โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อัด กลางสภา "เยียวยากลุ่มเปราะบาง" ล่าช้า-ไม่ทั่วถึง

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 02.52 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 02.38 น. • Thansettakij

ในการอภิปรายพรก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563, พรก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พรก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนและมีการบังคับใช้แล้วก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งดำเนินการอภิปรายมาเป็นวันที่ 2 แล้วนั้น

ตอนหนึ่ง นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรับมือโควิด-19 กรณีวงเงิน 5.5 แสนล้านบาทที่จะนำมาเยียวยาประชาชนนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูการทำงานเยียวยาในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลโดยเฉพาะกระบวนการลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาที่เกิดกรณีเว็บล่มตั้งแต่วันแรกที่มีการลงทะเบียนเยียวยา ต่างจากสิ่งที่รัฐเคยประกาศว่า ใช้ระบบ AI ในการคัดกรอง ขณะที่ประชาชนต้องพบเจอการปฏิเสธสิทธิ์อย่างผิดพลาดกับการระบุสถานะ อาชีพ ฯลฯ ที่เลวร้ายที่สุด คือ ประชาชนมากมายไม่อาจเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีทั้งอุปกรณ์ ไม่มีทั้งอินเทอร์เน็ต ต้องเดือดร้อนไปจ้างวานผู้อื่นให้ลงทะเบียนแทน

สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ ณ ตอนนั้น คือ ส่วนราชการต้องให้บริการประชาชนอย่างที่พรรคก้าวไกลเองตั้งจุดบริการรับกรอกข้อมูลส่วนนี้ ตนจึงมีคำถามว่า AI ที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการโฆษณาว่า เป็นรัฐบาลดิจิทัล 4.0 ในขณะที่ผู้ทำระบบเองซึ่งผ่านการทำ ชิมช้อปใช้, เราไม่ทิ้งกัน มาแล้ว ออกมาเปิดเผยผ่านการไลฟ์ว่า AI ที่ใช้เป็นแบบพื้นฐาน ยังต้องอาศัยแรงงานคนกรอกข้อมูล หมายความว่าสุดท้ายรัฐต้องนำข้อมูลกว่า 28 ล้านข้อมูลนั้นไปให้ข้าราชการตรวจสอบอยู่ดี ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้นอย่างที่หลายๆ ประเทศทำกัน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนงานรวดเร็วโดยอาจใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ถ้ารัฐทำตามฐานข้อมูลมาตั้งแต่ต้น งบประมาณที่ใช้วันนี้กับสิ่งที่จ่ายตรงไม่ต่างกัน สรุปได้เลยว่าการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ล่าช้า ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพ

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า การทำงานที่ไม่รัดกุมในการเยียวยายังส่งผลให้เห็นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยต้องมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 4 ครั้ง ขยายผู้ได้รับการเยียวยาเรื่อยๆ จาก 3, 9, 14 และ 16 ล้าน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เคยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการคิด และยังเกิดกรณีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้า แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานและยังมีการหยุดชะงักในวันหยุดราชการ จากวันที่เริ่มจ่ายวันแรก 8 เมษายน ถึงขณะนี้มีวันหยุดที่ประชาชนจะต้องบวกเพิ่มการรอไปแล้วถึงกว่า 10 วัน ตนอยากจะบอกว่าราชการหยุดแต่ความหิวของคนไม่มีวันหยุด จะอ้างว่าโอนเงินไม่สะดวกระบบธนาคารปิดก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นให้อำนาจเต็ม ในขณะที่ผู้ปฏิบัติราชการมากมายกลับเอาอำนาจจาก พรก. นี้มาใช้หาประโยชน์จากประชาชน

ในฐานะที่เป็น ส.ส. ขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปพบกับประชาชนผู้พิการกว่าร้อยคนในบ้านของพวกเขาเองจากการที่ไปเยี่ยมพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ยิ่งลำบากในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มเงินผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท 2 ล้านคน แต่จะจ่ายเดือนตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครม. เพิ่งมีมติเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง ประกอบด้วย เด็ก 0-6 ปี 1.4 ล้านคน ผู้สูงอายุ 9 ล้านคน ผู้พิการ 2 ล้านคน แต่ทั้งหมดนั้นก็ช้าไปและไม่ทั่วถึง คิดเพียงจำนวนเด็กอย่างเดียวก็เกินที่รัฐระบุตัวเลขจะเยียวยาแล้ว แสดงว่า แม้ในเด็กก็ยังต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งถ้าเป็นพรรคก้าวไกลขอเสนอว่า เด็ก อายุ 0-18 ปี ให้จ่ายเยียวยารายละ 3,000 บาท ต่อ 3 เดือนถ้วนหน้า นายจิรวัฒน์กล่าว

เกาะติด "เยียวยากลุ่มเปราะบาง" เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รับเงิน 3,000บาท

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0