โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อะไรคือบรรทัดฐาน? อายุ 18 มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่เข้าผับไม่ได้!

Another View

เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

อะไรคือบรรทัดฐาน? อายุ18 มีสิทธิ์เลือกตั้งแต่เข้าผับไม่ได้!

ใกล้จะถึงเทศกาลการเลือกตั้งเข้ามาทุกที (ถ้าไม่เลื่อนกันอีกรอบ) ผู้ใหญ่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไปอาจจะคุ้นเคยกับการเลือกตั้งกันมาบ้างจากหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน บางคนก็ไม่เคยเข้าคูหากาบัตรเลยแม้แต่หนเดียว แม้จะเลยเกณฑ์อายุที่เลือกมาได้แล้วก็ตาม ยังไม่นับหนูๆ วัยรุ่นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ที่จะได้เปิดประสบการณ์เข้าคูหากับเขาบ้าง

แต่เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่าในเรื่องที่สำคัญกับประเทศขนาดนี้ ยังอนุญาตให้วัยรุ่นมาเป็นคนตัดสิน แล้วทำไมเรื่องที่สำคัญกับวัยรุ่น (ส่วนใหญ่) อย่างการออกไปปาร์ตี้กับแสงสียามค่ำคืน ถึงต้องรอไปอีกสองปีจนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์กันอีกเล่า?!

ไม่ใช่ว่ารัฐให้ความเป็นผู้ใหญ่ผ่านการให้เราตัดสินใจเรื่องระดับประเทศตั้งแต่ตอน 18 ปีแล้วหรือยังไงกัน มีสองทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้อยู่

ข้อแรกอยู่ในฝั่งตะวันตก ในประเทศสหรัฐอเมริกา อายุที่ดื่มเหล้าเข้าผับได้ตามกฎหมายอยู่ที่ 21 ปี (สูงกว่าประเทศไทยเราอีก) แต่อายุที่สามารถเลือกตั้งได้อยู่ที่ 18 ปีเท่ากับเรา สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะนอกจากจะเลือกตั้งได้ อายุ 18 ปียังเป็นปีแรกที่สามารถสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ ได้ด้วย

การเลือกตั้งกับการเข้าร่วมกองทัพก็มีความสัมพันธ์กันอยู่ เพราะถ้าลองคิดให้ดีๆ การเลือกตั้งก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถตัดสินได้ว่าประชาชนจะเลือกให้รัฐบาลแบบไหนเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลจากสองพรรคใหญ่ก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับการส่งกองทัพเข้าไปสอดส่องทั่วโลกต่างกัน

ถ้ากองทัพอยากได้เด็กอายุ 18 เข้าร่วมฝึกเพื่อไปรบ ความเท่าเทียมที่ควรจะเป็นคือต้องเปิดให้เด็กอายุ 18 ปี เป็นหนึ่งคนที่จะกำหนดว่าใครจะได้มาเป็นรัฐบาล เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความเห็นต่างกันไปในเรื่องการสู้รบ บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการส่งกองทัพไปสู้ ส่วนบางคนอาจจะยังเห็นความสำคัญ และถึงแม้การเข้าร่วมกองทัพจะเป็นไปด้วยระบบสมัครใจก็ตาม แต่ถ้าเด็ก 18 ไม่เห็นด้วยกับการส่งเพื่อนรุ่นเดียวกันไปรบมากกว่า รัฐก็มีหน้าที่ต้องขยับอายุขึ้นไป

เพราะฉะนั้น การให้เด็ก 18 มาเลือกตั้ง ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย!

ส่วนสาเหตุที่อายุที่รัฐกำหนดให้ดื่มได้อยู่ที่ 21 ปี ก็เป็นเพราะในช่วงยุค 1970 มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในคนขับวัยรุ่นส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเพราะการเมาแล้วขับ (ขณะนั้นสหรัฐอนุญาตให้เด็ก 18 ดื่มเหล้าได้) หลายฝ่ายเลยสนับสนุนให้เพิ่มเกณฑ์อายุที่อนุญาตให้ดื่ม

รัฐบาลเองก็รับลูกกับปัญหานี้เช่นกัน โดยบังคับให้ทุกรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอนุญาตดื่มเหล้าเมื่ออายุ 21 ปีเท่านั้น ถ้ารัฐไหนทำไม่สำเร็จ งบประมาณสร้างทางหลวงทางด่วนจากรัฐบาลกลางก็จะถูกตัด เพราะถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ตามที่งานวิจัยบอก

ข้ามมาที่ตัวอย่างฝั่งตะวันออกอย่างสิงคโปร์ การกำหนดอายุเลือกตั้งดูเหมือนจะกลับกันเป็นหนังคนละม้วน เพราะที่ประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้กำหนดขั้นต่ำอายุที่ออกไปเลือกตั้งได้อยู่ที่ 21 ปี เพราะสิงคโปร์มองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ และการเลือกตั้งสามารถกำหนดอนาคตประเทศได้ ถ้าเลือกตั้งโดยที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากพอ ก็อาจสร้างปัญหาตามมาได้

แต่ตัวเลข 21 ปีนี้ก็เชื่อมโยงกับการเข้าไปเป็นทหารของคนที่นั่นด้วย เพราะตั้งแต่อายุ 13 ปี เด็กผู้ชายสิงคโปร์จะถูกจับตามองจากรัฐถ้าจะออกนอกประเทศ เพื่อกันไม่ให้หลบหนีการเข้าเป็นทหาร จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี ผู้ชายทุกคนจะต้องเข้าไปฝึกทหารไม่มีข้อยกเว้น จนเป็นที่รู้กันว่าผู้ชายที่นั่นจะเริ่มทำงานช้ากว่าผู้หญิง 2 ปี

ที่เป็นอย่างนั้น หลายคนวิเคราะห์ว่าการเพิ่มอายุขั้นต่ำในการเกณฑ์ทหารเป็น 18 ปี ก็เพราะการเข้าไปเป็นทหารจะทำให้เยาวชนเหล่านี้เห็นความสำคัญของชาติมากขึ้น และเมื่อ บรรลุนิติภาวะทางการเมืองในอีกสามปีต่อมา พวกเขาก็จะมีแนวโน้มเลือกตัวเลือกที่โน้มไปในทางเห็นแก่ชาติ บ้านเมือง และสังคมมากขึ้น

จะบอกว่าเป็นการ เลื่อน ให้สูงขึ้นเพื่อให้ เลือก ในสิ่งที่รัฐกล่อมเกลาตอน 18 ก็ไม่ผิด

จากที่ยกตัวอย่างกรอบคิดของทั้งสองชาติในคนละฝั่งโลกมา คงเห็นแล้วว่าการกำหนดอายุขั้นต่ำของการเลือกตั้ง มักจะผูกโยงกับความสามารถในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือเลือกในสิ่งที่รัฐต้องการ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐไว้ใจให้เยาวชนอายุเท่าไหร่ตัดสินใจได้

ในขณะที่เรื่องของการเข้าผับ กินเหล้า ก็มักจะโยงกับความสามารถในการประคองสติ และเป็นขั้นอายุที่รัฐเชื่อว่า คนอายุขึ้นเลขสอง น่าจะมีวัยวุฒิมากพอจะดื่มอย่างรับผิดชอบได้

ส่วนของประเทศไทย คงไม่มีเหตุผลที่ลงลายลักษณ์อักษรอธิบายว่าทำไมเลือกตั้งต้องอายุ 18 ส่วนกินเหล้าต้อง 20  ถ้าคิดในแง่ดี รัฐไทยไม่ว่ายุคไหนๆ ก็ให้สิทธิ์กับเด็กอายุ 18 ในการเลือกตั้งสิ่งที่ดีที่สุดกับประเทศ ซึ่งดูแล้วจะเป็นกรอบคิดเดียวกับสหรัฐอเมริกาที่ผูกโยงกับอายุขั้นต่ำการเป็นทหาร

แต่เอาเข้าจริง การเกณฑ์ทหารก็เป็นสถานะที่บังคับ และไม่ว่าจะเลือกรัฐบาลไหนไป ก็คงไม่มีใครกล้าจะไปแตะเรื่องการเกณฑ์ทหารอยู่ดี โดยเฉพาะในฤดูการเลือกตั้งที่จะมาถึง ที่ดูท่าว่าผู้ที่กุมอำนาจจะได้กลับมาเป็นอีกรอบ 

ไม่ว่าจะ18 หรือ21 มาเลือกผลก็คงไม่ต่างกัน!

ที่มาข้อมูล:

https://www.the101.world/age-of-majority/

https://www.teenvogue.com/story/minimum-drinking-age-legal-21-america-history

https://www.quora.com/Why-can-U-S-citizens-vote-and-enlist-in-the-military-at-18-but-not-legally-drink-alcohol-in-most-states-until-age-21

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0