โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อวสานของหุ้นโรงงาน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Stock2morrow

อัพเดต 23 พ.ค. 2562 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 03.41 น. • Stock2morrow
อวสานของหุ้นโรงงาน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อวสานของหุ้นโรงงาน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธุรกิจโรงงานที่ผลิตสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนหรือสินค้าสำเร็จรูปให้คนอื่นเพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายหรือนำไปขายในยี่ห้อของคนจ้างที่เรียกว่าเป็น OEM (Original Equipment Manufacturing) นั้น ต้องถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยมากว่า 30 ปี เริ่มจากการที่ญี่ปุ่นต้อง “ย้ายฐานการผลิต” มายังประเทศไทยเนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าในญี่ปุ่นสูงขึ้นมากอานิสงค์จากค่าเงินเยนที่ถูกบีบให้สูงขึ้นอย่างกระทันหันจากข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และนั่นทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งการผลิตต้นทุนต่ำเพื่อการส่งออกของประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การ “เปิดประเทศ” ของจีนและเกือบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลัง ๆ นี้ ได้ทำให้เกิด “คู่แข่ง” มากมายที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าซึ่งทำให้สามารถแย่งการลงทุนไปจากไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันผมคิดว่าไทยไม่น่าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของคนที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียตนามและอาจจะรวมถึงอินโดนีเซีย

 

ประชากรไทยที่น่าจะแก่ตัวมากที่สุดประเทศหนึ่งและอัตราการเกิดน้อยที่สุดเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในอัตราที่สูงที่สุดและหาแรงงานได้ยากน่าจะทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนเพื่อทำโรงงานน้อยลง สถานการณ์แบบนี้คงจะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานและในที่สุดสังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผมคิดว่า “ธุรกิจโรงงาน” ที่ต้องใช้คนจำนวนมากผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเพื่อการส่งออกน่าจะค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องยาวนานและกลายเป็นอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” และแม้แต่โรงงานที่เน้นเฉพาะการขายในประเทศเองก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เพราะในระยะหลัง ๆ สินค้าที่ขายในประเทศที่มีราคาถูกนั้น จำนวนมากผลิตจากจีนเนื่องจากต้นทุนต่ำกว่ามาก คนที่ขายสินค้าซึ่งเคยสั่งซื้อจากโรงงานในประเทศจึงหันไปสั่งซื้อจากจีนหรือประเทศที่ผลิตได้ถูกกว่า

 

ในส่วนของ “หุ้นโรงงาน” ในตลาดหลักทรัพย์นั้น แม้ว่าจะไม่มีหุ้นขนาดใหญ่มากนัก แต่ก็มีหุ้นที่ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนหรือทำ OEM กระจายกันในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ในอดีตเองนั้น หุ้นโรงงานก็เป็นหุ้นที่มีความคึกคักและมีคนสนใจเล่นหรือลงทุนพอสมควรโดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มที่เน้นขายในประเทศเพราะเป็นธุรกิจที่สามารถส่งออกขายไปทั่วโลก แต่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หุ้นโรงงานก็เงียบเหงาลงมาก แทบจะไม่มีการพูดถึงในแวดวงของนักเล่นหุ้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ซบเซาลงอย่างหนักแม้ว่าตัวธุรกิจเองก็ยังสามารถทำกำไรพอใช้ได้และราคาหุ้นก็ไม่แพงและหลายตัวดูเหมือนจะถูกกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉลี่ย

 

การที่หุ้นโรงงานไม่ค่อยจะเคลื่อนไหวผันผวนคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยไม่สนใจเข้ามาเล่น ในด้านของนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศเองนั้น หุ้นโรงงานก็ดูเหมือนว่าจะมีขนาดเล็กเกินไปที่จะทำให้พวกเขาอยากเข้ามาลงทุน ดังนั้น แม้ว่าหุ้นหลายตัวมีราคาไม่แพงและจ่ายปันผลงดงาม มันก็มักจะ “ไม่ไปไหน” เหตุผลคงเป็นเพราะว่ามันไม่ค่อยโตและหลายตัวอาจจะถึงจุดอิ่มตัวและอาจจะค่อย ๆ ลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้น แม้แต่คนที่เป็น VI ที่เน้นลงทุนระยะยาวและเน้นปันผลก็มักจะไม่ค่อยสนใจที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หุ้นตัวเล็กจำนวนมากปรับตัวลงหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หุ้นโรงงานก็ไม่ได้ปรับตัวลงมากมายนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากการที่มันไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปแรงก่อนหน้านั้น และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผลประกอบการของหุ้นโรงงานก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร หลายตัวก็ยังมีกำไรและจ่ายปันผลงาม

 

สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แสดงให้เห็นถึงผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคหลายรายมีผลกำไรที่ “น่าผิดหวัง” ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นปรับตัวลดลงอย่างแรง และนี่สำหรับผมแล้ว มันอาจจะเป็นสัญญาณว่า ธุรกิจที่เป็นโรงงาน แม้ว่าจะเป็นกิจการที่อ้างว่าตนเองเก่งและยังมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้ ก็อาจจะไม่จริงหรือเริ่มสูญเสียความสามารถนั้นลงเรื่อย ๆ จริงอยู่ตัวบริษัทเองอาจจะมีความสามารถใช้ได้ แต่การแข่งขันในระดับโลกนั้น ความสามารถของบริษัทอาจจะยังไม่เพียงพอ สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศก็น่าจะมีผลมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็แค่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีคิดเป็นอาจจะ 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็อาจจะเพียงพอที่จะทำลายความสามารถในการแข่งขันไปไม่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ค่าเงินลดลงซัก 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพราะผลของมันคือต้นทุนของเราอาจจะสูงขึ้น 10% เทียบกับคู่แข่งซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่มากในธุรกิจที่มีมาร์จินหรือผลกำไรต่ำอยู่แล้ว เป็นต้น

 

แน่นอนว่าไม่ใช่ธุรกิจหรือหุ้นโรงงานทุกแห่งจะ “แพ้” หมด โรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ “เหนือกว่า” และพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลาก็น่าจะยังอยู่ได้ ต้นทุนหลักเช่นค่าแรงที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งบางประเทศก็อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติและ/หรือหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำงานซึ่งทำให้ต้องการคนน้อยลงและทำให้เราไม่เสียเปรียบ เช่นเดียวกัน ความสามารถในการจัดการเช่น การรักษาคุณภาพและการตรงต่อเวลาก็อาจจะทำให้เรายังสามารถแข่งขันได้แม้ว่าต้นทุนการผลิตเราอาจจะยังสูงกว่าคู่แข่ง แต่การที่ธุรกิจโรงงานจะเติบโตก้าวหน้าขึ้นนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วผมคิดว่าเป็นไปได้ยากมากเพราะปัจจัยที่เอื้ออำนวยทั้งหลายที่เราเคยมีในอดีตนั้นนับวันก็จะถดถอยลงเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือกำลังแรงงานคนหนุ่มสาวที่ดูเหมือนจะลดลงและไม่เห็นว่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้

 

ความอยู่รอดและยังอาจจะเติบโตขึ้นได้บ้างของเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในระยะยาวแล้วผมคิดว่าอยู่ที่ภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะทำให้สัดส่วนของคนที่ทำงานหรือรายได้ของประชาชาติในภาคบริการจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในขณะที่ภาคการผลิตจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งนั่นก็จะทำให้กิจการและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงงานจะค่อย ๆ ถดถอยลง โรงงานเดิมที่มีอยู่คงไม่หายไปอย่างรวดเร็ว โรงงานที่เน้นผู้ใช้ในประเทศก็ยังน่าจะได้กำไรและจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้แต่จะโตขึ้นเร็วนั้นก็คงยาก โรงงานบางอย่างเช่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ก็อาจจะถูกกระทบอย่างเร็วและแรงจนถึงกับแย่ไปเลยนั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้ มองแบบกว้าง ๆ แล้วดูเหมือนว่า Upside หรือโอกาสที่หุ้นจะดีขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวนั้นน่าจะยากกว่าโอกาสที่หุ้นอาจจะตกต่ำลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นโรงงานจึงน่าจะต้องดูว่าอย่างน้อยหุ้นจะต้องไม่แพงหรือถูกและต้องมีปันผลค่อนข้างดี หุ้นโรงงานที่มีราคาแพงนั้นไม่น่าจะคุ้มค่าเลย อาการแบบนี้ถ้าจะให้นิยามผมก็คิดว่ามันคือ “อวสานของหุ้นโรงงาน”

===========================================

อวสานของหุ้นโรงงาน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในมุมมองของ Value Investor

ทีมา : Thai VI

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor (VI) 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0