โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อยู่แบบช่วย ๆ กัน - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2562 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เป็นเวลาเช้าเจ็ดนาฬิกา ผมนั่งเขียนหนังสือในร้านกาแฟ โต๊ะใกล้ ๆ เป็นพ่อลูกคู่หนึ่ง เด็กชายสวมชุดนักเรียน ทำให้รู้ว่าทั้งสองกินอาหารเช้าก่อนที่พ่อไปส่งเด็กที่โรงเรียนในละแวกนั้น

เมื่อกินเสร็จ ทั้งสองลุกขึ้น พ่อเดินนำออกจากร้าน แต่ไม่ก่อนที่เด็กชายเอ่ยกับพ่อว่า “เราไม่ต้องเก็บถาดหรือครับ ?”

พ่อบอกลูกว่า “ไม่ต้อง” แล้วพาเด็กชายออกจากร้านไป

เห็นชัดว่าเด็กชายได้รับการสอนที่โรงเรียนว่า หลังกินอาหาร ควรยกถาดไปเก็บ เพื่อให้โต๊ะว่างสำหรับคนอื่นและรักษาความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ เด็กชายจึงสงสัยว่าทำไมพ่อไม่ทำ

ร้านกาแฟแบบนี้มีพนักงานทำหน้าที่เก็บถาดอยู่แล้ว ดังนั้นโดยตรรกะและสามัญสำนึกจึงไม่จำเป็นที่ลูกค้าต้องช่วยพนักงาน 

ความจริงคือมีคนมากมายที่คิดอย่างพ่อคนนี้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของลูกค้าต้องช่วยพนักงาน จ่ายเงินไปแล้ว ก็จบ

ไม่ใช่ธุระ “หน้าที่ใครหน้าที่มัน”

แต่ร้านกาแฟและอาหารจำนวนมากในปัจจุบัน จ้างพนักงานน้อยคนที่สุดให้ทำหน้าที่มากที่สุด พนักงานคนหนึ่งอาจต้องทำหน้าที่เป็นทั้งบาริสตา คนเก็บเงิน คนทำความสะอาดโต๊ะ คนกวาดพื้น ถูกพื้น บ่อยครั้งหากลูกค้ามาก จะมีถาดจานอาหารหรือเครื่องดื่มวางทิ้งไว้บนโต๊ะนานนับชั่วโมง สำหรับร้านนี้ บ่อยครั้งผมต้องยกถาดของลูกค้าคนก่อนไปเก็บ และทำความสะอาดโต๊ะเอง

ค่านิยมประหลาดอีกอย่างหนึ่งคือ “จ่ายเงินแล้ว ทำเลอะได้”

ลูกค้าบางคนกินข้าวนอกบ้านเลอะเทอะกว่าเมื่อกินในบ้านตัวเอง เพราะรู้ว่าไม่ต้องเก็บกวาดเอง

ที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อใช้ห้องน้ำ ก็ไม่สนใจความเลอะเทอะที่ทิ้งไว้ เพราะ “เป็นหน้าที่คนทำความสะอาด”

เมื่อไปนั่งกินอาหารในศูนย์อาหารในเมือง ผมสังเกตว่าลูกค้าชาวตะวันตกส่วนใหญ่มักยกถาดไปเก็บตรงจุดวางจานชามที่ใช้แล้ว ลูกค้าฝั่งเอเชียไม่ค่อยทำ อาจเพราะเรามีมุมมองเรื่อง ‘บริการ’ ต่างกัน คนจำนวนมากเห็นว่าบริการที่ดีคือลูกค้าไม่ต้องกระดิกนิ้วใด ๆ

เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องผิด-ถูก เป็นเพียงค่านิยมและวัตรปฏิบัติของแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรม

คำถามคือ หากเราเป็นพ่อเด็กคนนี้ เราจะสอนลูกอย่างไร เมื่อสิ่งที่โรงเรียนสอนคือสังคมอุดมคติ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ“ธุระไม่ใช่” และ“หน้าที่ใครหน้าที่มัน”

เราจะสอนเด็กว่าขอบเขตของ “ธุระไม่ใช่” กว้างแค่ไหน ในเมื่อมีหลายเรื่องในการใช้ชีวิตในสังคม อาจอยู่ในพื้นที่ของ “ธุระไม่ใช่” กับ“ธุระควรใช่”

พบเศษขยะบนทางเท้า จะหยิบมันไปทิ้งในถังขยะหรือไม่ ? พบสายไฟฟ้าหลุดห้อยข้างทางเท้า จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขหรือไม่ ? พบหลุมบนทางเท้าที่คนผ่านอาจตกลงไปได้ จะหาทางปิดมันหรือไม่? ฯลฯ

บางสังคม บางคน เมื่อเห็นขยะบนทางเท้า ก็หยิบไปทิ้งในถังขยะ บางสังคมผู้คนยอมเสียเวลาแยกขยะชนิดต่าง ๆ

บางคนไม่ยอมหยิบขยะไปทิ้ง ด้วยเหตุผลว่า “เดี๋ยวคนกวาดถนนก็ตกงานหรอก”

ใช่ไหมว่าวิธีคิดแบบ‘ไม่ยอมขาดทุน’ อาจขยายไปเป็นนิสัยไม่ยอมกัน เราเห็นวิธีคิดแบบไม่ยอมกันชัดเจนบนท้องถนน คนขับรถไม่ยอมเปิดทางให้คนอื่น เป็นหมาบนรางหญ้า

แต่ถ้าเราไม่ยอมเขาก่อนบ้าง ก็ไม่มีใครยอมก่อน

เมื่อมองทุกอย่างเป็นเรื่องกำไร-ขาดทุน มันก็กลายเป็นโลกที่แห้งแล้งทางจิตใจ

เพราะชีวิตไม่ได้มีแค่เงินทองและผลประโยชน์

ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่น

บางครั้งก็ยอมเพื่อคนอื่นบ้าง

อยู่แบบช่วย ๆ กัน

ใครจะรู้ว่าหากเรายอมกันมากขึ้น เราอาจค่อย ๆ สร้างค่านิยมและมารยาทใหม่ เหมือนธารสายเล็กที่ขยายตัวเป็นแม่น้ำ และท้ายที่สุดก็กัดเซาะภูผาแห่งความไร้เมตตาต่อกันลง

และนี่คือสิ่งที่เราสอนเด็ก และทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เพื่อที่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็สามารถสอนสิ่งดี ๆ ต่อให้ลูกหลานของพวกเขาต่อไป

ใช่…อยู่แบบช่วย ๆ กัน

////////////////////////////////////////////

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0