โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อสมท เปิดที่ดิน 50 ไร่ เดินเกมใหม่ "ขาย-ร่วมทุน" เติมรายได้

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 21 ก.พ. 2562 เวลา 13.27 น.
mar02210262p1

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ธุรกิจทีวีต้องตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก มาหลายปีติดต่อกัน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าบางกลุ่มลดงบฯโฆษณาลง ขณะที่บางสินค้าก็หันไปใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์อย่างชัดเจน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่ของสื่อทีวีถูกหั่นลงเรื่อย ๆ ทั้งจากจำนวนผู้เล่นบนสมรภูมิเดียวกัน และผู้ท้าชิงใหม่อย่างสื่อออนไลน์

ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นในธุรกิจทีวีตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ การลดบุคลากร ตัดลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น เพื่อให้องค์กรมีต้นทุนที่น้อยที่สุด เรียกว่า ยอมตัดแขน ตัดขา เพื่อรักษาธุรกิจ

“เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมโฆษณาที่เป็นรายได้ของธุรกิจทีวีไม่เติบโต แต่ต้นทุนของช่องทีวีเพิ่มขึ้น ดังนั้น สิ่งที่หลาย ๆ ช่องทำ คือ พยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด ทั้งลดบุคลากร บริหารจัดการภายในเพื่อให้ช่องเดินต่อและสามารถแข่งขันได้

ขณะที่ อสมท ถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่การปรับตัวทำได้ช้า ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ ปรับแนวทางการสร้างรายได้ใหม่ ด้วยการนำทรัพยากรที่มีมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเติมรายได้ โดยแนวทางการสร้างรายได้ปีนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาคอนเทนต์

ส่วนที่ 2 คือ การนำหน่วยธุรกิจออกมาหารายได้เพิ่ม ล่าสุดได้ปรับโครงสร้างทีมไนน์เอ็นเตอร์เทนใหม่ เพื่อผลิตคอนเทนต์ข่าวบันเทิงป้อนให้ช่องอื่น ๆ มากขึ้น และอนาคตเตรียมนำคอนเทนต์ของสำนักข่าวไทย ออกไปสร้างรายได้อีกทาง

สุดท้าย คือ โครงการพัฒนาที่ดินย่านรัชดาฯ-พระราม 9 จำนวน 50 ไร่ โดยความคืบหน้าได้ให้สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สำนักงานศูนย์วิจัยฯ) ได้ศึกษาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่ดิน 50 ไร่ พบว่า ถนนรัชดาภิเษกกำลังกลายเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจการค้าแห่งใหม่ (New CBD : central business district) ประกอบกับที่ดินดังกล่าวเป็นแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส้มด้วย

ดังนั้นจึงควรนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล (Digital Hub) เพื่อต่อยอดจากธุรกิจสื่อของ อสมท โดยเบื้องต้นมี 2 โมเดลต้นแบบ คือ “Digital Media City” ของเกาหลี และ Media City UK (อังกฤษ) ซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน ทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม และอาคารสำนักงาน

ขณะที่อีกแนวทาง คือ การแบ่งโซนเพื่อพัฒนาโครงการ เป็นศูนย์การค้า ศูนย์การเรียนรู้ โรงแรม อาคารสำนักงาน พื้นที่สีเขียว

ส่วนขั้นตอนการพัฒนาที่ดิน 50 ไร่จากนี้ไป คือ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายนนี้ ตามด้วยการนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ บมจ.อสมท หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดือนพฤษภาคม-กันยายน และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมประมูลเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 ในส่วนที่ดิน 20 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งบริษัท อสมท นั้นจากแนวทางศึกษาระบุว่า ควรพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม สูง 35 ชั้น จำนวน 4,000 ยูนิต

นอกจากแนวทางการพัฒนาที่ดินร่วมกับเอกชนแล้ว อสมท ก็สนใจแนวทางการขายที่ดินด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

“เขมทัตต์” ย้ำว่า อสมท พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งศักยภาพบุคลากร ที่ดิน มาสร้างรายได้ใหม่ เพื่อประคองธุรกิจสื่อที่ยังมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงต่อเนื่องอีกหลายปี ดังนั้นการได้เงินสดเข้ามาโดยเฉพาะจากโครงการพัฒนาที่ดินก็จะทำให้ธุรกิจหลักมีสภาพคล่องและสามารถเดินหน้าต่อได้

สอดรับกับ “นันทสิทธิ์ เล็กศรีสกุล” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และการเงิน และปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า แนวโน้มธุรกิจของ อสมท ปีนี้น่าจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยบวกทั้งจากการเลือกตั้งและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ช่วงครึ่งปีแรกก็จะมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

“สำหรับที่ดิน 50 ไร่ถือเป็นของหวาน เป็นโบนัส แต่ท้ายที่สุด อสมท ต้องสร้างรายได้และต้องเติบโตได้ด้วยตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลประกอบการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า รายได้ของ อสมท ลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2559 มีรายได้ 2,891 ล้านบาท ขาดทุน 758 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุน 2,543 ล้านบาท และไตรมาส 3 ปี 2561 มีรายได้ 1,821ล้านบาท ขาดทุน 387 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจสื่อที่เป็นรายได้ก้อนใหญ่ไม่เติบโต สิ่งที่ อสมท ทำได้ คือ การใช้ทรัพยากรที่มีมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม หารายได้ใหม่ ๆ เพื่อประคองธุรกิจ ท่ามกลางเม็ดเงินสื่อทีวีที่ไม่โต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0