โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ออทิสติคเทียม ภาวะนี้มีจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 04.45 น. • Motherhood.co.th Blog
ออทิสติคเทียม ภาวะนี้มีจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

ออทิสติคเทียม ภาวะนี้มีจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

ในยุคนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักโรคออทิสติคในเด็ก มันคือภาวะของพัฒนาการที่ผิดปกติทางสมองซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ "ออทิสติคเทียม" กลายมาเป็นอีกภาวะหนึ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่ให้ความสนใจ หลายคนสงสัยว่ามันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จริงหรือ และจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร มาหาคำตอบในบทความนี้ได้เลยค่ะ

ภาวะนี้เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำอย่างไม่ถูกต้อง
ภาวะนี้เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ทำอย่างไม่ถูกต้อง

ออทิสติคเทียมคืออะไร ?

ภาวะออทิสติกเทียมเป็นกลุ่มอาการของเด็กเล็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ทั้งในด้านภาษาและสังคม เช่น เด็ก 1 ขวบ ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้  และหมกมุ่นอยู่แต่กิจกรรมของตัวเอง ไม่มองหน้าผู้คน ไม่ทำตามคำสั่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกันก็จะเห็นความผิดปกติชัดเจน อาการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งเร้าที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของออทิสติคขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด สาเหตุหลักมักจะพบว่าการเลี้ยงดูมีปัญหา ไม่ได้รับการกระตุ้นเท่าที่ควรจากการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่กับโทรทัศน์โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารประเภทต่าง ๆ มากจนเกินไป พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาพูดกับลูก ปล่อยให้พี่เลี้ยงหรือผู้สูงอายุดูแล หรือพ่อแม่ทำงานหนักจนต้องฝากลูกไว้กับหน้าจอแท็บเล็ต ให้เป็นผู้ช่วยดูแลลูก หวังให้ลูกอยู่นิ่งได้นาน ๆ จะได้ไม่กวนเวลาพ่อแม่ทำงาน ทำให้เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นเรื่องการสื่อสาร และเด็กบางคนอยู่แต่กับบ้าน ไม่มีโอกาสได้ออกนอกบ้าน ทำให้เด็กไม่รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีปํญหาพัฒนาการล่าช้า ทั้งทางด้านภาษาและสังคม โดยเด็กจะมีพฤติกรรมและความสนใจที่แคบและจำกัด อีกทั้งยังเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ จากการที่สมองของเด็กจดจำอยู่แต่สิ่งเดิมจนไม่เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัยอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะมีการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กในเดียวกันที่มีการใช้ชีวิตแบบปกติ มีโอกาสในการเข้าสังคมอย่างเหมาะสมตามวัย หรือได้เล่นนอกบ้านร่วมกับเด็กอื่น ๆ การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกวิธีเป็นสาเหตุหลักของปัญหานี้ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ต่างจากออทิสติคปกติอย่างไร ?

ความแตกต่างจะอยู่ที่สาเหตุของการเป็นโรคที่จะไม่เหมือนกัน โดยออทิสติกเทียมนั้นเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ต่างกับเด็กที่เป็นออทิสติคปกติ เพราะเด็กกลุ่มนี้เป็นออทิสติคมาจากการพัฒนาของร่างกายและสมองของเด็กเอง ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือตั้งแต่แรกเกิด แต่ออทิสติคเทียมนั้นสามารถเป็นได้เมื่อเด็กเกิดมาแล้วแต่ได้รับการดูแลที่บกพร่อง

แม้จะให้ลูกอยู่กับผู้สูงอายุ ก็ควรหากิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทำร่วมกัน
แม้จะให้ลูกอยู่กับผู้สูงอายุ ก็ควรหากิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทำร่วมกัน

อาการที่ควรสังเกต

  • ไม่สบตาเวลามีคนพูดด้วย
  • ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ
  • พูดช้า อายุ 2 ขวบ แต่ยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่เป็นภาษา
  • ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้เมื่อถึงวัยที่ต้องเริ่มส่งเสียง
  • ไม่มีการแสดงท่าทางหรือความพยายามจะส่งเสียงเรียก
  • ไม่ตอบสนองต่อแสง สี เสียง ที่เข้ามาเป็นสิ่งเร้า
  • ไม่สนใจสิ่งรอบตัว เรียกแล้วมักไม่หัน
  • ไม่มีการเลียนแบบเสียงหรือท่าทางของคนรอบข้าง
  • เล่นตามบทบาทสมมติไม่เป็น เช่น เล่นพ่อแม่ลูก เล่นเป็นหมอกับตุ๊กตาคนไข้
  • ไม่เล่นหรือพูดคุยกับเด็กคนอื่น ๆ ชอบปลีกตัว
  • ไม่สามารถบอกถึงความต้องการของตนเองได้ แต่จะใช้วิธีอาละวาดแทน
  • มีวิธีแสดงออกที่ต่างจากเด็กอื่นที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน
  • ร้องไห้งอแงแบบไม่มีเหตุผล แสดงความไม่ได้ดั่งใจอย่างรุนแรงกว่าเด็กอื่น ๆ

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการตรงตามนี้หลายข้อ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะออทิสติคเทียมแล้ว ถึงเวลาที่จะพาเขาไปให้แพทย์ตรวจอาการให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะเด็กที่เป็นออทิสติกเทียมหากได้รับการรักษาเเละการกระตุ้นอย่างถูกต้อง อาการก็จะดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก็จะกลับมาเป็นเด็กปกติได้

หาของเล่นเสริมพัฒนาการมาให้เขาเล่นแทนการอยู่หน้าจอ
หาของเล่นเสริมพัฒนาการมาให้เขาเล่นแทนการอยู่หน้าจอ

วิธีป้องกัน

  • ไม่ควรให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เล่นหรือใช้งานโทรศัพท์และแท็บเล็ต หากอายุมากกว่า 2 ขวบแล้ว สามารถให้เล่นได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรนานเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • หากิจกรรมหรือของเล่นเสริมพัฒนาการให้ลูกทำเป็นหลัก เช่น วาดรูประบายสี ปั้นแป้งโดว์ ต่อบล็อก ยังไม่ควรให้เขาดูโทรทัศน์เป็นกิจวัตร
  • พ่อแม่หรือญาติที่ช่วยเลี้ยงดูต้องเล่นและพูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาทึ ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อฝึกการโต้ตอบ กระตุ้นให้เขารู้จักสื่อสารกับผู้อื่น
  • แม้จะยังไม่ใช่เด็กวัยเรียน ก็หาโอกาสพาลูกเข้าสังคมกับเด็กวัยเดียวกันบ้าง ไม่ให้เขาอยู่แต่ในบ้านกับพี่เลี้ยงหรือผู้สูงอายุ
  • พยายามฝึกให้หยุดร้องไห้แบบงอแงเมื่อเด็กมีอาการไม่ได้ดั่งใจหรือร้องไห้งอแงแบบไม่มีเหตุผล ในทางกลับกัน เมื่อเขาสามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ควรทำก็ต้องมีการชมเชยด้วย
  • หมั่นเอาใจใส่และสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกอยู่เสมอ

การรักษาภาวะออทิสติคเทียมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจกินเวลานานเป็นปี คุณพ่อคุณแม่ควรมีความเข้าใจและอดทน อาการของเด็กจะดีขึ้นเมื่อเขาสามารถสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ มีการแสดงออกทางพฤติกรรมและอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมตามวัย สามารถทำกิจกรรมชีวิตประจำวันได้ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าหายจากภาวะออทิสติคเทียมแล้วค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0