โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อัพเดตวิทยาการ รักษามะเร็ง ก้าวหน้า-ลดสูญเสีย

MATICHON ONLINE

อัพเดต 20 ก.พ. 2563 เวลา 04.45 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 04.45 น.
S__43737277

อัพเดตวิทยาการ รักษามะเร็ง ก้าวหน้า-ลดสูญเสีย

รักษามะเร็ง – เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 สำหรับ“โรคมะเร็ง” และเนื่องในวันมะเร็งโรค โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ถือกำเนิดจากการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง จากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นหวังจะช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้พ้นทุกข์ภัยของโรคมะเร็ง และยกระดับการรักษาพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล ควบคู่กับการศึกษาค้นคว้าวิจัย สร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ เพื่อยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้กับประชาชนเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ จึงจัด“โครงการรณรงค์วันมะเร็งโลก” ภายใต้แนวคิด I Am and I will…ไม่ว่าคุณจะเป็นใครทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งได้ ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลักสี่

พญ.พรวรี ตรีรัสสพานิช รังสีรักษามะเร็งวิทยา ให้ข้อมูลว่า จากสถิติตามรายงานสถาบันมะเร็ง ปี 2561 ผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ สูงที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด ส่วนผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม สูงที่สุด รองลงมาเป็นมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้

“โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขไทย เป็นสาเหตุอัตราการตายอันดับ 1 ของประเทศ การลดอุบัติการณ์ คือ ลดปัจจัยเสี่ยง เช่น เลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุโรคมะเร็งหลายชนิด รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยตัวเอง จะทำให้ลดการเกิดมะเร็ง และช่วยในการรักษาได้” พญ.พรวรีกล่าว และว่า

“การรักษามะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามาดูแลรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ มีทีมนักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด โดยการวางแผนการรักษาจะมีการประชุมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษามีความเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด”

ทั้งนี้ การรักษามะเร็งในปัจจุบัน วิทยาการก้าวหน้าไปอย่างมาก การรักษามีทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายรังสี และการให้ยา

พญ.พรวรี กล่าวว่า การรักษาที่คนกลัว คือ การฉายรังสี ซึ่งจริงๆ ตัวรังสีเป็นรังสีเอกซเรย์ คนไข้จะไม่รู้สึกอะไรในห้องฉายรังสี อีกทั้งยังเป็นการรักษาที่มีบทบาทในการลดการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ช่วยลดการเป็นซ้ำได้ หรือในกรณีคนไข้ที่ตัวโรคมีการลุกลาม การฉายแสงมีบทบาทในการบรรเทาอาการ หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้คนไข้ได้ เช่น ลดอาการปวด ซึ่งจะทำให้ลดการรับประทานยาแก้ปวดได้

สำหรับการให้ “ยา” มีทั้งการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ โดยการให้ยาคีโม หรือเคมีบำบัด รวมทั้งยังมียาต้านฮอร์โมน ซึ่งเป็นยารับประทาน และยามุ่งเป้า ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าจะรักษาคนไข้ด้วยยาประเภทใด

พญ.ชญานี สำแดงปั้น อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา กล่าวว่า หลายคนกลัวการทำคีโม แต่อยากให้มั่นใจว่า ปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้มีผลข้างเคียงน้อยลง เพราะแพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น คลื่นไส้อาเจียน แต่ยาคีโมอาจจะไม่เหมาะสมในผู้ป่วยบางราย เช่น คนไข้ที่มีอายุมาก หรือมีโรคประจำตัว

“นวัตกรรมการรักษามะเร็งบางอย่างดีขึ้นมาก มีความก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันมี ยามุ่งเป้า ที่ออกฤทธิ์ที่เป้า ประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย แต่ข้อแม้คือ เนื้อมะเร็งของคนไข้ต้องมีความชัดเจน ดังนั้น อยากให้คนไข้ลดความกังวล และให้มั่นใจในนวัตกรรมการรักษา เพราะปัจจุบันนี้ภาวะแทรกซ้อนการรักษาน้อยลงแล้ว” พญ.ชญานีกล่าว

ทั้งนี้ นพ.ศรัณย์ เลิศสถิตธนกร ศัลยแพทย์มะเร็งวิทยา กล่าวถึงอาการหลักๆ ที่แสดงออกว่าเป็นมะเร็งว่า มีได้หลายแบบ เช่น คนไข้มาด้วยก้อนหรือแผลตามร่างกายที่มีอาการโตขึ้น ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เช่น ไอเป็นเลือด ขับถ่ายเป็นมูกเลือก รวมถึงน้ำหนักลด อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือทางเดินปัสสาวะ ถือเป็นอาการเริ่มแรกที่ต้องระวัง

ด้าน พญ.ฐานิทธิ ลิ่มปริชญา รังสีวินิจฉัย กล่าวว่า การลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง สามารถทำได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็ง และตรวจสุขภาพประจำปี เพราะจะทำให้เจอมะเร็งระยะแรก ทำให้การรักษาได้ผลดี ไม่เสียชีวิต โดยอาจจะตรวจด้วยตัวเอง ตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเมมโมแกรม และควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป

ด้านพญ.อัญชลี จิระวาณิชย์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์มีโปรแกรมการฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนการรักษามะเร็ง เรียกว่า Prehab โดยคำนี้มาจากคำว่า preventive rehabilitation คือ การดูแล ผู้ป่วยตั้งแต่รู้ว่าเป็นมะเร็งจนถึงก่อนการรักษา โดยเราไม่รอให้ผลข้างเคียงของการรักษาเกิดแล้วค่อยฟื้นฟูร่างกาย เราป้องกันก่อนที่จะเกิด หรือถ้าหากป้องกันไม่ได้ ก็สามารถลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น หลังผ่าตัด สมรรถภาพผู้ป่วยจะลดลง 20-40 เปอร์เซ็นต์ หากผู้ป่วยมีร่างกายเดินไม่แข็งแรง ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดมากกว่า ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานขึ้น การรักษาจะมีทีมแพทย์ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาที่ยืนยันชัดเจนว่า การออกกำลังกายในผู้ป่วยมะเร็งมีประโยชน์

มะเร็งเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น ดังนั้น ลดความเสี่ยงด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะรู้ไว รักษาไว มีผลดีต่อการรักษา และลดการสูญเสีย

 

สติชีวนะ ยาเม็ดแรกผู้ป่วยมะเร็ง

ไม่มีใครอยากเป็นมะเร็ง แต่เมื่อต้องเป็นแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ “กำลังใจสู้”

ไอริล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ก่อตั้งกลุ่มArt for cancer ที่รู้ว่าป่วยมะเร็งเมื่อปี 2554 แม้จะทำการรักษาหายแล้ว แต่ได้กลับมาเป็นซ้ำในระยะที่ 4 โดยครั้งนี้ลุกลามไปที่ปอด ปัจจุบันทำการผ่าตัดรักษาแล้ว และกำลังรักษาด้วยการรับประทานยามุ่งเป้า และฉีดยาเพื่อควบคุมฮอร์โมน

แม้จะกลับมาเป็นครั้งที่ 2 แต่ไอริลก็มองโลกในแง่บวกว่า เธอยังโชคดีที่มีครอบครัวคอยให้กำลังใจ มีสุขภาพใจดี มีอาชีพทำมาหากิน เพื่อเป็นค่ายาในการรักษา และยังโชคดีกว่าผู้ป่วยบางคนที่ขาดโอกาสรักษา

“ตอนแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง ตอนนั้นอายุ 26 ปี รู้สึกซึมเศร้า เพราะคิดว่ายังไม่ใช่เวลาของเรา เราไม่ควรเจอแบบนี้ รู้สึกว่าอาจมีชีวิตอยู่ไม่ได้นาน แต่สุดท้ายก็ต้องดึงสติตัวเองกลับมา โดยยาเม็ดแรกคือ ยาสติชีวนะ คือ เราต้องมีสติ สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเราแล้ว เปลี่ยนไม่ได้ ร้องไห้ได้ แต่ต้องกลับมาสู่โลกความเป็นจริง ยอมรับความจริง และคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว จากนั้นเดินหน้ารักษาโรคต่อไปให้ถูกวิธี”

ไอริลแนะนำผู้ที่กำลังท้อกับมะเร็งว่า 1.ตั้งสติ และเชื่อมั่นในการรักษา 2.วางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ และหาความรู้เพิ่มเติม โดยต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น 3.ประเมินค่าใช้จ่าย ตรวจสอบสิทธิการรักษา วางแผนการเงิน โดยโทรหาสายด่วน สปสช.ได้ หรือถามนักสังคมสงเคราะห์ได้ เพื่อให้เราหรือครอบครัววางแผนการรักษาได้ถูกต้อง 4.ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และจดบันทึกการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ต้องใส่ใจข้อมูลตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ หากเกิดภาวะแทรกซ้อน จะทำให้รักษาได้รวดเร็วและถูกต้อง

“ยาเม็ดแรก คือ สติ กำลังใจ ในการที่รับมือกับมะเร็ง มะเร็งเป็นโรคร้ายแรง แต่มีคนที่ผ่านไปได้ เราไม่ได้โลกสวย แต่ไม่อยากให้ดราม่า เพราะคนเราไม่ป่วยเป็นมะเร็งตาย ก็เป็นโรคอื่นตาย ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงวันสุดท้ายของชีวิตได้ แต่ระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ และมีลมหายใจ ให้เราคิดว่า เราทำอะไร เพื่ออะไรมากกว่า”

*“ชีวิตจะสั้นจะยาวไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าชีวิตที่อยู่ เพื่ออะไร และทำเพื่อใคร” *ไอริลทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0