โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อังกฤษเจอทางตัน ฝรั่งเศสประกาศจะต่อเวลาให้อังกฤษ ถ้ารับรองว่าจะมีข้อตกลง Brexit

Brand Inside

อัพเดต 21 มี.ค. 2562 เวลา 06.50 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 06.48 น. • Patranun Limudomporn
ภาพจาก Shutterstock
ภาพจาก Shutterstock

ประเด็นเรื่อง Brexit หรือการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พ้นวิบากกรรม หลังจากที่รัฐสภาลงมติว่าจะไม่ให้มีสถานการณ์ No-deal หรือการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง ซึ่งก็ดูเหมือนจะคลี่คลายลง

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส – แฟ้มภาพจาก Shutterstock
นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส – แฟ้มภาพจาก Shutterstock

อย่างไรก็ดี อังกฤษก็ต้องเจออุปสรรคอีกรอบ เมื่อ John Bercow ประธานสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ (Speaker of the House of Commons) ยับยั้งไม่ให้รัฐบาลเสนอข้อเสนอเข้ามาเป็นรอบที่ 3 ในวันที่ 20 มีนาคม ด้วยการอ้างกฎที่มีตั้งแต่ปี 1604 ที่กำหนดไม่ให้รัฐบาลเสนอลงมติในเรื่องเดิมซ้ำเกิน 2 ครั้ง หากอยู่ในสมัยประชุมเดียวกัน ยกเว้นข้อเสนอมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเท่านั้น

ล่าสุด ฝรั่งเศสออกมาประกาศว่า จะต่อเวลายืดอายุการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษให้ ต่อเมื่อทางอังกฤษจะรับรองได้ว่าจะมีข้อตกลงแน่นอนเท่านั้น

ฝรั่งเศสระบุท่าที ไม่ต่อเวลาถ้าไม่รับรองว่าจะมีข้อตกลง

ท่าทีล่าสุดมาจาก Jean-Yves Le Drian รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส โดยระบุว่า ฝรั่งเศสจะไม่ต่อเวลาการออกจากสหภาพยุโรปให้กับอังกฤษ หากอังกฤษไม่สามารถรับรองได้ว่าจะมีข้อตกลงการออกจากสหภาพยุโรปเท่านั้น หลังจากที่ Theresa May นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เจรจาต่อรองกับสหภาพยุโรปวว่าจะขอขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

Bloomberg รายงานว่า Drian ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ โดยชี้ว่า การต่อเวลานั้นไว้เฉพาะสำหรับการเจรจาตกลงกันขั้นสุดท้ายเท่านั้น ฝรั่งเศสจะไม่มีการเจรจาใดๆ อีก และอังกฤษจะต้องไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งของสหภาพยุโรปที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้

เขาระบุเพิ่มเติมว่า ถ้าไม่มีข้อตกลงใดๆ ฝรั่งเศสก็เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ออกจากสหภาพยุโรป โดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) เอาไว้แล้ว

ฌ็อง-อีฟส์ เลอ ดริออง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส – ภาพจาก Shutterstock
ฌ็อง-อีฟส์ เลอ ดริออง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส – ภาพจาก Shutterstock

ทางตันสำหรับอังกฤษกับกลไกของสหภาพยุโรป

ท่าทีของฝรั่งเศสที่ออกมาสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนว่า อังกฤษกำลังจะหมดหนทางและเตรียมเผชิญหน้ากับการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ อย่างแน่นอนแล้ว

ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบการตัดสินใจของสหภาพยุโรปนั้น ปกติใช้หลักการเหมือนกับการลงคะแนนเสียงในสภาทั่วไป โดยคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปทั้งหมด จะมาลงมติกัน และจะมีเงื่อนไขในการลงมติ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • Simple Majority หรือ หลักคะแนนเสียงส่วนใหญ่ทั่วไป เป็นรูปแบบการลงคะแนนเสียงปกติ คือ ชาติสมาชิกจำนวน 15 ประเทศ ถ้าลงคะแนนเสียงให้กับมติใดผ่านก็ถือว่าผ่าน
  • Qualified Majority หรือ หลักคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่เหมาะสม เป็นรูปแบบที่สอง คือต้องประกอบด้วย 1.) ชาติสมาชิกรวมกันนับแล้วไม่น้อยกว่า 55% ของคะแนนเสียงทั้งหมดของสมาชิก และ 2.) ประชากรในแต่ละประเทศของ 55% นั้น รวมกันแล้วจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 65% ของประชากรยุโรปทั้งหมด ลงมติเห็นชอบ จึงจะผ่าน
  • Unanimous Vote หรือ หลักเอกฉันท์ เป็นรูปแบบที่สาม นั่นคือ ทุกชาติสมาชิกจะต้องเห็นชอบด้วยกับมตินั้น ถึงจะผ่านออกมาเป็นมติของคณะมนตรียุโรป

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในกรณีที่มีตัวแทนชาติสมาชิกใดไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ข้อกำหนดของคณะมนตรียุโรปเปิดทางให้ชาติสมาชิกอื่นอาจลงมติแทนชาติสมาชิกอีกชาติหนึ่งแทนได้ (แต่ได้แค่ชาติเดียวเท่านั้น) ตามมาตรา 32 ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป

ในกรณีของอังกฤษ การตัดสินใจจะไปตกอยู่ในช่องสุดท้าย ก็คือการลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์นั่นเอง สาเหตุที่ไม่ใช้ 2 หลักแรก เนื่องจากข้อกำหนดในวรรค 3 ของมาตรา 50 ในสนธิสัญญาสภาพยุโรป ระบุอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจเลื่อน หรือเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาใดที่นอกเหนือไปจาก 2 ปี จำเป็นที่ต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศสมาชิก

The Treaties shall cease to apply to the State in question from the date of entry into force of the withdrawal agreement or, failing that, two years after the notification referred to in paragraph 2, unless the European Council, in agreement with the Member State concerned, unanimously decides to extend this period.

การที่ฝรั่งเศสประกาศออกมาว่า ชาติตนเองพร้อมที่จะไม่ต่อเวลาให้อังกฤษ จึงกลายเป็นการเจอทางตันของอังกฤษไปโดยปริยาย รวมถึงปิดช่องทางและความเป็นไปได้ในการเจรจาแบบอื่นๆ ด้วย

หนทางกับเวลาที่เหลือของอังกฤษ

เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในตอนนี้ อังกฤษเหลือหนทางอยู่เพียง 4 เส้นทางเท่านั้น และแต่ละเส้นทางก็มีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก

  • ออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งมีโอกาสมากที่สุดในเวลานี้ เป็นการออกที่สวนมติของสภาผู้แทนราษฎร แต่มตินั้นไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย (แต่โดนนิสัยของอังกฤษ ก็ถือเอามติเป็นเรื่องจริงจัง แบบเดียวกับการลงมติของ Brexit ในปี 2016 ที่ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่รัฐบาลของ Theresa May ก็เลือกทำตาม) หากออกโดยทางนี้จริง ผลกระทบก็จะมีอย่างมหาศาล
  • สภาผู้แทนฯ ลงมติบังคับให้ประธานสภา นำมติเข้ามาอีกครั้ง หนทางที่สองนี้คือการให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ใช้อำนาจเหนือประธานสภา (override) นำมติข้อตกลงของรัฐบาลเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปเข้าสภาอีกครั้ง หนทางนี้มีความเป็นไปได้ในช่วงสั้นๆ และหลายคนก็หวังว่าจะทำได้
  • รัฐบาลขอต่อเวลา พร้อมกับจัดประชามติอีกครั้ง หนทางที่ 3 นี้ ดูจะเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะการลงมติอีกครั้งหนึ่งจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วมติตอนปี 2016 ลงไปทำไม? หรือศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ ซึ่งหนทางนี้นักวิชาการเช่น Richard Bellamy จาก European University Institute ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ และหนทางเดียวเท่านั้นที่จะเปลี่ยนได้ คือเปลี่ยนในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
  • อังกฤษยกเลิกการออกจากสหภาพยุโรป เช่นเคย หนทางนี้ยังเป็นไปได้เสมอ แต่ดูท่าทีของรัฐบาลอังกฤษและผลกระทบทางการเมืองแล้ว อังกฤษก็คงไม่พร้อมจ่ายอีกเช่นกัน

ท่าทีของบางประเทศในยุโรปอย่างเช่น เยอรมนี ที่ออกมาระบุว่าเตรียมพร้อมที่จะสู้ตายจนกว่าจะถึงชั่วโมงสุดท้ายของวันที่ 29 มีนาคม เพื่อให้การออกจากยุโรปของอังกฤษเป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะดูเป็นท่าทีในเชิงบวก แต่ต้องไม่ลืมว่า มาตรา 50 วรรค 3 กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่าการตัดสินใจใดๆ ในกรณีออกจากสหภาพยุโรป จะต้องเป็นไปแบบฉันทามติ

การที่อังกฤษเดินมาถึงทางตันเช่นนี้ ไม่ว่าจะด้วยตัวอังกฤษเอง หรือด้วยข้อกฎหมายของสหภาพยุโรปก็ตาม อาจต้องเตรียมตัวเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดก็เป็นได้

อ้างอิงBBC, CNN, European Union, European Parliament, EUR-Lex, Treaty of the European Union, European Parliament Information Office Finland, Helsinki, European Council (1,2)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0