โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อะเมซซิ่งเมืองไทย! คนไทยยังโดน! ต่างชาติมาเมืองไทย จะโดนขนาดไหน?

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2561 เวลา 01.00 น.

อะเมซซิ่งเมืองไทย! คนไทยยังโดน! ต่างชาติมาเมืองไทย จะโดนขนาดไหน? 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  “การท่องเที่ยว”  เป็นสิ่งที่นำรายได้เข้าประเทศไทยเราอย่างเสมอมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก  “ชาวต่างชาติ”  ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนบ้านเราในช่วงต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่อะไรที่เป็นปัจจัยที่กั้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเหมือนกับไขมันที่อุดเส้นเลือดไม่ให้มันไปไกลมากกว่านี้กันล่ะ

เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกของชาวต่างชาติที่เหยียบลงสนามบิน (เช่นสุวรรณภูมิ) รับกระเป๋าและเดินออกมาเรียกรถแท็กซี่ คิดว่าปัญหาแรกที่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะ “โดน” คืออะไร?

แท็กซี่โกงหรือเหมาค่ามิเตอร์ใช่หรือไม่…ถูกต้อง สาอะไรกับนักท่องเที่ยวกันล่ะ ในเมื่อพวกเรายังโดนอยู่เป็นนิจ นี่คือปัญหาแรกที่พบเจอได้เกือบตลอดเวลาและมักจะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวตาฟ้าๆ เขียวๆ เหล่านั้น

ย้ายไปยังสนามบินอื่นๆ “การต่อรถเข้าเมือง” นอกเหนือจากรถบัสของสนามบินหรือเช่ารถขับเองก็คงหนีไม่พ้นผู้ให้บริการรถของท้องถิ่นเจ้าต่างๆ อย่างที่เป็นประเด็นเผ็ดร้อนก็เช่น “รถแดง”, “รถตุ๊กตุ๊ก” ของเชียงใหม่ ที่ถึงกับ “มึน” ว่าตกลงมาตรฐานการตั้งราคาคือสิ่งใดกัน?

ที่เริ่มกล่าวมาคือประเด็นแรกที่แค่ฟังก็ปวดหัวแล้ว เนื่องจากเป็นปัญหาที่สร้างความ “ไม่ประทับใจ” ให้กับนักท่องเที่ยวมานานนม และเป็นสิ่งที่น่าท้อใจทุกครั้งที่ต้องเจอ

เขยิบเข้ามาในเมืองกันบ้าง… อะไรที่ไม่เอื้อเฟื้อกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ?….

การคมนาคมระหว่างจุดต่อจุดเป็นประเด็นหนึ่งที่คงจะต้องหยิบมาพูดถึง ในเมื่อรถไฟฟ้าบ้านเรายังไม่เสร็จ หรือตามหัวเมืองต่างๆ ก็กำลังอยู่แผนการพัฒนา ทำให้การท่องเที่ยวจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งดูค่อนข้างลำบาก และมึนงงไม่น้อย

ในต่างประเทศที่ไม่ใกล้ ไม่ไกล อาทิ ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, สิงคโปร์ การวางแผนการเดินทางจากจุด A ไป B นั้นง่ายมาก เพราะทุกอย่างเชื่อมต่อกันและสามารถวางแผนได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับเมืองไทยนั้นเนื่องจากการเชื่อมต่อยังลุ่มๆ ดอนๆ จึงอาจไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเท่าใดนัก บางที่ก็น่าไปเที่ยวมากๆ แต่แม้แต่คนไทยเองที่ไม่มีรถก็ยังต้องเกาหัวแกร่กๆ ว่าจะไปยังไงดี (วะ)

การบริหารจัดการของสถานที่ท่องเที่ยวเองก็สำคัญ พูดถึงเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของสถานที่นั้นๆ และพูดถึงในแง่การควบคุมปริมาณคนให้เหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะเห็นผลมากๆ กับสถานที่ทางธรรมชาติต่างๆ อย่างเกาะแก่งทั้งหลายทางภาคใต้ เพื่อลดผลกระทบด้านความเสียหายทางธรรมชาติและทำให้มัน “น่าเที่ยว” อยู่เสมอ

ประเด็นนี้ยังรวมไปถึงเรื่องการบริการนักท่องเที่ยว เขาต้องทำยังไงเมื่อมาเยี่ยมที่นี่, ถ้าต้องการความช่วยเหลือต้องทำอย่างไร, เขาเที่ยวตรงนี้เสร็จจะไปที่อื่นได้ยังไงต่อ ถ้าพูดง่ายๆ ตามศัพท์ที่รัฐบาลชอบใช้ คือต้อง “บูรณาการ” เอาหลายๆ ปัจจัยมาแล้วจัดสรรทุกอย่างให้ครอบคลุมนั่นแหละ

“ความปลอดภัย” ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหาที่สุดไม่ได้เช่นกัน จริงๆ เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นแรกๆ ด้วยซ้ำที่ต้องจริงจังกับมัน เพราะนักท่องเที่ยวที่ถูกทำร้ายหนึ่งคนอาจจะส่งผลให้อีกเป็นสิบๆ คนไม่กล้ามาเที่ยวหรือมีภาพจำในแง่ลบ เหมือนที่เราขยาดโจรในปารีสหรือมิจฉาชีพในโรม และเมื่อมีนักท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย เขาต้องหาคนช่วยเหลือได้ ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งให้ “โดน” แล้วต้องเรียกร้องผ่านทางโซเชียลมีเดีย

การใส่ใจในความปลอดภัยนั้นจะนำมาซึ่งถนนหนทางที่ส่องสว่าง ทางเดินทางไม่น่ากลัว สายไฟที่เป็นระเบียบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พร้อมให้บริการ ซึ่งจะร้อยต่อกันออกไปเหมือนเป็นลูกโซ่ ซึ่งข้อต่อแรกจริงๆ เป็นประเด็นสุดท้ายที่เราอยากพูดถึงนั่นคือ… “จิตสำนึกที่ดี”

นึกภาพถ้าเราเองเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทย เราอยากโดนขูดรีดหรือไม่, อยากยืนงงๆ อยู่ริมถนนว่าเราจะไปยังไงต่อ, เราอยากโดนลากเข้าพุ่มไปทุบหัวชิงทรัพย์หรือเปล่าเราอยากโดนอะไรแบบนั้นไหม? ถ้าไม่….“จงอย่าเป็นเจ้าบ้านแบบนั้น” อย่างสร้างความท้อใจให้กับคนที่มาเยี่ยมประเทศของเรา ถ้าทุกคนพร้อมที่จะเป็นเจ้าบ้านที่ดี มันก็เหมือนเขาซื้อของกับเราแล้วถูกใจ เขาก็กลับมาซื้อซ้ำอีกแถมยังพาเพื่อนมาอุดหนุนด้วยอีกต่างหาก และการท่องเที่ยวของบ้านเราก็จะไปไกลอีกขั้น เหมือนกับประเทศโลกที่หนึ่งที่เราอยากแห่กันไปแบบนั้นแหละ!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0