โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อัยการคดียาเสพติด สั่งตรวจสอบสำนวนคดี “เอมี่”

PPTV HD 36

อัพเดต 23 ก.ย 2561 เวลา 05.58 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 04.42 น.
อัยการคดียาเสพติด สั่งตรวจสอบสำนวนคดี “เอมี่”
อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด สั่งเจ้าของสำนวนคดี ‘เอมี่’ ชี้แจงรายละเอียดการฟ้องคดี ขณะที่ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เตรียมไลฟ์สด เปิดคลิปเสียงใหม่ หลังออกมากล่าวหาทนายความ ที่ชื่อว่า ‘ตั้ม’ เรียกรับเงิน 700,000 บาท กับลูกความเพื่อวิ่งเต้นให้ชนะคดี โดยระบุว่า คลิปใหม่ที่จะเปิดเผย จะมีข้อความที่มีเนื้อหาสำคัญ

วันนี้ (23 ก.ย.61) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า จากการให้สัมภาษณ์ของนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมว่ามีหลักฐานการโอนเงินจำนวนมากซึ่งอ้างว่านำไปใช้ในการเคลียร์กับตำรวจ-อัยการคดียาเสพติดนั้น นางชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งการให้อัยการผู้เกี่ยวข้องชี้แจงโดยด่วนแล้ว เพื่อสอบหาข้อเท็จจริงว่ามีอัยการคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ โดยจะประสานงานข้อมูลกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. โดยเฉพาะคณะกรรมการที่ทำการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เพื่อให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการทำงาน โดยเฉพาะคดียาเสพติดซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ระดับชาติตามนโยบายอัยการสูงสุด ที่เคยกำชับไปแล้วว่าให้พนักงานอัยการทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความสุจริต และเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจะได้นำกราบเรียนให้ท่านอัยการสูงสุดทราบต่อไปโดยเร็ว

ด้าน เพจเฟซบุ๊กชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมโพสต์ข้อความว่าวันนี้เวลา 20.00 น.  นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จะไลฟ์สดเพื่อเผยแพร่คลิปเสียงคลิปใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็นเสียงของทนายชื่อว่า “ตั้ม” เรียกรับเงิน 700,000 บาท กับผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกความ เพื่อแลกกับการวิ่งเต้นคดีผ่านอัยการ และยังอ้างว่า จะเปิดเผยเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นด้านมืดในวงการกฎหมายด้วย ขณะที่ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ยอมรับว่า เสียงในคลิปที่ถูกเผยแพร่มาก่อนนี้เป็นเสียงของตนเอง แต่คืนเงินไปหมดแล้ว

สำหรับการตรวจสอบคลิปเสียง “ทนายตั้ม” เรียกรับเงินวิ่งเต้นคดีกับลูกความ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เปิดเผยว่า สภาทนายความฯ เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมการถอดถอนตั๋วทนาย เพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง จะถือเป็นการทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 ฐานให้สินบนกับเจ้าพนักงาน ใช้อุบายคุยกับลูกความเพื่อให้ได้ประโยชน์นอกเหนือจากข้อตกลง

โดยข้อมูลจากสภาทนายความฯ พบว่า มีบุคคลที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ถือตั๋วทนายความประมาณ 80,000 คน แต่มีคนทำอาชีพทนายรับว่าความโดยเฉพาะประมาณ 20,000 คน ส่วนการใช้เทคนิคสู้คดีขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล สำหรับค่าจ้างจะใช้การตกลงแบ่งเงิน 5-10 เปอร์เซ็นต์ จากทุนทรัพย์ที่ลูกความฟ้องร้อง ตกลงกับลูกความให้ชัดเจนว่าถ้าชนะหรือแพ้คดีจะให้เงินจำนวนเท่าไหร่และจะไม่เรียกเก็บเพิ่มภายหลัง

ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันอาจจะมีทนายความที่เรียกรับเงินวิ่งเต้นคดี เช่น การเรียกรับเงินจากลูกความจำนวนมากเพื่อนำเงินไปติดสินบนเจ้าพนักงานให้ทำสำนวนคดีให้อ่อนลงเพื่อเป็นช่องทางในการสู้คดีให้ชนะในชั้นศาล โดยขึ้นอยู่กับแนวทางวิชาชีพของแต่ละบุคคล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0