โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ นักแสดงผู้เพียร(ละเมิด)เล่า ในสิ่งที่(เขา)ห้าม

The Momentum

อัพเดต 10 ธ.ค. 2561 เวลา 12.37 น. • เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2561 เวลา 12.37 น. • สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

In focus

  • ผลงานละครเวทีในแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ทำให้ชื่อของ ‘กอล์ฟ – อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’ ศิลปินแห่งกลุ่มบี-ฟลอร์ เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็ก ที่ดึงดูดให้ผู้คนสนใจศิลปะในรูปแบบละครเวที
  • ในปี 2558 เมื่ออรอนงค์ตัดสินใจนำละครเวทีเรื่อง ‘บางละเมิด’ กลับมาแสดงอีกครั้ง (จากที่แสดงครั้งแรกในปี 2554) เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทั้งผู้ชื่นชอบงานศิลปะ และจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ตบเท้าเข้ามาบังคับให้ทำจดหมายขออนุญาต ก่อนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้าสังเกตการณ์ และอัดวิดีโอการแสดงทุกรอบ
  • กลุ่มบีฟลอร์ที่อรอนงค์เป็นสมาชิกอยู่ เน้นการสื่อสารด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ซึ่งแตกต่างจากละครที่มีคาแรกเตอร์ แต่ต้องโฟกัสที่ร่างกายและจิตใจ
  • สำหรับกลุ่มละครเล็กๆ ที่หยิบจับประเด็นสังคมมาสื่อสาร ปลายทางของผลงาน ที่ความคาดหวังที่จะสร้างบทสนทนาออกไปให้คนแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าทำได้ ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการได้รางวัลหรือมีคนดูเยอะๆ

นับตั้งแต่ละครเวที ‘บางละเมิด’ ‘สวรรค์อาเขต’ จนถึงบทละครเวทีน้อยใหญ่ รวมถึงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตอีกหลายชิ้น ส่งให้ชื่อของ ‘กอล์ฟ – อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์’ ศิลปินแห่งกลุ่มบีฟลอร์ เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็ก ที่ดึงดูดให้ผู้คนสนใจศิลปะในรูปแบบละครเวที

ในปี 2558 เมื่ออรอนงค์ตัดสินใจนำละครเวทีเรื่อง ‘บางละเมิด’ กลับมาแสดงอีกครั้ง (จากที่แสดงครั้งแรกในปี 2554) เธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทั้งผู้ชื่นชอบงานศิลปะ และจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ตบเท้าเข้ามาบังคับให้ทำจดหมายขออนุญาต ก่อนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้าสังเกตการณ์ และอัดวิดีโอการแสดงทุกรอบ

ต้นปี 2561 เธอสะท้อนอีกแง่มุมของสรวงสวรรค์ ผ่านบทละครชื่อ ‘สวรรค์อาเขต’ คำว่าสวรรค์ที่ช่างดูงดงาม ดึงดูดทุกคนให้เพียรทำดี เพื่อที่วันหนึ่งเราอาจจะได้มีโอกาสรู้จักกับสวรรค์ แต่ถ้าหากประตูสวรรค์ไม่ได้เปิดต้อนรับทุกคนล่ะ คนที่ถูกลืมเลือน ผลักไส และกลบฝัง ไม่มีแม้โอกาสได้รับการพิจารณาจากทวยเทพยดา สำหรับพวกเขา แล้วสวรรค์ยังจะสวยงามและน่าขึ้นไปเสวยสุขไหม

The Momentum นัดพูดคุยกับอรอนงค์ภายหลังเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ‘After Light’ ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ที่เธอร่วมแสดง—จบลง แม้คำถามของเราจะวนเวียนอยู่กับปัญหาที่รุมเร้าเธอ ทั้งการแทรกแซงและความหวาดระแวงของภาครัฐที่ทำให้เธอต้องเคยเปลี่ยนบทละครอย่างกะทันหัน ความสุ่มเสี่ยงที่เธอต้องยืนหยัดแบกรับเพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวไม่เป็นธรรม และความอึดอัดที่เสรีภาพในฐานะศิลปินถูกลิดรอน แต่เธอกลับไม่ดูอ่อนล้าหรือทดท้อ แววตาของเธอยังคงลุ่มลึก มุ่งมั่น มีชีวิตชีวา แต่มันก็ไม่อาจกลบความโหยหาเสรีภาพที่เร้นอยู่

อรอนงค์เล่าย้อนถึงเส้นทาง ‘คนละคร’ ของเธอว่า เริ่มต้นตั้งแต่เรียนคณะสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เราไม่ได้เรียนมาด้านการแสดง ชมรมการแสดงเราก็ไม่ได้อยู่ ก่อนเข้ามหา’ลัย เราก็รู้สึกว่าการแสดงน่าจะเป็นเรื่องสนุกดี พอเข้ามหา’ลัยก็เริ่มเล่นละครครั้งแรกตั้งแต่ตอนอยู่ปีหนึ่ง ไม่ว่าจะละครคณะ ละครมหา’ลัย หรือเวลาที่จะทำซีนเวิร์กเราก็ไปสมัคร พอได้มีโอกาสเล่นซีนเวิร์กสั้นๆ เรื่องหนึ่ง หลังจากนั้นก็กู่ไม่กลับเลย ใครชวนไปเล่นละคร ก็ตอบตกลงตลอด การแสดงเป็นเหมือน passion ส่วนตัวของเรา”

ในแต่ละครั้งที่สวมบทบาทเป็นตัวละคร มันทำให้ความรู้สึกคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม

ถ้าเป็นการแสดงประเภทที่มีคาแรกเตอร์ เราก็ต้องสวมบทบาท แต่ก็จะมีการแสดงอีกหลายๆ ประเภทที่ไม่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนแน่นอน อย่างกลุ่มบีฟลอร์ที่เราทำงานด้วยตอนนี้ ก็จะใช้ร่างกาย ใช้การเคลื่อนไหวเป็นหลักในการสื่อสาร มันก็จะไม่เหมือนละครที่มีคาแรกเตอร์ ตรงนี้เราก็จะโฟกัสที่ร่างกายและจิตใจแทน

ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกที่เปลี่ยนไป จะอยู่ในช่วงที่เราซ้อม เพราะมันเป็นช่วงที่เราตามหาว่าจะไปยังไง จะเล่นยังไง คล้ายๆ การทำแล็บ และช่วงซ้อมก็ทำให้เราคิดว่า มันรู้สึกยังไงนะ โมเมนต์ตรงนี้ทำให้เราเกิดความรู้สึกอะไร หรืออย่างท่านี้เราไม่เคยทำได้เลย เช่น เราไม่เคยตีลังกาได้เลย แต่พอวันหนึ่งเราซ้อมจนเราทำได้ มันเหมือนกับว่าโลกมันเปลี่ยน ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเองเล็กๆ

*แล้วความรู้สึกตอนขึ้นเวทีแสดงสดล่ะ *

ท้าทาย การแสดงมันคือความสด มันคือการอยู่กับโมเมนต์ตรงหน้า เราก็จะรู้ว่ามันไม่มีทางที่จะเหมือนเดิมในทุกๆ ครั้ง โครงสร้างในการแสดงเหมือนเดิม แต่คนดูที่เราแสดงให้ดูก็ไม่เหมือนกัน บรรยากาศในวันนั้น และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงในทุกๆ รอบ ซึ่งเราว่า ‘มันส์ดี’ ทำให้เรารู้สึกว่ามันตื่นตัว ทุกวันนี้ก่อนที่จะออกไปแสดงก็ยังตื่นเต้นอยู่ แต่เป็นความตื่นเต้นในทางที่ดี

ระหว่างศิลปะกับสังคม คุณคิดว่าสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

สมมติว่าคนที่มาดูงานศิลปะ แล้วเขารู้สึกว่ามันทำให้เขาอยากพูดอะไรสักอย่าง หรือแค่รู้สึกอะไรบางอย่าง เราว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว บางทีเราไม่สามารถพูดบางเรื่องในชีวิตประจำวันได้ เพราะไม่รู้ว่าจะบอกเล่ายังไง แต่งานศิลปะมีรูปแบบที่บางทีไม่จำเป็นต้องพูด แต่มันใช้ความเป็นมนุษย์ที่ทำให้เราเชื่อมต่อถึงกัน เราว่าเส้นตรงนี้มันสำคัญมาก

บางงานไม่มีข้อความอะไรเลย แต่เรารู้สึกเหมือนเขาพูดแทนใจเราเลย และมันทำให้เรารู้สึกมีแรงบันดาลใจ เราว่านี่เป็นหน้าที่ของศิลปะที่ทำให้คนรู้สึก และนำไปต่อยอดด้วยตัวของเขาเอง เป็นแรงกระเพื่อมต่อไปเรื่อยๆ และกระทบสังคมส่วนรวมในที่สุด

เราไม่เชื่อในวิธีการเบ็ดเสร็จสำเร็จรูป เราเชื่อในเรื่องของการค่อยๆ ส่งแรงกระเพื่อม และทุกคนค่อยๆ คิดได้ด้วยตัวของเขาเอง

เนื้อหาละครทั้งสองเรื่องที่คุณทำ ทั้งหมดมีเนื้อหาเสียดสีสังคม คุณมุ่งหวังอะไรจากการนำเสนอ

งานทั้งสองชิ้นของเรา พูดเรื่องที่ใกล้ตัว เรื่องที่เรารับรู้และเห็นอยู่ทุกวัน บางเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นกับเราก็จริง แต่เรารู้สึกว่าบางทีวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัวเราก็ได้ เหตุผลมีแค่นี้เอง เราอยากทำเรื่องที่เรารู้สึกว่ากระทบใจเรา

แต่งานของคุณก็กระทบสังคมด้วย

เพราะว่าเราอยู่ในสังคม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่กระทบกับเรา อาจจะไม่ได้กระทบเราคนเดียว เราคิดว่าน่าจะมีคนที่คิดคล้ายๆ เรา และถ้าเกิดงานที่เราทำสามารถสร้างบทสนทนาออกไปให้คนแลกเปลี่ยนกัน สำหรับเราสิ่งนี้มันยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่กว่าการได้รางวัล หรือมีคนดูเยอะๆ

*แต่การแสดงของคุณก็ส่งผลกระทบถึงตัวคุณเองด้วย อย่างการแสดงเรื่อง ‘บางละเมิด’ ที่มีทหารมาเฝ้าสังเกตการณ์ทุกรอบ *

มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตระเตรียมเลย อยู่นอกเหนือความคาดหวัง ใครจะนึกว่าวันหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาบอกให้เราส่งจดหมายขออนุญาตทำการแสดง ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรารู้สึกว่าเราทำละคร มันเป็นงานศิลปะ ไม่น่าจะกระทบกับความมั่นคงอะไร พื้นที่ของงานศิลปะไม่ควรถูกแทรกแซงจากภาครัฐ มันเป็นพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ และควรจะมีเสรีภาพมากๆ

เราไม่รู้จะทำงานศิลปะไปเพื่ออะไร ถ้าเกิดว่าเราสร้างสรรค์ไปแล้ว เราต้องกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า ซีนไหนจะผ่านบ้าง บทแบบนี้จะเขียนดีไหม เพราะคนที่ทำงานศิลปะเขาคิดเพียงแต่ว่าอยากสื่อสารอะไรออกไป และเราเชื่อว่าคนดูของเรามีวิจารญาณมากพอที่จะดูงาน และเลือกได้เองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันเป็นสิทธิของเขา เราให้เกียรติคนดูของเรามาก เพราะว่าโดยตัวงานศิลปะ เราเชื่อว่ามันควรช่วยเปิดบทสนทนา

ตอนที่ถูกแทรกแซง เราช็อกมากนะ เพราะรู้สึกว่าพื้นทิ่ศิลปะเป็นพื้นที่สุดท้ายแล้วที่ไม่ควรถูกแทรกแซง แต่กลับถูกแทรกแซง แสดงว่าสังคมมันน่าจะมีปัญหามากแล้วละ

ความจริงคุณก็สามารถเลือกเล่าเรื่องราวอื่นๆ ได้ ทำไมยังเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการนำเสนอประเด็นของประชาธิปไตย เสรีภาพ กฏหมาย

สิ่งเหล่านั้นเป็นมุมมองจากคนดู เราไม่ได้ทำงานลักษณะชวนเชื่อ เราจึงไม่ได้มีธงว่าละครของเราควรเป็นแบบไหน เรารู้สึกว่าประเด็นที่เราสนใจทำงาน มันเป็นประเด็นที่ใกล้ตัว มีผลกระทบ และน่าพูดถึง ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เรากลับไม่แน่ใจว่าคำกล่าวนั้นจริงหรือเปล่า เรารู้สึกว่าการเมืองอยู่ในทุกมิติของการใช้ชีวิตเรา ตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงระดับใหญ่ คือมันไม่จำเป็นต้องเป็นการเมืองระดับใหญ่อย่างรัฐสภา หรือการเลือกตั้ง เรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของเราก็ได้ผลกระทบกันถ้วนหน้า

ถ้าคุณใช้ชีวิตโดยไม่รู้สึกอะไรเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ก็อาจจะแปลได้ไหมว่า เป็นเพราะคุณไม่ได้เสียผลประโยชน์ เป็นคอมฟอร์ต โซนของคุณ แต่เรารู้สึกว่ามันกระทบเราตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างไปซื้อของ ขึ้นรถ ลงเรือ จนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเลือกตั้งที่เรารู้สึกว่าขอสิทธิพื้นฐานให้เราสักอย่าง เพราะเรารู้สึกมีอำนาจมากเวลาที่เราได้ไปเลือกตั้ง แต่เรื่องแค่นี้เรายังไม่ได้เลย เราเลยรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะพูดถึง และถูกบันทึกเอาไว้

การที่เราทำเรื่องที่มีผลกระทบกับตัวเรา มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีผลกระทบคนอื่นๆ เหมือนกัน เขาเลยรู้สึกว่างานของเราพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านั้นก็มีอยู่ในการแสดงของเรา เราคิดเพียงว่าเรื่องนี้มันกระทบกับเรา และควรถูกบันทึกเอาไว้ เพราะว่าอาจจะมีคนอื่นที่คิดเหมือนกับเราก็ได้

เราแค่ทำเพราะเรารู้สึกว่าเรื่องนี้ควรเล่า และถ้ามันจะถูกตีความอย่างไรก็อยู่ที่คนดูแล้ว

*การที่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ ทำให้คุณต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือเปล่า และทำให้สารที่ตั้งใจสื่อออกไปถูกบิดเบือนบ้างไหม *

เราจำได้ว่าตอน ‘บางละเมิด’ เป็นความรู้สึกที่สุดๆ เพราะมันเกิดขึ้นวันเดียวก่อนการแสดงรอบแรก มันมีหลายอารมณ์มากประดังประเดเข้ามาหาเรา การตัดสินใจเปลี่ยนบทในซีนแรก ทุกๆ คนในกลุ่มมาช่วยกันคิดว่าควรทำยังไงดี สถานการณ์ในตอนนั้นเป็นอะไรที่คาดเดายาก เพิ่งเกิดรัฐประหารขึ้นหมาดๆ และทุกสิ่งทุกอย่างอ่อนไหวในสายตาของเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด แม้กระทั่งละครโรงเล็กก็สามารถเป็นภัยต่อความมั่นคงได้

เราเลยรู้สึกว่ามันเสี่ยง ด้วยกฏหมายในตอนนั้นเป็นกฏอัยการศึก ซึ่งสามารถตีความได้กว้างมากเสียจนเราไม่รู้ว่าบรรทัดฐานอยู่ตรงไหน เราคิดว่านอกจากเรายังมีทีมงานอีกหลายคนที่อาจจะได้ผลกระทบด้วย เราเลยเลือกทีมไว้ก่อน

แต่ด้วยกลวิธีทางศิลปะ เราสามารถเล่าเรื่องได้หลายแบบมาก ถึงแม้จะคงซีนแรกไว้เราก็มั่นใจว่ามันคงไม่มีอะไรหรอก แต่สถานการณ์ในตอนนั้นมันสุ่มเสี่ยง เราอาจจะโดนฟ้องก็ได้ เราเลยเลือกที่จะเล่าอีกแบบโดยวิธีเลือกโชว์ process ไปเลย

ถ้าจะเรียกว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองไหม มันเรียกว่าเป็นการแบให้คนดูเผชิญหน้าไปกับเรามากกว่า เราก็เล่าตรงๆ เลยว่าเราตัดซีนแรกออกไปเพราะอะไร-หนึ่ง-สอง-สาม-สี่ บอกไปว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารมา และจำลองสถานการณ์ว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารโทรมา เขาพูดแบบนี้นะ เรากำลังปูให้คนดูเห็นว่าเรากับคนดูอยู่ในบริบทเดียวกัน เราไม่ได้เล่าว่ามีใครถูก – ผิด แค่เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้นมันก็เป็นซีนเปิดที่คนดูก็จะเหวอนิดนึง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เหมือนฟ้องตัวมันเองว่า ตอนนี้มันวิกฤตแล้วนะ และยิ่งตอกย้ำข้อความของเราให้สมบูรณ์ในตัวเองขึ้นไปอีก เพราะว่าในขณะที่เราแสดงก็มีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งบันทึกวิดีโออยู่ มันเลยเป็นซีนที่ดูย้อนแย้งมาก แต่ทุกคนก็เข้าใจ

เราเชื่อมั่นในศิลปะ เชื่อในการเล่าเรื่องว่ามีวิธีมากมาย และเราก็เลือกวิธีนี้ที่จะสื่อสารของเรา

เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาร่วมชมการแสดง มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ที่มาเป็นระดับปฏิบัติการ เรารับรู้ได้ว่าบางทีเขาก็สนุกไปกับเรา เพราะการแสดงของเราบางทีจะมีการโต้ตอบระหว่างเรากับคนดู เราก็เชิญเจ้าหน้าที่มาเล่นด้วย เขาก็เล่นนะ มันก็เป็นอารมณ์ขันแบบขื่นๆ ที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เกือบจะสั่งเซ็นเซอร์งานของเรา ซึ่งก็ทำให้คนดูในแต่ละรอบจะยิ่งเพ่งเล็งไปที่เจ้าหน้าที่ และสงสัยว่าเขานั่งกันอยู่ได้อย่างไร ในเมื่องานกำลังพูดถึงพวกเขาอยู่ แต่เหมือนกับว่าเขาไม่ได้สนใจอะไร ทุกอย่างเหมือนตอกย้ำสารที่เราส่งไป ตอกย้ำว่าช่วงเวลาที่อ่อนไหว อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งงานศิลปะชิ้นหนึ่งก็ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยได้

*คุณเคยรู้สึกเหนื่อยหรือท้อบ้างไหม เมื่อสารที่ส่งออกไปผ่านการแสดง ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เลย *

ใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้มันเหนื่อยกว่าอีกนะ (ยิ้มเศร้า) มันเทียบไม่ได้เลยกับการที่เราเลื่อนเฟซบุ๊กแล้วเจอแต่เรื่องหดหู่ เรื่องที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าอย่างนี้ก็ได้หรือ—อยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกว่าอยู่แบบนี้เหนื่อยกว่าอีก

ตัวเราไม่ได้คิดถึงขนาดจะเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อเราทำงานของเราจบแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องของคนดูที่จะใช้จินตนาการต่อ หรือสร้างบทสนทนาต่อไป บางคนดูแล้วเขาอาจรู้สึกชอบงานของเราจริงๆ แต่ก็เคยมีเหมือนกันนะที่คนดูลุกขึ้นแล้ว walk out ออกไปจากการแสดงของเรากลางคัน เพราะเขารู้สึกว่างานของเราดูถูกเขา

*คุณมีโอกาสพูดคุยกับคนที่ walk out ไหม *

เคย (น้ำเสียงตื่นเต้น) เพราะว่าเขาเดินออกไปต่อหน้าเราเลย และพูดกับเราด้วย ตอนนั้นเราเล่นไปประมาณ 20 นาที เขาก็ลุกขึ้นและบอกว่า —งานนี้มันดูถูกเขามาก เขาจะไม่ทน และเขาต้องการลุกออกไปเดี๋ยวนี้ นึกออกไหมว่าการที่เขาลุกขึ้นต่อหน้าเราและคนดูคนอื่น เป็นการใช้สิทธิในฐานะคนดูคนหนึ่ง

เรารู้สึกว่านี่มัน—โอ้โห เราโอเคมากกับคนที่ใช้สิทธิของตัวเองแบบนี้ และเขาให้เกียรติเรานะ เพราะเขาบอกเหตุผลเราว่างานของเรามันดูถูกคนไทย เขาบอกต่อหน้าทุกคนเลย เรารู้สึกว่านี่เป็นการใช้สิทธิของตัวเองอย่างแฟร์สุดๆ

*คุณว่าเสรีภาพ และการแสดงออกที่เหมาะสม มีเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน *

จริงๆ แต่ละประเทศมีกฏหมายของตัวเอง ซึ่งในสถานการณ์ปกติมันก็จะมีกฏหมายหมิ่นประมาทโน่นนี่ แต่พอในสถานการณ์ที่ไม่ปกติตั้งแต่สี่ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราสามารถพูดอะไรได้แค่ไหน เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหน มันไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรก เราเลยรู้สึกว่ามันพูดลำบาก

เส้นแบ่งของเสรีภาพในสถานการณ์ตอนนี้มันเปราะบางมาก เหมือนแตะต้องนิดนึงก็พร้อมที่จะแตกได้ตลอดเวลา ซึ่งเราว่าคนเราควรจะมีสิทธิพื้นฐานที่จะเลือก เลือกได้ว่าจะแสดงออกแบบไหน แต่ในสถานการณ์แบบนี้ เราเลือกไม่ได้ เราทำได้เพียงไม่พูดและไม่แสดงออกอย่างเดียว

มันก็คล้าย ‘ซอมบี้’ คือเงียบๆ ไว้ดีกว่า หรือถ้าไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร ซึ่งมันก็เป็นประโยคคลาสสิคเนอะ แต่บางคนเขายังไม่ทันทำอะไร เขาก็เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว เราคิดว่าประโยคนี้ก็น่าจะถูกตั้งคำถามเหมือนกัน เพราะมันน่าจะออกมาจากคนที่ไม่เสียผลประโยชน์อะไร หมายถึงว่าเขาปลอดภัย เพราะเขาเลือกที่จะไม่พูดอะไร แต่ในอีกทางหนึ่งเราควรที่จะให้พื้นที่กับคนที่อยากพูดด้วยหรือเปล่า

ถ้าในสถานการณ์ปกติที่ทุกคนล้วนเท่ากัน มันไม่ควรมีคนที่ต้องถูกเข้าคุกเยอะมากขนาดนี้ เราคิดว่าเส้นแบ่งที่ถามคือกฏหมาย ในวงเล็บ—สถานการณ์ปกติ

คุณแสดงละครมาประมาณ 12 ปีจนถึงทุกวันนี้ คิดว่าพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออกของสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

มันไม่มีอะไรที่ดีขึ้นเลย เพราะว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีคนที่พยายามออกมาเรียกร้องผลักดันในหลายๆ ด้านก็ตาม แต่ทุกอย่างก็เหมือนอยู่กับที่ มันไม่ได้มีอะไรที่ขยับเพดานของเสรีภาพขึ้นไปได้เลย

ในงาน ‘บางละเมิด’ เราจะผูกมีดโกนไว้บนเพดานทั่วไปหมด ในระดับความสูง – ต่ำที่ไม่เท่ากัน ซึ่งบางคนมีดโกนอาจจะอยู่เลยศีรษะขึ้นไปเยอะ แต่บางคนถ้ายื่นมือขึ้นไปก็แตะโดน เรารู้สึกว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพดานของเสรีภาพมันลงลดมาเรื่อยๆ ตอนนี้แค่ทุกคนยกมือขึ้นไปก็จะโดนมีดโกนบาดหมดแล้ว แต่คนที่จะไม่โดนบาดเลยคือคนที่…(เธอทำท่ามือแนบลำตัว) ซึ่งสำหรับเรา มันไม่เท่าเทียม

เรื่องการแทรกแซงเหล่านี้มันมาภายหลังกรณี ‘บางละเมิด’ ก่อนหน้านั้นเราทำงาน—เรารู้สึกว่าด้วยกลวิธีศิลปะ มันสร้างสรรค์ มันสามารถทำให้คนคิดด้วยวิจารณญาณของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องมานั่งเซ็นเซอร์คนดู ศิลปินต้องเซ็นเซอร์คนดูแล้วยังต้องมาเซ็นเซอร์ตัวเองอีกหรือ มันน่าหดหู่มาก

*การที่ภาครัฐขยับอำนาจเข้ามากระทบพื้นที่สร้างสรรค์ของศิลปินแบบนี้ กลุ่มศิลปินควรออกมาทำอะไรบ้างไหม *

เราว่าตอนนี้ทุกคนเขาก็กำลังทำกันอยู่ ไม่ใช่แค่เฉพาะในวงการการแสดง วงการหนัง คนวาดการ์ตูน ทุกคนรู้สึกมีอะไรอยากแสดงออกเยอะมาก และทุกคนก็พยายามทำในสิ่งที่ตนเองทำได้ แต่นึกออกไหมว่ามันเหมือนเราเดินไปซ้ายก็ไม่สุด ขวาก็ไม่สุด แม้เราจะช่วยกันขนาดนี้แล้วก็ตาม

เราก็ต้องย้อนกลับไปถึงจุดที่ทำให้มาอยู่ตรงนี้ พวกเรามาอยู่จุดนี้กันได้ยังไง เราควรทบทวนตรงนี้ และพยายามไม่ให้มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก

คิดว่าแนวโน้มของวงการละครเวทีบ้านเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้เรารู้สึกบรรยากาศมันหลากหลายมาก ในวงการแสดงละครเวทีก็มีการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมาก อย่างล่าสุดก็มี BIPAM ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะการแสดงที่มีคนจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วม สังเกตดูงานหลายชิ้นในเทศกาล ค่อนข้างจะมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน มีจุดร่วม มีชะตากรรมเหมือนกัน ซึ่งมันน่าสนใจ ในอนาคตเราหวังว่าจะให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ว่าบ้านเธอเป็นอย่างไร บ้านฉันเป็นอย่างนี้

ประเทศไทยเราผสมผสานหลายวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือการข้ามสายไปมา เราคิดว่ามันเป็นเทรนด์ของศิลปะเลยที่จะข้ามสายกัน อย่างคนทำงานทัศนศิลป์ก็มาทำงานร่วมกับคนทำศิลปะการแสดง หรือว่าคนที่ทำเรื่องแสงก็มาทำงานกับคนทำดนตรี

เราคิดว่าเส้นแบ่งมันเบลอมาก เพราะโลกมันหมุนเร็ว และเดี๋ยวนี้คนก็มีความหลากหลาย เวลาเดินเข้าไปในแกลเลอรี่เราจะเห็นความมันส์มาก ดนตรีแนวหมอลำมาทำร่วมกับแจ๊ซ โลกเขาไปถึงนี่กันแล้ว แต่บ้านเรายังถูกแช่แข็งอยู่กับที่ ซึ่งเราคิดว่าสังคมเรากำลังจะตกขอบ

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่ค่อยสนใจละครเวทีหรือการแสดงแนวประเพณี เช่น โขนหรือลิเก

เราตอบแทนคนรุ่นใหม่ไม่ได้นะ แต่ตัวเราคิดว่างานประเพณีหรืองานร่วมสมัย มันควรจะมีให้เลือกทุกแบบ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องไม่ปิดกั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้งานทุกแบบ ไม่ใช่ว่าเราชอบงานอย่างใดอย่างหนึ่งมากๆ แล้วก็ต้องมีแต่งานประเภทนั้นตลอด วิธีคิดแบบนี้มันน่ากลัวมากนะ และมันตกยุคไปแล้ว ในยุคนี้ควรจะมีพื้นที่ให้งานทุกแบบ และคนดูจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาชอบอะไร

เราคิดว่าการทำงานข้ามสายมันเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง สมติศิลปินคนหนึ่งเอาเพลงจากศิลปินที่ชอบมาคัฟเวอร์ใหม่ในแบบของตัวเอง เขาเอามาคัฟเวอร์ก็เพราะเขาชอบ คือมันไม่มีอะไรผิด –ถูก เราข้ามสายกัน เพราะว่าเราเคารพกัน เรารู้สึกว่าอยากเห็นอันนี้มาเจอกับอันนี้ มันจะเป็นยังไง มันจะทำให้สร้างสรรค์และสนุกขึ้นได้อีกไหม เราว่ามันเป็นอะไรที่ ‘คนเท่ากัน’ ของแท้

เราไม่รู้สึกเลยว่าเราจะต้องกีดกันอะไร แต่เราจะรวมกันได้ยังไง หรือเราจะรวมกันแบบไหนดีให้เถิดเทิง มันควรจะเป็นเซนส์แบบนั้นมากกว่า

ท่ามกลางบริบทแและบรรยากาศของสังคมไทยตอนนี้ คุณมีหนังสักเรื่อง หรือหนังสือสักเล่มที่อยากแนะนำให้คนได้เสพบ้างไหม

อยากให้ ‘ไทยบ้าน เดอะ ซีรีส์’ ได้ฉายจังเลย เพราะเราได้เห็นซีนที่เขาตัดออกไป (ฉากพระร้องไห้) ซีนที่ถูกตัดมันสะท้อนความเป็นมนุษย์ และเราคิดว่ามันเป็นซีนที่สวยงามมาก..ก…ก เราเคยคุยกับคนที่บวชเป็นพระ เขาบอกว่าพระก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีอารมณ์ มีความรู้สึก ไม่ใช่ตัดอารมณ์ทิ้งไป

การแสดงออกในซีนที่ถูกตัดออกไป มันเป็นมนุษย์มากๆ มันเป็นสิ่งสวยงามที่ทำให้เราทลายเส้นแบ่งออกไป อย่างหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล — ผู้กำกับภาพยนตร์) ที่มีฉากพระเล่นกีตาร์ ซีนแบบนี้ทำให้เราเห็นมิติที่ลึกขึ้นของคนที่เราอาจจะไม่เห็นในชีวิต เราว่าอะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรดู

Fact Box

อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ศิลปิน นักแสดง จบการศึกษาจากคณะสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2546 เธอเข้าร่วมสังกัดในกลุ่มบีฟลอร์ ผลงานละครเวทีส่วนใหญ่เน้นการวิพากษ์ปัญหาสังคมผ่านทักษะการละครรูปแบบ Physical Theatre

ผลงานด้านการแสดงที่โดดเด่นที่ผ่านมา เช่น

  • สวรรค์อาเขต (2018)
  • บางละเมิด (2011, 2015)
  • แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2015)
  • นางนากเดอะมิวเซียม (2009)
  • สาวชาวนา (รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2009)
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0