โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น : ปัญหาการมองโลกแบบแบ่งขั้วสองข้าง (Dichotomy) จนเกินขนาด

The MATTER

เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 03.23 น. • Thinkers

ในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง 'อยู่ไม่เป็น' กลายเป็นวาทะทางการเมืองที่ได้ยินกันหนาหู ขนาดที่เรียกได้ว่ากลายมาเป็นแคมเปญหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ และเป็นเป้าโจมตีหลักของฝั่งที่เห็นต่างเลยก็ว่าได้

เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ทางพรรคอนาคตใหม่ก็เพิ่งจะมีการจัดงาน "อยู่ไม่เป็น" ขึ้นมา และอภิปรายถึงความสำคัญและความจำเป็นในการ 'อยู่ไม่เป็น' นี้ ในขณะที่ฝั่งที่เป็นขั้วตรงข้ามหลักในเกมนี้ก็ดูจะเป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สถาบันทิศทางไทย (Thai Move Institute) ที่จัดงานทอล์กชื่อ "อยู่เย็น เป็นสุข" (ที่ดูจะจงใจดีไซน์ชื่องานให้อ่านสลับเป็น “อยู่เป็น เย็นสุข” ได้ด้วย) วันนี้ผมเลยอยากจะจับเรื่องนี้มาพูดคุยด้วยสักหน่อยครับ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผมจะเริ่มอภิปรายอะไรยืดยาวไปตามประสาของผม ผมอยากจะหมายเหตุไว้ก่อนนะครับว่า นี่ไม่ใช่บทความของความเป็นกลาง ผมเชื่อเสมอในการเลือกข้าง เพียงแค่จะให้น้ำหนักกับข้างที่เลือกมากแค่ไหน และชัดเจนกับมันเพียงใดแค่นั้น ผมเองนั้นชัดเจนมานานแล้วว่าเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนและให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังไม่ให้ความสนใจอะไรกับสถาบัน Thai Move สักเท่าไหร่ กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่าผมเองเป็นคนหนึ่งที่เชียร์พร้อมๆ ไปกับการพยายามท้วงติงในจุดที่ไม่เห็นด้วยกับอนาคตใหม่เสมอมา และครั้งนี้ก็คงจะเป็นอีกครั้งหนึ่ง

ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับการ 'อยู่ไม่เป็น' นี้ก่อน

ผมคิดว่าหากพูดแบบหยาบกร้านที่สุดแล้ว คำว่า 'อยู่ไม่เป็น' นี้

มันคือคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า 'ขบถ' (ไม่ใช่ 'กบฏ') นั่นแหละครับ

เพียงแต่ว่า เวลาใช้คำว่า 'ขบถ' นั้น มันอาจจะดูมีท่าทีที่ขึงขัง เป็นเรื่องที่ซีเรียสจริงจัง เป็นเรื่องเชิงการเมืองและอุดมการณ์ล้วนๆ สักหน่อย คำว่า 'อยู่ไม่เป็น' จึงเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือ การไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับเพดานของ ‘กรอบ’ แบบที่เป็นอยู่ ที่กำหนดว่าอะไรคือสิ่งอันเป็นปกติ ระเบียบที่พึงจะเป็น เส้นไหนที่ไม่พึงข้าม และแสดงออกในท่าทีที่ท้าทายต่อตัวกรอบที่ว่านั้น เพื่อขยายพรมแดนของความเป็นปกติจากระเบียบแบบเดิมของชุมชนการเมืองที่ตนอยู่ให้มันขยับขยายออกไปได้มากขึ้น

ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการ 'กบฏ' ซึ่งมีความหมายในแง่ของการ 'ต้าน' นะครับ ในแง่นี้ หากว่าตามชิเช็ก (Slavoj Žižek) (หนึ่งในนัก 'อยู่ไม่เป็น' ตัวพ่อ) แล้ว เราจะบอกว่าความขบถ/อยู่ไม่เป็นนี้คือเครื่องหมายที่ยืนยันการมีอยู่ของเสรีภาพก็ไม่ผิด และแม้ผมจะเขียนมาเสียดูจริงจังเหลือเกิน แต่เอาเข้าจริงแล้วผมจะบอกว่าแม้ความหมายของ 'อยู่ไม่เป็น' จะเหมือนกับ 'ขบถ' แต่ผมคิดว่ามันมีท่าทีที่ขึงขังน้อยกว่า และใช้ได้ 'ทั่วถึงและมากสถานการณ์' มากกว่าด้วย เหมือนกับที่คำว่า 'ความขัดแย้ง' ถูกปรับเสริมความงามใหม่ แล้วใช้คำว่า 'ดราม่า' แทน

ว่ากันตามตรงเลยนะครับ โดยทั่วๆ ไปแล้ว หากพูดกันแบบหลวมๆ ผมเป็นคนนิยมชมชอบคนอยู่ไม่เป็นและความอยู่ไม่เป็น ไม่เพียงเท่านั้นผมยังชอบจะเยินยอตัวเองในฐานะคนอยู่ไม่เป็น คนหนึ่งด้วย (แม้คนรอบข้างอาจจะเรียกว่าเป็น 'แม่เหล็กเรียกตีน' มากกว่า) และผมทั้งเห็น ทั้งชื่นชมท่าทีอยู่ไม่เป็นของพรรคอนาคตใหม่ที่ทำหน้าที่ในสภาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ อ.ปิยบุตร อภิปรายค้านเรื่องการ 'โอนกำลังพลฯ' นั้น สำหรับผมแล้วเป็นหมุดหมายที่สำคัญมากของการเมืองแบบรัฐสภาไทย อย่างน้อยๆ ก็นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

ท่าทีอยู่ไม่เป็นนี้ได้ปักหมุดของเขตแดนสิ่งที่ 'ทำได้/ไม่ได้' ให้ไปไกลขึ้นอีกขั้นอย่างที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว และผมเองก็ชื่นชมเรื่องนี้จากใจจริง ผมคิดว่าตอนนี้สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่หลายคนก็น่าจะได้พิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นแล้วว่าตนเองนั้นคือพวกอยู่ไม่เป็น ที่พยายามเข้ามาทำการเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นที่ตั้ง เหมือนกับที่เราเห็นและชื่นชมหลายคนที่พรรคอนาคตใหม่ยกตัวอย่างขึ้นมาในงานอยู่ไม่เป็นนั่นแหละครับ กาลิเลโอเอย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเอย เตียง ศิริขันธ์เอย ฯลฯ

ผมพูดในฐานะคนที่อยู่ไม่เป็นพอสมควรคนหนึ่งนี่แหละครับว่า ผมชื่นชมคนเหล่านี้แทบทุกคน แต่พร้อมๆ กันไป จะให้ผมยกระดับความอยู่ไม่เป็นของตัวเองเพื่อเป็นอย่างคนที่ผมชื่นชมไหม? ผมขอพูดแบบเปิดอกเลยตรงๆ ว่า “ไม่ครับ” ผมรักชาติน้อยกว่าที่ผมรักตัวเองมาก หากใครเคยตามงานเขียนและคำอภิปรายของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาบ้างตั้งแต่ยุคเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ผมก็คิดว่าน่าจะพอจำตรรกะชุดเดียวกันกับที่ทางอนาคตใหม่กำลังเรียกร้องนี้ได้ดีครับ แค่เปลี่ยนจากท่าทีที่แข็งกร้าว แบบ อ.สมศักดิ์ มาเป็นท่าทีที่นุ่มนวลสุขุม (diplomatic) มากขึ้นแบบทางอนาคตใหม่เท่านั้น

นั่นคือ “คุณควรมาเป็นแบบผม/แบบเรา” เพราะท่าทีแบบที่คุณเป็นนั้นยัง “ขบถไม่พอ ยัง critical ไม่พอ” และหากทำได้ไม่มากอย่างที่พวกท่านผู้เป็นที่สุดของการอยู่ไม่เป็นวาดหวังไว้ เราก็จะถูกจัดประเภทอยู่ในหมวดหมู่ของ 'ความอยู่เป็น' ไปซะแบบนั้น แน่นอนว่าดีกรีของพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เข้มข้นขนาดที่ อ.สมศักดิ์ เคยว่าไว้ แต่พร้อมๆ กันไปมันก็ดูจะอยู่ในโครงสร้างวิธีคิดแบบเดียวกัน คือ โครงสร้างแบบแบ่งขั้วสองข้าง (dichotomy) ที่หากไม่ใช่ A ก็ต้องเป็น B (If not A, then B) ซึ่งบอกตรงๆ ว่าผมเสียใจที่เห็นพรรคอนาคตใหม่เสนอท่าทีแบบนี้ออกมา

การเขียนแบบนี้อาจจะไม่แฟร์กับ อ.สมศักดิ์ ที่ตอนนี้สุขภาพร่างกายไม่ดีนัก แต่ผมขออนุญาตเอ่ยถึง เพื่อให้เก็ตภาพที่ผมจะสื่อมากขึ้นนะครับ ผมเองเห็นด้วย 100% เลยกับการตีความมาตรา 112 ของ อ.สมศักดิ์ (รวมถึงเห็นด้วยกับข้อเสนอ 8 ข้อ ด้วย) ว่ามาตรานี้ต้องตีความตามตัวอักษรเป๊ะๆ เพราะเป็นประมวลกฎหมายอาญา และหากว่ากันตามตัวอักษรแล้ว มาตรานี้จะคุ้มครองมากที่สุดเพียงสี่บุคคล ไม่มีทางครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์แน่นอน ฉะนั้นหากจะมีท่าทีที่ critical หรือเชิงวิพากษ์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ แล้วจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่คนไม่ทำกันเพราะยังไม่ถูกทำให้คุ้นชิน (domesticate) หรือทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ (normalization)

ผมเห็นด้วยกับการตีความทั้งหมดที่ว่ามานี้ของ อ.สมศักดิ์เลย แต่หากจะถามว่าผมกล้าทำ หรือให้ผมทำแบบอาจารย์ ผมจะทำหรือไม่ ผมตอบทันทีทันควันเลยครับว่า “ไม่” แต่พร้อมๆ กันไปผมก็นับถือ 'ทุกคนที่กล้าหรือพร้อมจะทำ' นะครับ กระนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องทำด้วยความพร้อมของตัวเอง การคิดอย่างทั่วถ้วนดีแล้วว่ามีผลกระทบอะไรด้านไหน ยังไงบ้าง ไม่ใช่ 'ตัดสินใจที่จะอยู่ไม่เป็น ด้วยเหตุผลที่ถูกชักชวนให้เป็นแบบนั้น' เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ตีความโทษ ตีความกฎหมาย ตีความความถูกผิด ไม่ใช่ตัวเราเอง หรือ อ.สมศักดิ์ แต่เป็นศาลและชุดความปกติดั้งเดิมที่เป็นอยู่ในประเทศนี้ต่างหาก ซึ่งของดั้งเดิมเหล่านี้หลายครั้งเป็นความอัปลักษณ์และเป็นฝั่งที่ผิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่ามันนำมาซึ่งความเสี่ยงให้กับชีวิตเราได้มากทีเดียว

ไม่ต้องพูดถึงท่าทีที่ critical ต่ออดีตพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีหรอกครับ ขนาดงานที่มีท่าที critical ต่อสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรอยุธยาโน่น (ในทางวิชาการแล้ว ไม่ใช่รัฐไทยเสียด้วยซ้ำ ในแง่นี้จึงไม่สามารถนับเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างเป๊ะๆ ได้ แต่เป็นพระมหากษัตริย์ของอยุธยา เหมือนที่ ออกัสตุส ซีซาร์ เป็นจักรพรรดิของโรมัน แต่ไม่ใช่อดีตจักรพรรดิของอิตาลี) ส.ศิวรักษ์ที่อภิปรายเรื่องนี้ยังโดนฟ้องเลย แม้จะถูกยกฟ้องไปในชั้นอัยการก็ตามที แต่นี่คือความเสี่ยงที่ทุกคนพร้อมรับรึเปล่า? ผมเองคิดว่าไม่นะครับ และพร้อมๆ กันไป หากมีคนเห็นด้วยกับคำเชิญชวนเหล่านี้แบบไม่ทันได้คิดถึงความเสี่ยงอย่างรอบข้าง ไม่ได้พิจารณาถึงเงื่อนไขหรือวิธีการพูดที่จะทำให้สิ่งที่อยากจะเสนอนั้นมันเป็นไปได้แบบที่พรรคอนาคตใหม่อาจจะมีความสามารถที่จะทำ ไม่ได้มีความเป็นสถาบันและกำลังสนับสนุนจากสาธารณะที่จะพอเป็นเกราะป้องกันได้ระดับหนึ่ง และต้องเจอกับสารพัดความเสี่ยงเข้ามาประดาประดัง ผู้ที่เป็นฝั่งเชิญชวนนั้นจะรับผิดชอบอะไรได้ไหวหรือ?

ตรงนี้โปรดอย่าได้เข้าใจผมผิดว่าผมไม่เห็นด้วยกับ 'การอยู่ไม่เป็น' นะครับ ดังบอกแต่แรกผมนั้นเห็นด้วยและนับถือ เพียงแค่ผมไม่เห็นด้วยกับการ 'เชิญชวนให้คนอยู่ไม่เป็น' โดยเฉพาะในเลเวลแบบคนที่พรรคอนาคตใหม่ยกตัวอย่างมา ผมคงไม่ต้องย้ำใช่ไหมครับว่ารางวัลของความกล้าหาญ ความอยู่ไม่เป็นของกาลิเลโอ, อ.สมศักดิ์, หรือคุณเตียงนั้นคืออะไร ซึ่งนั่นเป็นความเฮงซวย เลวร้าย และอัปลักษณ์อย่างเหลือแสนของประเทศนี้ของโลกนี้ แต่พร้อมๆ กันไปมันก็เป็นความเสี่ยงที่มีอยู่จริง ฉะนั้นใครที่จะไปอยู่ไม่เป็นแบบนั้น ผมไม่คิดว่าควรจะมาจากการเชิญชวน จัดตั้งอย่างเป็นขบวนการ/องค์กรทางการแบบนี้

แต่ควรจะมาจากการประเมินอย่างรัดกุมของแต่ละปัจเจกบุคคลเอง

ผมคิดว่าเราควรจะต้องมาพูดกันให้เคลียร์ก่อนนะครับว่า ต่อให้เป็นในสังคมไทยก็ตาม และแบ่งหมวดหมู่คนอย่างหยาบกร้านที่สุดแล้วจากมุมเรื่องอยู่เป็น มันไม่เคยมีแค่สองฝ่ายคือ อยู่เป็น–อยู่ไม่เป็น ครับ แต่มีอย่างน้อยที่สุดสามฝ่ายเสมอมาคือ อยู่เป็น–อยู่ไม่เป็น–ไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไรอยู่ หากการอยู่เป็นหรืออยู่ไม่เป็นสะท้อนถึง 'ความรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน' เพียงแค่เรามีท่าทีต่อโลกนั้นอย่างไรแตกต่างกัน (act accordingly ก็อยู่เป็น, not act accordingly ก็อยู่ไม่เป็น) ก็จะต้องมีฝั่งที่ 'ไม่ได้รู้ตัวว่าจะต้องรู้ตัวอะไรแต่แรก' อยู่ด้วยเสมอ

ไม่ต้องนับว่าหากแจกแจงลงไปจริงๆ มันก็จะมีทั้ง อยู่เป็นตาสว่าง, อยู่เป็นยังไม่สว่าง, อยู่ไม่เป็นตาสว่าง, อยู่ไม่เป็นยังไม่สว่าง, ฯลฯ โลกมีหลายเฉดกว่านั้นมาก และผมรู้ดีว่า อ.ปิยบุตร ที่เป็นคนชักชวนว่ามาเป็นคนอยู่ไม่เป็นเถิด ก็ทราบดี

ไม่ต้องนับว่าเวลาเราใช้คำว่า 'อยู่ไม่เป็น' เพื่อสื่อถึงพวกของเรา ในอีกแง่ก็เป็นการชี้ไปอีกฝั่งหนึ่งแบบเกือบจะพร้อมกันด้วยว่า “หากไม่มาเป็นแบบพวกเรา คุณก็เป็นพวกอยู่เป็น (ไม่ก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร) นั่นแหละ" ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ท่าทีที่ดีเลย โดยเฉพาะกับโลกการเมืองในรัฐสภาแบบนี้ คือ เราทราบแล้ว เราเห็นแล้ว เราชื่นชมแล้วกับความอยู่ไม่เป็นของทางอนาคตใหม่ในสภา ในความแน่วแน่ต่ออุดมการณ์ของอนาคตใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่ต่อให้ใครสักคนหรือหลายๆ คนรับรู้และเข้าใจการเมืองแบบนี้ แต่ถ้าเขาไม่ได้พร้อมที่จะทำแบบนั้น หรือตั้งเป้าจะทำการเมืองแบบนั้นเล่า? หากเป้าหมายในทางการเมืองของเขาไม่ใช่เป้าหมายในทางอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการเรื่องผลประโยชน์ การวิ่งหางบประมาณมาลงในเขตของเขาให้ได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่มีที่ทางอันเสมอภาคเท่าเทียมกันหรืออย่างไร? หากมี เช่นนั้นทำไมมันจึงไม่ใช่ท่าทีอันควรจะเป็นอย่างเท่าๆ กันในสายตาแบบอนาคตใหม่ด้วย?

ท่าทีที่มองความสูงกว่าของตนเองในทางการเมืองที่สู้เพื่ออุดมการณ์ ย่อมสูงส่งกว่าการเข้าสู่การเมืองด้วยมุมมองอื่นๆ นั้นยังสะท้อนอยู่ในคำพูดของธนาธรด้วย ในวันที่ไปให้ปากคำในศาลและพูดในตอนปิดว่า ตนเองไม่เหมือนทักษิณฯ นี่คือท่าทีแบบ 'moral high ground' หรือมีความสูงส่งกว่าทางจริยธรรม (ทางการเมือง) และมันเกิดจากวิธีการตัดสินโลกแบบแบ่งสองขั้ว แต่ยิ่งพูดแบบนี้ ก็จะยิ่งเห็นว่าความอยู่ไม่เป็นบนท่าทีแบบ moral high ground นั้น ไม่ได้นำเราออกไปสู่การเมืองแบบใหม่เลยนะครับ เราแค่กำลังสู้กับ 'การเมืองของคนดีแบบอนุรักษ์นิยม' โดยพยายามแทนที่มันด้วย 'การเมืองของคนดีแบบลิเบอรัล' แค่นั้นหรือ? การเมืองต้องไม่ใช่แค่เรื่องของคนดีไม่ว่าจะแบบไหนๆ หรือเรื่องของฮีโร่เท่านั้นรึเปล่า การทำเพื่อผลประโยชน์ เพื่ออุดมการณ์ เพื่อความเชื่อส่วนตัว เพื่อวิ่งงบ ฯลฯ ต้องมีระดับคุณค่าที่เท่ากันไม่ใช่หรือ?

และไม่ควรจะไปตราหน้าว่า “ควรจะมาเป็นแบบเรา อย่าเอาแต่อยู่เป็นต่อไปเลย” ไหม?

ผมไม่เถียงนะครับว่า ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดได้จากพลังของความอยู่ไม่เป็นเสียเป็นหลัก แต่นั่นไม่ใช่ทำให้การ 'อยู่ไม่เป็น' กลายเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่คนควรจะเป็น ผมคิดว่าแม้แต่อนาคตใหม่เองก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าในหมู่คนที่เฮโลไปกับกระแสอยู่ไม่เป็นเอง ก็มีอยู่มากที่ไปร่วม 'อยู่ไม่เป็นตามกระแสไปอย่างนั้น' ซึ่งหากพูดถึงกับเรื่องอื่นๆ ผมก็คงไม่ได้ใส่ใจอะไร เพราะไม่ต่างจากการมีฐานแฟนคลับธรรมดา ที่แฟนจะแห่ตามไปบ้าง แต่การหน้ามืดตามัวอยู่ไม่เป็นกลับต้องระวัง เพราะมันมีความเสี่ยงจริงๆ พ่วงมาด้วย และเครื่องไม้เครื่องมือในการส่งมอบความเสี่ยงนี้ก็มีมากขึ้นด้วย

ฉะนั้น พยายามอย่าชักชวนให้คนอยู่ไม่เป็นเลยครับ ปล่อยให้คนเขาคิดและเลือกที่จะทำเองเถิด พวกท่าน (อนาคตใหม่) ทำหน้าที่เป็นหมุดหมาย เป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นแล้ว 'เลือกจะเดินตามเอง' จะดีกว่า และโปรดหยุดท่าทีแบบ moral high ground ทางการเมืองเอาไว้ด้วย มันอันตรายทั้งกับสังคมและตัวเอง ผมคิดว่าต้องระวังเสมอนะครับกับเรื่องนี้ เพราะเส้นที่กั้นระหว่างฮีโร่กับอสูรร้ายนั้นบางมากจริงๆ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0