โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อย่าเพิ่งสาบานให้ฟ้าผ่า : เมื่อ ‘ฤดูอสนีบาต’ อาจรุนแรงขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

The MATTER

เผยแพร่ 02 ก.ค. 2563 เวลา 09.08 น. • Science & Tech

ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า (lighting strike) สังหารผู้โชคร้ายกว่า 23,000 รายทั่วโลกในทุกๆปี ก่อให้เกิดไฟป่าโหมกระหน่ำรุนแรง สูญเสียต้นไม้นับล้านๆ ต้น ยิ่งไปกว่านั้นหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะสร้างโอกาสฟ้าผ่ามากถึง 40%  ทำไมฟ้าผ่าถึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น? ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมส่งอิทธิพลให้สายฟ้าฟาดครั้งต่อๆ ไปน่ากลัวกว่าเดิมอย่างไร และหากเป็นไปได้ อย่าเพิ่งสาบานอะไร “ให้ฟ้าผ่าตาย” ในช่วงนี้ เพราะ การสุ่มที่ไร้การคาดเดาอาจหวยลงที่คุณได้ง่ายกว่าที่เคยปรามาสไว้  ท้องฟ้าก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไปหรอก

'ฟ้าผ่า' ผู้ก่อเพลิงที่ปราศจากหลักฐาน

ทุกๆ วันมีสายฟ้าฟาดนับแสนครั้งเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก บางทีอาจบังเอิญทำให้ต้นไม้แห้งติดไฟ เกิดเป็นไฟป่าโดยปราศจากการทิ้งหลักฐาน แม้ว่าไฟป่า (wildfire) ที่เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าอันเป็นพลังธรรมชาติที่ไม่สามารถหยุดได้ ในมิติอีกหนึ่งไฟป่าก็ช่วยคืนชีวิตโดยการเคลียร์พืชที่อยู่หน้าดินและซากไม้ให้มีการโอนถ่ายธาตุอาหารคืนสู่ดิน ช่วยให้พรรณไม้รุ่นใหม่ๆ มีโอกาสงอกงาม แต่ไฟป่าจากธรรมชาติก็สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลเช่นกัน ทำให้เกิดมลภาวะเข้มข้นในชั้นบรรยากาศ ดังนั้นปรากฏการณ์ไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่าถือเป็นข้อมูลที่ตกสำรวจ เป็นข้อมูลที่แหว่งวิ่นไปโดยไม่สามารถหาต้นตอเพลิงได้

รู้ไหมว่าฟ้าผ่าบ่อยแค่ไหน?

อิทธิพลจากธรรมชาติคาดเดายาก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนาย ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ใช้โมเดลต่างๆ ในการสำรวจ และเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมีส่วนทำให้เกิดฟ้าผ่าที่ทวีความรุนแรงและถี่มากขึ้น บวกกับปัจจัยการใช้สอยพื้นที่โดยมนุษย์ จากที่พื้นที่โล่งๆ ไม่มีการใช้สอย ฟ้าผ่าไปอาจไม่โดนสิ่งมีชีวิต แต่เมื่อพื้นที่นั้นเปลี่ยนเป็นเมืองที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น หรือกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่มีมนุษย์ใช้สอย ก็ทำให้โอกาสฟ้าผ่าโดนเอาคนก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 24,ooo รายทั่วโลกต่อปี และอาจมีผู้บาดเจ็บมากกว่านี้อีก 10 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือประเทศที่ทำกสิกรรมเป็นหลัก มีเหตุเกิดที่ประเทศบังกลาเทศในปี ค.ศ.2016 ที่แสดงถึงพลังสายฟ้าที่ไร้การคาดเดา ภายใน 4 วันเท่านั้น มีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่ามากถึง 64 รายติดๆ กัน โดยเฉพาะในช่วงใกล้หน้าฝนที่มีอากาศแปรปรวน เป็นช่วงเดียวกับมีการทำนาพอดี คนที่ตายส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ต้องทำนาบนพื้นที่โล่งแจ้งไร้สิ่งกำบัง

นอกจากนั้นเหตุฟ้าผ่ายังสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมในวงกว้าง เช่น เหตุไฟป่าในลุ่มแม่น้ำอะเมซอน ที่หากฟ้าผ่าต้นไม้แห้งเพียงต้นเดียว จะเกิดไฟลุกวอดกวาดป่าให้ราบเป็นเศษเถ้า สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Exeter ในสหราชอาณาจักร ที่เก็บข้อมูลฟ้าผ่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 โดยทีมวิจัยนำขดลวดนำไฟฟ้าไปติดตามต้นไม้ราว 20,000 ต้นทั่วประเทศไนจีเรียและกาน่า เพื่อเป็นสื่อล่อฟ้าเก็บบันทึกความถี่ในการเกิดฟ้าผ่าในบริเวณป่าหนาทึบ ซึ่งงานวิจัยเป็นไปอย่างทุลักทุเล ข้อมูลที่ได้ก็ไม่แม่นยำนัก แถมต้องใช้กำลังคนจำนวนมากกว่าจะได้พื้นที่ครอบคลุม พอมาถึงปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทีมวิจัยหันมาใช้กล้องในการตรวจจับที่แม่นยำกว่าสายลวด กล้องเลนส์มุมกว้างเป็นภาพได้พื้นที่มากกว่า ลงทุนลงแรงน้อยกว่า

เมื่อเกิดฟ้าผ่าในบริเวณทดลอง กล้องจะบันทึกข้อมูลโดยทันทีโดยให้ระบบอัลกอริทึ่มประมวลผล ซึ่งง่ายกว่ากระบวนการเก่า งานวิจัยพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อฟ้าผ่าใส่ต้นไม้ 1 ครั้ง จะเกิดการสะท้อนส่งไฟฟ้าไปยังต้นไม้ข้างเคียงได้ถึง 5 ต้น เมื่อนำมาคำนวณความเป็นไปได้ในระดับมหภาคจะพบว่า ฟ้าผ่าสามารถทำให้ต้นไม้ตายยืนต้นได้ถึง 190 ล้านต้น และทำให้ต้นไม้เสียหายได้ถึงพันล้านต้นต่อปี! นี่เองที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราได้ข้อมูลน่าทึ่งเช่นนี้

แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลใจไม่น้อยคือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลกจะส่งผลให้เกิดฟ้าผ่าถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เปราะบาง ทุกครั้งที่อุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะทำให้มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าเพิ่มขึ้น 40-50% สอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกโดยอุ่นขึ้นผิดปกติ

นี่จึงทำให้ไทยเองก็เป็นพื้นที่ฟ้าผ่าชุกพร้อมๆ กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตราว 100 คนทุกปี และบาดเจ็บอีกราว 10 เท่าจากจำนวนดังกล่าว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักถูกฟ้าผ่าในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น (13.00-17.59) ร้อยละ 72

อย่างกรณีล่าสุดที่ครูสาวจากศูนย์บ้านเด็ก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตส่วนเพื่อนครูบาดเจ็บ ขณะนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ใต้ศูนย์เด็กบ้านถวนที่มุงหลังคาด้วยสังกะสี  ทั้งคู่นั่งทำงานโดยหันหน้าเข้าหากัน แต่คนที่เสียชีวิตรับแรงระเบิดที่รุนแรงกว่าจนทำให้เสียชีวิต

ข้อมูลฟ้าผ่าในประเทศไทยส่วนหนึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เก็บข้อมูลไว้ จากระบบตรวจวัด 11 สถานีทั่วประเทศ พบว่าฟ้าผ่าในประเทศไทยมีเฉลี่ย 100,000 ครั้งต่อเดือน พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้มาก คือบริเวณที่เป็นแนวพาดผ่านของลมมรสุม เทือกเขา สันเขา หรือเนินเขา รวมถึงบริเวณที่ติดทะเล จังหวัดที่มีความเสี่ยงคือ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ระนอง พังงา ตราด มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ลำพูน และลำปาง ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ยังถือเป็นพื้นที่ที่เกิดฟ้าผ่าด้วย แต่ส่วนใหญ่ฟ้าจะผ่าลงไปในบริเวณอาคารสูงและหอคอยสูง ซึ่งจุดเหล่านี้ถูกป้องกันโดยระบบล่อฟ้าไว้เรียบร้อยแล้ว

ความเชื่อดั่งเดิม เล่นมือถือกลางฝนจะถูกฟ้าผ่า?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ ที่สามารถยืนยันว่า โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อล่อฟ้า แต่การยืนอยู่ที่แจ้งภายใต้สภาวะฝนตกฟ้าคะนองก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว หากหลบเข้าตัวอาคารก็ยังต้องระวังอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบมีสาย เพราะหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่อุปกรณ์นอกอาคาร อาจจะได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสายไฟฟ้า หากอยู่ในรถควรปิดประตูและกระจกหน้าต่างให้สนิท อย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะ หรือถ้าอยู่กลางแจ้งหนีไม่ทันแล้วจริงๆ หนทางสุดท้ายคือ นั่งยองๆ เท้าชิดกันและเขย่งปลายเท้า พร้อมทั้งเอามือปิดหูเพื่อป้องกันเสียง พยายามให้ร่างกายสัมผัสกับพื้นให้น้อยที่สุด อย่านอนหมอบราบไปกับพื้น เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟไหลมาตามพื้น

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของดวงล้วนๆ ที่ไม่เข้าใครออกใคร ในอนาคตฟ้าผ่าจะเกิดขึ้นถี่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก หน้าฝนนี้ก็อย่าเพิ่งสาบาน หรือทำเท่เดินกลางสายฝน เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่ากำลังเล่น MV หรือหนัง Final Destination ภาคใหม่กันแน่

อ้างอิงข้อมูลจาก

Lightning storms less likely in a warming planet, study suggests

Lightning May Increase with Global Warming

ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0