โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ออกกำลังกายอย่างไรให้ปลอดภัยในผู้ป่วยโรคหัวใจ

INN News

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 09.31 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 09.07 น.
4

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ทั้งสุขภาพกายใจและป้องกันโรคหัวใจ ช่วยให้มีชีวิตยืนยาว แม้แต่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจก็สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรเน้นความแรงของการออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีการออกกำลังกายที่เกิดประโยชน์ควรเริ่มด้วยการวอร์มร่างกายให้พร้อมประมาณ 5-10 นาที แล้วตามด้วยระยะการออกกำลังกายที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และควรหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก ทั้งนี้ ควรเริ่มออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากนั้นหากร่างกายปรับสภาพกับความแรงที่เพียงพอแล้ว ค่อยเพิ่มเวลาของการออกกำลังกายจนสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง และหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถลดการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว และลดอัตราการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจ

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกกำลังกาย สามารถทำได้ตามความเหมาะสมของวัย สภาพร่างกายในความแรงที่เพียงพอต่อการกระตุ้นการพัฒนาของร่างกายและหัวใจโดยไม่เสี่ยงอันตราย ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและพึ่งฟื้นตัวจากภาวะเฉียบพลันทางหัวใจ หรือเพิ่งรับการผ่าตัด ไม่ว่าจะด้วยการใส่สายสวนหัวใจ หรือผ่าตัดหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสม และปลอดภัยต่อการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติในขณะออกกำลังกาย เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมากขึ้น ควรหยุดออกกำลังกายทันที และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพโดยรวม แต่พบว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้างในผู้ป่วยโรคหัวใจ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรออกกำลังกายด้วยความระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไปตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และรู้จักประเมินสมรรถภาพของตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการยืดอายุผู้ป่วย ตลอดจนรักษาสุขภาพให้แข็งแรงใกล้เคียงหรือเท่ากับก่อนป่วยเป็นโรคหัวใจอีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0