โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อรวรรณ อรุณรักษ์ ศิลปินผู้เล่าเรื่องคนธรรมดาด้วยศิลปะในนิทรรศการ ‘นับ’

becommon.co

อัพเดต 19 ก.ย 2562 เวลา 15.50 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 11.37 น. • common: Knowledge, Attitude, make it Simple
อรวรรณ อรุณรักษ์ ศิลปินผู้เล่าเรื่องคนธรรมดาด้วยศิลปะในนิทรรศการ ‘นับ’

นิทรรศการ ‘นับ’ งานศิลปะที่เพิ่งผ่านมาของ นอย – อรวรรณ อรุณรักษ์ ที่บางกอกซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี สะท้อนภาพชีวิตผู้คนหลายแบบ 

หลังจากเฝ้ามอง สังเกต เก็บประสบการณ์และความทรงจำ ผ่านการพูดคุยกับคนมากมายจากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2559 อรวรรณบอกเล่าเรื่องราวนั้นโดยใช้เทคนิคทางจิตรกรรมอันเรียบง่ายอย่างดินสอกับสีไม้ บนสิ่งที่ให้ความรู้สึกแน่นหนักอย่างอิฐบล็อกและคอนกรีตปูพื้น ซึ่งมักใช้ปูพื้นทางเดินและปลูกสร้างเป็นบ้านเรือน

(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY
(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY

วัสดุเหล่านี้กำลังบอกความหมายอะไร

ภาพชีวิตผู้คนบนพื้นผิวขรุขระสร้างการรับรู้ใหม่แบบไหน

วัสดุก่อสร้างเติมประเด็นของการให้ความสำคัญกับสังคมรอบตัวอย่างไร

ร่วมทำความรู้จักอรวรรณกับการทำงานศิลปะที่มีกิจกรรมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดอย่าง ‘โอเพ่นสตูดิโอ’ ที่มีส่วนในการพัฒนางานของศิลปินไปพร้อมกัน

ให้ศิลปะเล่าเรื่อง

เมื่อเดินเข้าไปในแกลเลอรีแสดงงาน คุณจะเห็นการตั้งทับกันเป็นชั้นของอิฐมวลเบา บล็อกปูพื้นหกเหลี่ยม คอนกรีตทางเท้าสี่เหลี่ยมด้านเท่า วางกระจายสูงต่ำลดหลั่นกัน เป็นสีนวลสีเทา คล้ายอนุสาวรีย์ที่สามารถมองได้ด้วยระดับสายตาจนน่าเข้าไปทำการสำรวจ

(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)
(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)

ภาพวาดและข้อความปรากฏอยู่บนวัสดุก่อสร้างเหล่านั้น คุณจะปะติดปะต่อเรื่องราวจากภาพ พร้อมกับตีความภาษาจากข้อความที่แขวนบนผนังด้านหน้า ซึ่งเหมือนเป็นบันทึกที่ผุดขึ้นในความคิดอย่างไม่ลงรายละเอียดแต่ชวนจินตนาการ

กำแพงถูกแบ่งส่วนล่างและบนด้วยการทาสีขาวและเทา แดดพ้นเที่ยงวันส่องทะลุผ่านเพดานสูง ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง ผ่อนคลาย และเป็นมิตร ขับให้ชิ้นงานซึ่งวางแน่นิ่งเหมือนมีชีวิตและพลังงานที่น่าหลงใหล บทสนทนาเริ่มจากการถามถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการ ‘นับ’ (COUNTING)

‘นับ’ หมายถึงอะไร

มันคือการคิด สะสม ตริตรอง นับอยู่ในทุกวันของทุกคนอยู่แล้ว อย่างวันนี้จะใส่เสื้อตัวไหน ขึ้นรถเวลาไหน กินข้าวยังไง เดินออกไปทำอะไร ถ้ากลับมาที่ความหมายเดิม ปกติเรานับเลข 1 2 3 4 5 แต่ถ้าเรานับ 8 11 13 มันก็นับแบบนี้ได้ เป็นการเรียงช้อยส์ในชีวิต เรียงในแบบที่แต่ละคนอยากจะได้

(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY
(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY

ชีวิตคนที่เราเล่าในงานชุดนี้เป็นคนที่เราเจอช่วง 4-5 ปีมานี้ เราไปเห็นแล้วอยากรู้จัก ความสัมพันธ์ก็ค่อยๆ สร้างขึ้นมา ทั้งเวียดนาม กัมพูชา เยอรมนีที่เบอร์ลิน และก็กรุงเทพฯ ด้วย อย่างที่เบอร์ลิน มันเริ่มจากมีคนแนะนำให้รู้จักพี่คนหนึ่ง เขาเป็นนักมานุษยวิทยา นัดเจอที่อเล็กซานเดอร์พลัทซ์ คุยกันว่าทำอะไรกันดี พี่เขาเลยพาเราไปวัดไทย แล้วก็มีพระเยอรมันเข้ามาคุย

เราไม่ได้ไปเจอเขาครั้งเดียวแล้วนึกอยากวาด แต่มันคือการจำ พอได้ไปนั่งคุยกับพระ เห็นเขาก็มีกาน้ำร้อนสีส้ม สีส้มมันเหมือนชุดของเขา ได้เจอกันอีก เราก็สังเกต เอ๊ะ มันมีสติ๊กเกอร์แปะอยู่เต็มเลย เฮ้ย ความเป็นพระกับสติ๊กเกอร์ดูตลกดี พระบอกว่า มันเป็นฉลากของกล้วยกับส้ม ทุกวันเวลาฉันอาหารเช้าก็แกะแล้วเอามาติด

ชื่องาน Digging, Burying (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)
ชื่องาน Digging, Burying (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)

แล้วก็มีการเก็บภาพหรืออัดวิดีโอตอนคุยกันไหม

ไม่ เราใช้เวลาไปสักพัก มันแล้วแต่คน แต่ไม่ใช่ไปถึงแล้วไปถ่ายรูปเขาเลย เขาไม่ใช่แค่เป็นคนที่เราลิสต์ไว้ว่าจะต้องไปสัมภาษณ์ แต่ว่าเขาอยู่ในชีวิตประจำวันกับเรา สถานที่ที่เราไป เราไปเป็นปกติอยู่แล้ว ใช้ชีวิตตรงนั้นอยู่แล้ว สวนสาธารณะ ทางเดิน ขึ้นรถเมล์ หรือบนรถแท็กซี่

บทสนทนามันต่อเนื่องโดยธรรมชาติ เวลามีบทสนทนาที่น่าสนใจมันก็ตกอยู่ในหัว บางเรื่องคือเล่าถึงคนที่เราได้กลับไปเจอช่วงสองสามปีมานี้ อย่างลุงคนหนึ่ง เห็นมาตั้งแต่สี่ขวบ แกขนน้ำแข็งส่งร้านที่หัวลำโพง พอเรากลับไปตอนโต เฮ้ย เขาชงกาแฟ เขาเปลี่ยน ตอนนี้ทำ delivery coffee เคยเห็นเขาปลุกคนทุกวันในขบวนรถไฟรอบตีห้า ก็คุยกันเรื่องความเป็นหัวลำโพง ตื่น ปลุก เอามาเขียนเป็นเรื่อง

เรามีความจำกับบางคนที่เห็น บางทีภาพมันใช้เวลา ไม่ได้หมายความว่าไปคุยอย่างเดียว แต่คือการได้เห็น

ชื่องาน Wake-Up Man (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)
ชื่องาน Wake-Up Man (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)

คือใช้ชีวิตกับเขาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คุยแล้วผ่านไป

อืม บางคนทำฟุตปาธแกลเลอรี เราเห็นมาสามปีตอนนั่งรถเมล์ผ่าน มองทุกวันๆ จนตัดสินใจว่าจะลงไปคุย มันเป็นการสะสมทางสายตาด้วย อีกอย่างคนที่เราไปคุย เขาไม่ใช่เพื่อนเรา ความสัมพันธ์ไม่ต้องใกล้ชิดกันก็ได้ มันคือการสังเกต อยากฟังคนคนหนึ่ง อยากรู้จักเขา อยากรับรู้เรื่องของเขา คนพวกนี้อินสไปร์เราหลายเรื่องมาก เรื่องของเขาน่าเล่าให้คนอื่นต่อ

แต่เวลาทำงานกับคน เราก็รักษาความเป็นส่วนตัวของคนคนนั้น มันมีความสมยอมแหละ แต่เรามาสร้างช่องว่างเวลาทำเป็นงานออกมา คนดูจะเห็นอีกแบบ เราเอามาวาด มันก็เป็นอีกภาษา ค่อยๆ ย่อยภาพของการรับรู้ในตอนนั้นมาอีกที

ภาษาของดรอว์อิ้งคือจริงแต่ไม่ต้องจริง ผสมความทรงจำกับจินตนาการเข้าไปด้วย คือไม่เป๊ะ แม้จะเป็นดรอว์อิ้งแบบเรียลลิสติก คนที่เห็นในงานศิลปะคือดรอว์อิ้ง ใช้เวลาในการทำงาน มีความใส่ใจ การวาดด้วยมือ มีความประดิษฐ์ มันไปประกอบในหัวของคนดูต่อไปได้อีก

ชื่องาน The Footpath Gallery(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)
ชื่องาน The Footpath Gallery(photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)

แล้วทำไมถึงต้องเป็นพวกบล็อกคอนกรีต อิฐบล็อก

งานนี้เรามองเป็นหลายๆ โครงสร้าง ทั้งโครงสร้างของตัวคน บ้าน และภาษา สีผิวคนไม่พ้นสีน้ำตาล ขาว ชมพูอ่อน สีพื้นดิน พื้นทรายก็จะมีเฉดดำ ขาว น้ำตาล มันเป็นสีเริ่มต้นของการเกิดหลายอย่างในโลก ของที่เราเลือกใช้อยู่ในโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่เราอาศัยอยู่ และสีเทาก็เป็นสีที่อยู่ระหว่างขาว-ดำ เป็นสีกลางๆ ของความเป็นตัวคนกับตัวโครงสร้างที่อยู่อาศัย ส่วนข้อความที่เขียนไว้ก็คือภาษาที่เชื่อมต่อเรื่องราว เป็นจุดต่อจุด เป็นเส้นต่อเส้น

 เห็นคลิปวิดีโอตอนทำงาน ไปวาดรูปที่ร้านก่อสร้าง เป็นอย่างไรบ้าง

ร้านขายวัสดุก่อสร้างอยู่แถวบ้านอยู่แล้ว เราก็ขอเขาเข้าไปวาด เจ้าของร้านก็ชอบวาดรูปเหมือนกันพอดี แล้วมันเกิดการอธิบาย วันๆ เขาขายหินขายทราย จะมีใครมานั่งวาดรูปหน้าบ้าน ก็คุยกันว่ามันวาดบนนี้ได้ด้วยเหรอ คนมาซื้อของก็เข้ามาคุย มันไม่ได้เป็นภาพแบบคนมามุงดูขนาดนั้นนะ แต่เขาก็เข้ามาดู เราคิดว่าดรอว์อิ้งมันเป็นการเรียกเพื่อนอยู่แล้ว

เกี่ยวหรือเปล่าว่าชนิดของอิฐอันนี้จะวาดเรื่องแบบนี้

ก็นิดหน่อยนะ เราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติด้วย เพราะหินแต่ละก้อนไม่เหมือนกันเลย สุดท้าย เราได้ทำความเข้าใจมัน กลายเป็นว่างานชุดนี้เรามีแค่เรื่อง แต่หินคอนโทรลมือเรา บางทีจะระบายจุดสีตรงนี้ แต่เท็กเจอร์ของเขาผลักให้กลายเป็นเทคนิคนั้นไปเอง เราเลือกใช้แค่ดินสอกับสีไม้ อยากได้อารมณ์แบบตอนเด็กๆ ที่เห็นเรื่องอะไรมาก็วาดบนกำแพง วาดเล่น

ชื่องาน Flower Communication (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)
ชื่องาน Flower Communication (photo: BANGKOK CITYCITY GALLERY)

แล้วอย่างภาพ Flower Communication นี้มีที่มาอย่างไร

ตอนเราอยู่เวียดนาม เห็นคนขายดอกไม้ พอไปเบอร์ลิน คนเวียดนามขายดอกไม้ที่นั่นเยอะมาก มันก็ย้อนภาพที่เราจำได้ว่า มีเรือขายดอกไม้ที่เวียดนาม พอไปศึกษาก็รู้ว่ามันเคยมีสงครามนะ เขาก็อพยพไปทางน้ำ ทางเรือ ชีวิตมันต่อกันหมด มันคือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมโลก เราเลยรู้สึกอยากแบ่งปันเรื่องนี้ เอามาแชร์มาคุยกัน

ในงานนี้มันเป็นเรื่องเล็กๆ หลายๆ เรื่องมาประกอบกัน ศิลปะไม่ต้องเป็น information ใหญ่ๆ ก็ได้ การเมือง สังคม เศรษฐกิจ ประเด็นพวกนี้อยู่ในบทสนทนาอยู่แล้ว หน้าที่ของศิลปะที่เราทำได้คือส่งสารออกไป เหมือนมาย่อยให้คนดูค่อยๆ หา

ตอนไปเบอร์ลินทำอะไรบ้าง

เราได้ทุนปี 2559-2560 เป็นโครงการศิลปินพำนัก (Artist Residency) ที่คึนสท์เลอร์เฮาส์ เบทาเนียน (Künstlerhaus Bethanien) ไปคุยกับคน ศึกษาสิ่งที่เราสนใจ ระหว่างนั้นก็จะมีโอเพ่นสตูดิโอ ให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนและดูขั้นตอนการทำงานที่กำลังนำเสนอ โอเพ่นสตูดิโอจะมีทุก 3 เดือน และเดือนสุดท้ายมีนิทรรศการเป็นตัวจบ

โอเพ่นสตูดิโอคืออะไร

โอเพ่นสตูดิโอเป็นการรวบรวมสิ่งที่เคยทำมา ว่าไปเจออะไรมาบ้าง แล้วเราคิดอย่างไร คนก็จะเข้ามาดู ถามว่านี่คืออะไร ทำเพราะอะไร ที่นั่นให้ความสำคัญกับบทสนทนา ไม่ใช่แค่ถามว่าทำอะไรอยู่ วาดรูปสวยจัง แต่คุยว่างานนี้คืออะไร มาจากไหน

เขาไม่มีวงเสวนาวิจารณ์งานเหมือนที่เวียดนาม (ที่เคยได้ไปเป็นศิลปินพำนักเมื่อปี 2558) เขาทรีตศิลปินทุกคนคือมืออาชีพ มีรายชื่อภัณฑารักษ์หรือผู้สนใจมาให้ ทำนัดให้ งานเราไม่ได้ทำเป็นรูปแบบเดิม มันมีบริบทของการไปอยู่ในที่ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง โอเพ่นสตูดิโอก็ช่วยให้ฝึกพูดโต้ตอบ ตกตะกอนความคิดมาพัฒนางาน สร้างความสัมพันธ์ ฝึกวินัยในการทำงาน ฝึกพรีเซนท์ ช่วงหมดทุนแล้ว เราก็ทำนัดเอง เพื่อจะได้อัพเดทและได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง

(photo: Nutt Thungsap)
(photo: Nutt Thungsap)

ตอนนั้น (ปี 2561) ได้กลับมาไทย มาโอเพ่นสตูดิโอที่นี่ด้วย

ใช่ สิ่งที่เราตั้งใจคือ ต้องการมีบทสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนทั่วไปและคนที่สนใจ เราไม่ค่อยเห็นโอเพ่นสตูดิโอที่ไทย เราว่ามันสำคัญที่จะได้ฟังศิลปินที่ยังไม่ได้สำเร็จมากแต่ยังทำงานต่อเนื่อง ตอนที่อยากไปทำงานศิลปะในต่างประเทศ เราก็อยากรู้เหมือนกันว่า วิธีการทำงานหรือชีวิตความเป็นอยู่ของศิลปิน กับพวกระบบโครงสร้างของโลกศิลปะที่อื่นเขาเป็นยังไง

พอรู้ว่าจะกลับมาอยู่ไทย 5 เดือน ก็คุยกับเพื่อน วางแผนว่าจะทำอะไร ก็เริ่มที่ฮานอยก่อน ไปแลกเปลี่ยนเรื่องศิลปะกับชุมชน หัวข้อ ‘#Com( ) is a Roundtable on ART & COMMUNITY’ เป็นวงเสวนากับศิลปินชาวจีน ชาวเวียดนาม และภัณฑารักษ์อีกสองสามคน (Jinjin Xu, Nhung Đinh, Orawan Arunrak with the modurator Trang ran Thu, CO-CURATED BY Đỗ Tường Linh & Min-hyung Kang)

หลังจากนั้นได้คุยกับเพื่อนสมัยเรียน เขาให้พื้นที่ เลยได้จัดโอเพ่นสตูดิโอในซอยเจริญกรุง 67 (https://www.facebook.com/events/157361564946658/)

เราก็แบ่งพื้นที่ มีส่วนที่อยากจะแนะนำตัวเรา มีผลงานที่ผ่านมา ผลงานที่กำลังพัฒนาอยู่ มันคือการจัดนิทรรศการที่ขึ้นอยู่กับตัวเอง เราทำเรื่องถนน เรื่องการเดิน เราก็คุยกับคนทำถนนแถวนั้น คนที่เป็นที่ปรึกษาไม่ต้องเป็นคนเก่งหรือเป็นอาจารย์ก็ได้ เราก็คุยกับคนทำถนน ตอนนั้นคิดเรื่องการเดินของคน ร่างกายกับตัวสถาปัตย์อยู่ด้วยกันอย่างไร มันก็พัฒนามาเป็นนิทรรศการนับ

ฟีดแบ็คโอเพ่นสตูดิโอในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ปกติโอเพ่นสตูดิโอควรจัดวันเดียว โชว์งานที่กำลังทำเรื่องเดียว จะได้สื่อสารชัดและง่ายต่อการเล่า แต่เราทำ 3 วัน เพราะรู้ว่าที่ไทยอาจจะยังไม่ชินกับลักษณะแบบนี้ สิ่งที่ได้คือ ได้ทวนตัวเองให้แน่นขึ้น ถามและตอบ ฝึกหัดการบอกเล่า

มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่มาเยอะ บางคนมาซ้ำและอยู่คุยนาน บรรยากาศไม่เหมือนเวลาไปงานเปิดนิทรรศการ คนที่มาก็ต่อยอดคุยกันเองด้วย เปิดไปประเด็นอื่น แล้วเราก็ชวนพ่อแม่กับน้องมาด้วย เขาก็ได้เห็นว่าไอ้ที่เราไปเรียนอาร์ตๆ ติสๆ มันเป็นยังไง

โอเพ่นสตูดิโอ หัวใจของมันคือบทสนทนา ทั้งของศิลปินและผู้เยี่ยมชม พูดง่ายๆ ว่าเราจะรู้ว่างานเราดีหรือไม่ดี ตัวเองถามตัวเองยังตอบไม่ค่อยได้หรอก เราต้องพูดคุยกับคนอื่น พอเรากลับบ้าน สิ่งที่เขาถามมา มันจะค่อยๆ ตอบเราเอง

(photo: Nutt Thungsap)
(photo: Nutt Thungsap)

เดินทางบ่อย ถือเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานได้ไหม

เราว่าแรงบันดาลใจมันมีอยู่ในทุกๆ วัน แค่เดินออกไปหรือนั่งรถเมล์ เราชอบสังเกต การสังเกตเป็นแรงบันดาลใจอยู่แล้ว ไม่ต้องออกไปเที่ยวก็ได้ ไม่ได้ไปเมืองนอก เราก็สร้างที่นี่ให้เป็นเมืองนอกด้วยตัวเราเอง ชวนคนมาบ้าน หรือแถวบ้านมีร้านก๋วยเตี๋ยว กางร่มสวยมาก เราก็ไปเอ็นจอยกับตรงนั้นได้ สังเกตสิ่งที่คนอื่นรู้สึกเฉยๆ ให้เป็นวันหยุดของเรา ให้เป็นแรงบันดาลใจ ถึงมันจะเป็นเรื่องปกติ

ไม่จำเป็นต้องไปที่ใหม่ เราเห็นของใหม่ในที่เก่าได้ อย่างเราตอนที่ต้องอยู่ที่เดิม เราต้องเห็นให้มันเป็นเรื่องใหม่ กลับมากรุงเทพฯ ก็พยายามเจอคนใหม่ๆ ให้เขาแนะนำคนให้รู้จัก สร้างสังคมใหม่ในที่เก่า อย่าไปบอกว่า โหย…ไปซอยเจริญกรุงอีกแล้ว เรามองว่าตรงนั้นตรงนี้เปลี่ยนไปยังไง มองนั่นนี่

 เดี๋ยวนี้มีหลายคนสนใจอยากเป็นศิลปิน คิดกับเรื่องนี้อย่างไร

มันไม่ใช่แค่ชอบนะ ถ้าเราชอบมาก เราจะอยากเป็นและต้องทำงานจริงจัง ความกลัวมันมีทุกอาชีพ เป็นนักธุรกิจก็อยากรวยขึ้นไปอีก กลัวทำไม่ได้ เป็นหมอก็กลัวว่ามีเวลาไม่พอ เราว่าทุกอาชีพมีความกลัว อยู่ที่ว่ามีความตั้งใจ ตั้งมั่น และแน่ใจว่ามีสิ่งที่ต้องการจะทำจริงๆ มันจะทำได้

ต้องค่อยๆ ดู ดูกันทุก 5 ปี ว่าไอ้ที่ทำมา เราพัฒนาขึ้น ไม่ได้ทำซ้ำ ถ้าทำงานศิลปะมาตลอดสิบยี่สิบปี แต่ทำเหมือนกันหมด ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย มันคือรูทีน เราต้องพัฒนางานให้ไปได้ไกลที่สุด ผลักตัวเอง ผลักความคิดเราออกไป ส่วนใครจะพาเราไปที่ไหน มันคือหลังจากที่เราทำงานแล้ว

อย่าไปคิดว่า ใครจะพาเราไปเวทีไหน มันต้องดูก่อนว่าเราพัฒนางานของตัวเองมาได้ไกลขนาดไหน

ทำอะไรไปถึงไหน ถ้าเราทำไม่ได้ ใครเขาจะพาเราไป.

art OpenStudio
art OpenStudio

FACT BOX: 

  • ภาพประกอบของนิทรรศการ ‘นับ’ เป็นเพียงผลงานบางส่วน ผลงานแต่ละชิ้นจะประกอบด้วย 1. ดินสอและสีไม้บนคอนกรีตปูพื้น วีคอนกรีต หรืออิฐหกเหลี่ยม 2. ข้อความบนอิฐมวลเบา และ 3. ข้อความบนกระดาษกับคลิปหนีบ (Color pencil on concrete / V-concrete / octagon concrete, lightweight concrete and paper with metal clip)
  •  ‘Exit – Entrance’ นิทรรศการที่จัดแสดงเมื่อปี 2560 ของอรวรรณhttp://www.orawanarunrak.com/project/exit-entranceได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันคาเอฟเว ชติฟทุง (KFW Stiftung) ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมนานาชาติคึนสท์เลอร์เฮาส์ เบทาเนียน โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกภัณฑารักษ์เพื่อเสนอชื่อศิลปินจากละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกลาง และเอเชีย มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นศิลปินอาชีพที่ทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศเป็นเวลา 3-5 ปี มีนิทรรศการเดี่ยว 3 ครั้งขึ้นไป และต้องทำรายงานแสดงรายละเอียดและแนวคิดในการทำงานไม่ต่ำกว่า 50 หน้า อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.kfw-stiftung.de/en/arts-culture/artists-in-residence-berlin/
  • โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) นักประวัติศาสตร์ศิลป์และภัณฑารักษ์อิสระ กล่าวถึงงานของอรวรรณที่แสดงที่เบอร์ลินในนิตยสารArt:21นิตยสารศิลปะร่วมสมัยในอเมริกา อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.art21.org/2017/12/11/orawan-arunrak-words-to-communicate/#.XXI9E6RR270
  • ติดตามผลงานของอรวรรณ อรุณรักษ์ได้ที่ http://www.orawanarunrak.com

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0