โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

อยาก ตั้งครรภ์แฝด ต้องทำอย่างไร มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 03.43 น.
อยาก ตั้งครรภ์แฝด ต้องทำอย่างไร มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
นอกจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว วิธีทางธรรมชาติจะได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วการ ตั้งครรภ์แฝด มีภาวะเสี่ยงอะไรบ้าง วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

สำหรับคุณสามีและคุณภรรยาที่แต่งงาน และวางแผนอยากจะมีลูกสักคน สองคน คงจะเกิดคำถามอยู่ในใจบ้างแหละว่า การที่จะมีลูกแฝดได้นั้น นอกจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยแล้ว วิธีทางธรรมชาติจะได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วการ ตั้งครรภ์แฝด มีภาวะเสี่ยงอะไรบ้าง วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ

การตั้งครรภ์แฝด

การตั้งครรภ์แฝดเกิดจาก

การตั้งครรภ์แฝดสามารถเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ และเกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ แฝดมี 2 ชนิดคือ

– แฝดเหมือน เกิดจากไข่ 1 ใบได้รับการผสมตามกระบวนการธรรมชาติ แล้วแบ่งตัวออกเป็น 2 จึงมีหน้าตาเหมือนกัน เปอร์เซ็นต์การเกิดแฝดชนิดนี้คือ 1 : 250

– แฝดไม่เหมือน เกิดจากไข่ 2 ใบ (หรืออาจมากกว่า) อาจเกิดจากการผสมทั้งตามธรรมชาติและจากการผสมเทียม เปอร์เซ็นต์การเกิดไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั่นเองที่ทำให้พบภาวะนี้ได้บ่อยมากขึ้นกว่าเดิม

รู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์แฝด?

ในช่วงแรกนั้นอาการอาจไม่แตกต่างจากครรภ์ปกติ แต่คุณแม่บางคนมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ อาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น และที่ชวนให้สงสัยมากขึ้นคือขนาดของมดลูกโตกว่าที่ควรจะเป็น เช่น อายุครรภ์จริง 3 เดือน แต่มดลูกโตเท่าอายุครรภ์ 4 เดือน เป็นต้น

เราสามารถรถวินิจฉัยครรภ์แฝดได้อย่างแน่นอนโดยการตรวจอัลตราซาวด์ ทั้งจำนวนของทารกในครรภ์ และผลของความสมบูรณ์และการเจริญเติบโตของเด็ก

ท้องแฝดต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

– สิ่งแรกที่ควรทำคือไปฝากครรภ์ ซึ่งคุณหมอจะนัดตรวจบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมีมากกว่า และเพื่อตรวจดูการเจริญเติบโตของเด็กว่าเป็นอย่างไร

– เรื่องของอาหารการกิน คุณแม่ครรภ์แฝดต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารมากกว่าแม่ตั้งครรภ์ปกติ อาหารที่ให้พลังงานต้องเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 200-300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ควรเป็นอาหารพวกเนื้อสัตว์ ส่วนจำพวกแป้งและน้ำตาลคุณหมอไม่แนะนำมาก เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอ้วนได้

– เรื่องของยาบำรุงต่างๆ เช่น ธาตุเหล็กและโฟลิก โดยทั่วไปตอนฝากครรภ์คุณหมอจะต้องให้เสริมอยู่แล้ว ยิ่งครรภ์แฝดก็ต้องเพิ่มขนาดตามไปด้วย เช่น ยาธาตุเหล็กแทนที่จะรับประทานวันละเม็ด ก็อาจจะต้องรับประทานวันละ 2-3 เม็ด

ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวัง

การตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสผิดปกติได้ เช่น

  • ปัญหาเรื่องซีด ซึ่งจำเป็นต้องได้ธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น
  • ความดันโลหิตสูง
  • เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
  • การตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกเกิดการยืดขยายมากและหดรัดตัวไม่ค่อยดีหลังคลอด จึงมีโอกาสที่จะตกเลือดหลังคลอดได้
  • TT TS (Twin to Twin Transfusion Syndrome) คือ มีเลือดวิ่งถ่ายเทระหว่างเด็กในครรภ์ด้วยกัน โดยคนหนึ่งให้อีกคนรับ เป็นภาวะที่เส้นเลือดมาต่อกันโดยบังเอิญ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคนที่ให้ก็ไม่โตสักทีตัวเล็ก คนรับก็อ้วนท้วนสมบูรณ์

ในกรณีที่เป็นมากส่วนใหญ่คนที่เสียชีวิตคือคนที่ตัวโต เพราะเกิดภาวะเลือดข้น หัวใจวาย บวมน้ำ เพราะว่าได้รับมากเกินไป แต่ถ้าขนาดต่างกันนิดหน่อยไม่เกิน 10-20 เปอร์เซ็นต์จะไม่มีปัญหา และในกรณีที่ลูกเสียชีวิตไปคนหนึ่งตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยสาเหตุใดก็ตาม คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่เสียชีวิตออก เพราะเมื่อเสียชีวิตเขาจะหยุดโต ไม่มีการเน่าเสียเพราะไม่ได้เจอเชื้อโรคภายนอก ส่วนอีกคนก็โตได้ตามปกติได้

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์โดยการใช้ผสมเทียม โอกาสเกิดการตั้งครรภ์แฝดจะมีมาก ถ้าเป็นแฝดที่มากกว่า 2 คน โอกาสมีภาวะแทรกซ้อนก็มากขึ้นตามไปด้วย การที่เด็กแฝดคลอดออกมาหลายๆ คน แล้วทุกคนแข็งแรงปลอดภัยดี ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อย ทางที่ดีไม่ควรใส่ตัวอ่อนมากเกินไป ถ้าอยากได้แฝดก็เป็นแฝด 2 หรือ 3 คนก็พอ

คลิป > หลากข้อห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์

https://seeme.me/ch/tunkaochao/9JwlWM

ที่มา :  ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0