสมของอาหารทุกจาน ทุกเมนูในร้านอาหารนั้น ซึ่งบางครั้งเพียงแค่คุณเดินเข้าไปในร้านอาหารหรือในห้องครัวที่มีอาหารที่แพ้ เท่านี้ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ขึ้นได้ นอกจากนี้ อาหารที่คุณแพ้อาจปนเปื้อนอยู่บนจาน ชาม ช้อน ส้อมได้เช่นกัน จึงต้องมั่นใจว่ามีการล้างทำความสะอาดอย่างเหมาะสมก่อนบรรจุอาหารมาเสิร์ฟคุณ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่บรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีฉลากโภชนาการ เช่น ขนมเบเกอรี่ ร้านขายอาหารทั่วไปหรือร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ ร้านสลัด ร้านขายแซนวิชปรุงสำเร็จ ร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน ร้านอาหารทั่วไป เป็นต้น เพราะคุณไม่อาจรู้ได้เลยว่าอาหารนั้นๆ มีส่วนประกอบของอะไรบ้าง
  • เตรียมความพร้อมอยู่เสมอสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดอาการแพ้อาหาร โดยพกพายาแก้แพ้หรือยาฉีดอิพิเนฟรินติดตัวไปด้วยหากออกไปรับประทานข้าวนอกบ้าน

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นภูมิแพ้

  • แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเกี่ยวกับอาการแพ้อาหารของบุตรหลานว่ามีความรุนแรงเพียงใด ควรบอกวิธีจัดการแบบฉุกเฉินหากเด็กมีอาการแพ้ขึ้นมาและควรฝากยาแก้แพ้หรือยาฉีดอะดรีนารีนไว้กับทางพยาบาลประจำโรงเรียนหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจใส่สายยางรัดข้อมือที่ระบุถึงอาหารที่เด็กมีอาการแพ้และวิธีการรักษาเมื่อเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมา
  • แจ้งให้ผู้ปกครองท่านอื่นทราบ เนื่องจากเด็กเล็กๆ อาจลืมได้ว่าตนเองมีอาการแพ้อาหารชนิดใดบ้างและเผลอรับประทานอาหารชนิดนั้นไปเมื่อไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน การแจ้งให้ผู้ปกครองของเพื่อนเด็กทราบจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้
  • เมื่อบุตรหลานเริ่มโตพอที่จะเข้าใจและรู้ว่าตนมีอาการแพ้อาหาร ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้กำเริบ และสอนวิธีการจัดการกับตนเองหากมีอาการแพ้เมื่อเผลอรับประทานอาหารเหล่านั้นเข้าไป
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงหรืองดรับประทานอาหารใดๆ ของลูกคุณทุกครั้ง การงดรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น ไข่หรือถั่วลิสง ไม่ได้ส่งผลต่อโภชนาการมากนัก แม้อาหารทั้ง 2 ชนิดจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมแต่ก็ยังสามารถรับประทานอาหารที่มีโปรตีนอื่นๆ ทดแทนได้ ส่วนเด็กที่แพ้นมอาจได้รับผลกระทบมากกว่า นั่นเพราะนมถือเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี อย่างไรก็ตามคุณสามารถให้ลูกรับประทานอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนแคลเซียมจากนมได้เช่นกัน เช่น ผักใบเขียว เป็นต้น
  • ปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ หากคุณกังวลใจหรือสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของบุตรหลาน

ยารักษาอาการแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหารอาจมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งความรุนแรงของการเกิดอาการในแต่ละครั้งจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ แม้คุณจะเคยมีอาการแพ้อาหารเพียงเล็กน้อยในครั้งก่อน แต่คุณก็อาจเกิดการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ในครั้งนี้ได้ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ มีความดันโลหิตต่ำลงอย่างมาก คุณจึงควรพกยาแก้แพ้หรือยาฉีดฉุกเฉินอิพิเนฟรินไว้ด้วย

ยาต้านฮิสตามีน

หากมีอาการแพ้อาหารไม่รุนแรงหรือมีอาการปานกลาง คุณสามารถใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป โดยยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายปล่อยออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเป็นสาเหตุของอาการแพ้อาหาร

ยาต้านแก้แพ้บางชนิด เช่น Alimemazine หรือ Promethazine ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หากที่บ้านคุณมีเด็กเล็กเป็นภูมิแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับชนิดของยาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยาแก้แพ้จะต้องหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากตัวยาอาจทำให้รู้สึกง่วงซึมและส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะได้

อิพิเนฟริน (Epinephrine)

ยาอิพิเนฟริน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) มีฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น รวมทั้งช่วยให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อป้องกันผลกระทบจากระดับความดันที่ลดต่ำเกินไป

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการแพ้อาหาร แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาฉีดอิพิเนฟรินแบบพกพา (Epinephrine auto-injector) เผื่อสำหรับในกรณีฉุกเฉินที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงขึ้นมา และจะสอนวิธีใช้ยานี้ให้คุณ คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยานี้เสมอ โดยเมื่อใกล้หมดอายุให้สอบถามที่โรงพยาบาลเกี่ยวกับบริการเปลี่ยนยาตัวใหม่ ส่วนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงควรฝึกให้เด็กๆ ใช้เครื่องฉีดยาด้วยตนเองเมื่อเด็กโตพอแล้ว

คุณควรยาฉีดอิพิเนฟรินทันทีเมื่อมีอาการรุนแรงเกิดขึ้น เช่น หายใจหอบเหนื่อย หายใจสั้นและถี่ ไอซ้ำๆ ชีพจรเต้นอ่อน มีลมพิษ คอแข็ง หายใจลำบาก กลืนลำบาก หรือมีอาการหลายอาการจากบริเวณที่แตกต่างกันของร่างกาย เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน หรือบวมที่ผิวหนัง ร่วมกับอาเจียน ท้องเสีย หรือปวดท้อง และอาจจำเป็นต้องฉีดยาซ้ำเป็นเข็มที่สองหากอาการไม่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันคุณหรือคนใกล้ตัวควรโทรเรียกรถพยาบาล และแจ้งให้โรงพยาบาลทราบว่าคุณได้ฉีดยาอิพิเนฟรินแล้ว และอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาฉีดอิพิเนฟริน คือ วิตกกังวล กระสับกระส่าย เวียนศีรษะ และมึนงง ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง และอาจมีของเหลวในปอด หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน คุณอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาอิพิเนฟริน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการแพ้อาหารรุนแรง คุณควรใช้ยาฉีดนี้ทันที เพราะยานี้เป็นยาเดียวสำหรับการรักษาปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต และประโยชน์ที่จะได้รับจากยานี้มีมากกว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับยา

👨‍⚕️⚕️👩‍⚕️⚕️ ค้นหาโรค อาการ ยา โรงพยาบาล คลินิก และอ่านบทความสุขภาพ เขียนโดยคุณหมอหรือผ่านการรีวิวจากคุณหมอแล้ว ที่ www.honestdocs.co และ www.honestdocs.id 

💪❤️ ไม่พลาดข้อมูลดีๆ ที่จะทำให้คุณแข็งแรงขึ้นทั้งกายและใจ คลิกที่นี่เพื่อแอดไลน์ @honestdocs หรือแสกน QR Code ด้านล่างนี้ และยังติดตามเราได้ที่ Facebook และ Twitter วันนี้

📱📰 โหลดแอป HonestDocs สำหรับ iPhone หรือ Android ได้แล้ววันนี้! จะอ่านบทความ จะเก็บบทความไว้อ่านทีหลัง หรือจะแชร์บทความให้คนที่เราเป็นห่วง ก็ง่ายกว่าเดิมเยอะ

เปรียบเทียบดีลสุขภาพ ทำฟัน และความงาม จาก รพ. และคลินิกกว่า 100 แห่ง พร้อมจองคิวผ่าน HonestDocs คุณหมอมือถือได้เลยวันนี้ ถูกกว่าไปเอง

ขอบคุณที่วางใจ ทุกเรื่องสุขภาพอุ่นใจ ให้ HonestDocs (ออเนสด็อกส์) คุณหมอมือถือ ดูแลคุณ ❤️

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0