โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ออสเตรเลีย-ไทย เราจะผ่านโควิด-19 ไปด้วยกัน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 10.46 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 11.05 น.
FILE PHOTO: A university student wears her mortar hat following her graduation ceremony from the School of Commerce at the University of Sydney in Australia
REUTERS/Jason Reed/File Photo

คอลัมน์ ระดมสมอง อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย

เมื่อหลายปีก่อน เซอร์โรเบิร์ต เมนซีส์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้กล่าวไว้ว่า“การได้เป็นมิตรกันด้วยสนธิสัญญาเป็นเรื่องที่ดี แต่การเป็นเพื่อนกันด้วยหัวใจ ด้วยจิตใจ และด้วยจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ดียิ่งกว่า”

ที่จริงแล้วท่านกล่าวคำพูดนี้ตอนที่ท่านพูดถึงประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ในฐานะเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ผมยังรู้สึกว่าคำพูดเหล่านี้ยังคงเป็นจริง แม้ว่าจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ ทั้งคนออสเตรเลียและคนไทยต่างก็ตระหนกกับการที่โรคไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก โรคนี้ได้พรากชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ประเทศของเราได้ฟันฝ่าคลื่นพายุอันเกิดจากไวรัสโควิดได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด

จากดัชนีโควิด-19 โลก (global COVID-19 index) ออสเตรเลียและไทยได้รับการจัดลำดับให้อยู่ลำดับที่ 1 และที่ 2 ของประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุด นั่นเป็นเพราะรัฐบาลไทยและออสเตรเลียได้เลือกการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็จำเป็นในการปิดเมือง

พวกเราทุกคนต้องเสียสละจากการตัดสินใจนี้ แต่นั่นทำให้เราอยู่ในจุดที่เราสามารถฟื้นตัวได้ดี ออสเตรเลียได้ร่วมมือกับไทยในการรับมือกับความท้าทายจากโรคระบาดนี้ ออสเตรเลียให้ทุนมูลค่า 30 ล้านบาท ผ่านโครงการใหม่เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพรมแดนของไทย ซึ่งเป็นดังด่านหน้าในการป้องกันไทยจากภัยคุกคามข้ามพรมแดน รวมทั้งทุนการศึกษาของออสเตรเลียที่จะสนับสนุนให้แพทย์ของไทยเดินทางไปศึกษาต่อด้านระบาดวิทยาในออสเตรเลีย

และรับการฝึกสอนเพื่อช่วยไทยรับมือกับโรคโควิด-19 และเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตในภายหน้า รัฐบาลของเราทั้งสองประเทศได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้คนออสเตรเลียและคนไทยที่ติดค้างหลายร้อยคนได้เดินทางกลับประเทศตน ช่างเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้ช่วยให้ผู้คนกลับมาอยู่ร่วมกับคนที่รัก และมีความสุขกับการได้กลับบ้านตน

นอกจากความร่วมมือทวิภาคีอันใกล้ชิดนี้แล้ว ออสเตรเลียและไทยยังได้ร่วมมือกันในระดับนานาชาติ ประเทศของเราทั้งคู่ได้ให้การสนับสนุนข้อมติสมัชชาอนามัยโลกในการตรวจสอบต้นตอของโรคไวรัสโควิด-19 ที่เป็นอิสระ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ผลักดันให้มีการตรวจสอบนี้ ข้อมตินี้ยืนยันที่จะให้มีการตรวจสอบที่ครอบคลุม เป็นอิสระ และปราศจากอคติต่อโรคโควิด-19

ประชาคมโลกจำเป็นต้องเข้าใจว่าโรคระบาดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะด้วยความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรคระบาดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ข้อมติได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า จะระบุหาต้นตอของโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

ประเทศ 145 ประเทศซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ ได้ลงนามในฐานะเจ้าภาพร่วมของข้อมตินี้ ถือได้ว่านี่เป็นช่วงเวลาแห่งฉันทามติของโลกอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่โรคระบาดนี้ได้ชี้ชัดให้เราเห็นถึงแง่มุมที่ดำมืดบางมุมของพฤติกรรมแห่งรัฐ เมื่อไม่นานนี้ ออสเตรเลีย ไทย และอีก 130 ประเทศและผู้สังเกตการณ์ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของสหประชาชาติฉบับหนึ่ง ที่เตือนว่าโรคโควิด-19 “ได้สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอม และวิดีโอที่ตัดต่อเพื่อบ่มเพราะความรุนแรงและสร้างความแตกแยกในชุมชน”

บางประเทศได้ใช้โรคระบาดมาบังหน้าเพื่อเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและคำลวง เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานที่สรุปว่าองค์กรและรัฐบาลต่างประเทศ โดยระบุถึงรัสเซียและจีน ที่ได้ใช้ปฏิบัติการปล่อยข้อมูลบิดเบือนอย่างมีเป้าประสงค์เพื่อบ่อนทำลายการถกเถียงกันตามแนวทาง ประชาธิปไตย รวมทั้งทำให้สังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย และทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูดีขึ้น

1 วันให้หลัง สื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ได้เปิดเผยว่า มีบัญชีผู้ใช้กว่า 32,000 บัญชี ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารซึ่งภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เราต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะโรคโควิด-19 การเผยแพร่ข่าวปลอมและการกล่าวโทษผู้อื่นแบบไร้เหตุผลว่า เป็นต้นกำเนิดไวรัสนี้ รังแต่จะทำให้เป้าหมายที่เรามีร่วมกันต้องถูกทำลายลง

ออสเตรเลียต้องการที่จะร่วมมือกับไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ฟื้นคืนการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ และท้ายที่สุดคือการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อให้นักท่องเที่ยว ครอบครัว นักธุรกิจ และนักเรียน/นักศึกษาได้กลับมาเดินทางระหว่างประเทศของเราได้อย่างเสรีอีกครั้ง

กลุ่มนักเรียน/นักศึกษามีความสำคัญต่อออสเตรเลีย และเรากำลังหาทางให้นักศึกษาชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวไทยให้สามารถกลับมายังออสเตรเลีย การกล่าวอ้างเมื่อไม่นานนี้ของรัฐบาลจีนที่ว่า นักท่องเที่ยวและนักศึกษาชาวจีนควรพิจารณาการเดินทางไปยังออสเตรเลีย ด้วยเหตุที่มีการเหยียดเชื้อชาติ อันเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลก และยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก

ออสเตรเลียอ้าแขนต้อนรับนักศึกษาและนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ รวมทั้งนักศึกษาจากจีนจำนวน 260,000 คนซึ่งได้ลงทะเบียนเมื่อปี 2562 ประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับจากออสเตรเลียมีคุณค่าและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราได้เห็นด้านที่ดีที่สุดของจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ พวกเราทุกคนต่างก็เสียสละเล็ก ๆ น้อย ๆ และได้เห็นคนอื่น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องเสียสละมากกว่าพวกเรามาก

ถึงอย่างไรก็ตาม ความท้าทายนี้ยังไม่จบลง เราจะต้องเดินตามเส้นทางนี้ต่อไป รวมถึงคงความร่วมมือและความมีวินัยที่ไทยและออสเตรเลียได้แสดงมาตลอด ถ้าเราร่วมมือกัน เราจะชนะโควิดไปด้วยกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0