โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

อยากเปิด “ร้านอาหารผี” วางแผนดี ทำดี จะกลายเป็น “ร้านเทวดา”

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 25 ต.ค. 2564 เวลา 07.21 น. • เผยแพร่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 05.18 น.
ร้านอาหารผี
ร้านอาหารผี

อยากเปิด “ร้านอาหารผี” วางแผนดี ทำดี จะกลายเป็น “ร้านเทวดา”

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าไปขายอาหารให้ “ผี” กิน หรือต้องตายก่อนถึงไปเปิด “ร้านอาหารผี” แต่เป็นศัพท์ที่แปลจากคำว่า “Ghost Restaurant” หมายถึงร้านอาหารที่ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องจดทะเบียนร้านอาหาร ขายอาหารทางออนไลน์ เลยเรียก “ร้านอาหารผี” เพราะว่าไม่มีตัวตนแต่ขายอาหารได้

ที่จริงยังมีร้านผีๆ ชนิดอื่นอีกมาก ที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยม ใครอยากขายอะไรก็ขาย แค่สมัครเข้าไปในเว็บ แอพขายของต่างๆ แต่ถ้าอยากเปิดร้านอาหารผีมันไม่ได้ง่ายๆ เหมือนโพสต์ขายกล้องมือสอง เพราะการทำอาหารขายออนไลน์ ไม่ได้อยู่แค่ที่ทำอาหารอะไรก็ได้ ใส่กล่อง สมัครในแอพขายอาหารแล้วจะขายได้ ขายดี กันทุกคนเมื่อไหร่ มันมีขั้นตอนดังนี้ครับ

  • ต้องทำอาหารเป็น มีคนทำ
  • ศึกษา คิดวิเคราะห์ว่าจะ “ขายอาหารอะไร” ถึงจะโดดเด่นขึ้นมาได้
  • ทดลองทำ แจกชิม แก้ไข ปรับปรุง
  • จัดสรรพื้นที่การทำ สโตร์เล็กๆ สำหรับเก็บของ ควบคุมการซื้อของ
  • ออกแบบอาหาร หน้าตา การแพ็ก ถ่ายรูป ทำเมนู
  • คิดต้นทุน ราคาขายรวมกล่อง ค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้แอพ เหลือแล้วได้กำไรเท่าไหร่
  • ควบคุมคุณภาพทั้งวัตถุดิบ หน้าตา วิธีการทำ การแพ็ก
  • ติดต่อแอพขายอาหารต่างๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าง่ายที่สุด
  • ลงมือทำจริง
  • การออกอาหารใหม่
  • การจดทะเบียนพาณิชย์
ข้อที่ 1 ต้องทำอาหารเป็น มีคนทำ

ข้อนี้เอาแค่มีทักษะพื้นฐาน หั่นเป็น ผัดเป็น เปิดเตาแก๊สได้ ก็พอทำร้านอาหารผีได้ครับ แต่ถ้าไม่มีทักษะในการทำอาหารเลย แนะนำให้ไปเข้าครัวกับคุณแม่ คุณย่า หรือไปเรียนทำอาหารมาก่อน ทางลัดมีเหมือนกันคือให้คนอื่นทำ เราคิดและคุมอย่างเดียว กรณีนี้มักจะเป็นการไหว้วานเครือญาติ ไล่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายลงไปถึงเด็กทำงานบ้าน แล้วแต่ว่าคนไหนพอมีแววจับตะหลิว หรือเก่งการครัวอยู่แล้ว ไปอ้อนวอนกึ่งเกณฑ์บังคับ ค่าตัวไม่ต้อง ถ้าขายดีอาจทิปเล็กน้อย หรือพาไปกินข้าวนอกบ้านบ้าง วิธีนี้ดีอยู่ แต่ห้ามหาเรื่องทะเลาะกับคนอื่นเขา แรงงานจะงอน พานไม่ทำเอา หรือเขาติดงานอื่นไม่มีคนทำให้ เราก็ต้องทำเองบ้าง แต่ถ้าทั้งบ้านไม่มีคน หรือไม่มีคนช่วยเลย เจ้าของต้องรับทั้งบทคนทำ คนแพ็ก คนคิดต้นทุน คิดเงิน ซื้อของ ก็จงคิดดูให้ดีก่อนทำจริงจัง “ทำไม่ได้ ส่งเขาไม่ทัน ไม่มีของ” เป็นเรื่องครับ

ข้อที่ 2 จะขายอาหารอะไร

ต้องยอมรับว่า ณ โลกออนไลน์ตอนนี้ แทบจะไม่เหลืออะไรให้ขายอีกแล้ว พวกขายกันหมด แถมร้านอาหารปัจจุบันไม่ต้องมีหน้าร้าน ใช้บ้านเปิดเป็นที่ทำอาหารก็ขายอาหารออนไลน์ได้  มีทั้งอาหารทะเล ญี่ปุ่น จีน แขก ฝรั่ง อาหารไทยโบราณ พื้นบ้าน ก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว สุกี้ หมูกระทะพวกยังทำให้เสร็จ ไม่ต้องไปปิ้งเอง คนอยากขายอาหารเลยต้องไปเสาะแสวงหาอาหารแปลกๆ เด็ดๆ มาขายเจาะกลุ่มคนสมัยใหม่ที่ชอบลอง ถ้าอร่อยติดใจก็สั่งอีก ไม่อร่อย ไม่ติดใจ และถ้าราคาแพงด้วย ยิ่งไม่สั่งอีกเลย

การระดมสมอง “ขายอะไร” จึงต้องช่วยกันคิดจริงจัง หาข้อมูล เข้าไปดูในโลกออนไลน์นี่แหละครับ ทั้งของไทย ของเทศ พวกที่ไปเที่ยวเมืองนอกบ่อยๆ มักจะมีโอกาสเห็นอะไรที่พอมีแวว “C&D” คือ copy & development มาทำในเมืองไทยได้ พวกเงินหนามักจะซื้อลิขสิทธิ์มาเลย เช่น โดนัท ทาร์ตไข่ ชานมไข่มุก เงินน้อยไปเมียงมองลองชิม แล้วมาหัดทำเอง เคยมีคนปิ๊งไอเดีย อยากทำปาท่องโก๋ใช้เตาอบไม่ต้องทอดจะได้ไม่มันน้ำมัน เอามาให้ผมลองคิด ผมคิดอยู่ 1 สัปดาห์ ให้คำตอบเขาไปว่า “เป็นความคิดที่ดีเยี่ยม แปลกใหม่มากครับ แต่ทำไม่ได้ครับ” เพราะฉะนั้น คิดอะไรขึ้นมาแล้วต้องทำได้ด้วยครับ อีกประเภทหนึ่งคิดขุดอาหารโบราณขึ้นมาขาย ประเภทมีญาติเคยทำขายมาก่อนนับว่ามีภาษีดี ไม่งั้นต้องทดลองเปิดตำราเอา เช่น กระเพาะปลาราชวงศ์ถัง

ข้อที่ 3 ทดลองทำ แจกชิม แก้ไข ปรับปรุง

ลองทำขึ้นมาชิม แจกจ่าย ดูว่าคนชอบมั้ย เราทำเอง กินเอง เราก็ว่าอร่อย แต่คนอื่นเขาอร่อยกับเราด้วยหรือเปล่า ข้อนี้เป็นการทดลองตลาด ไอ้ที่เราคิดมันใช่หรือเปล่า ถ้าคนกินแล้วเบ้ปากทุกคน เราจะได้ถอยทัพทัน หาสิ่งใหม่ต่อไป ถ้าใครกินใครชอบ ติเรื่องหน้าตา รสชาติบ้าง เราจะได้เอามาปรับปรุง ลงทุนทำจริงๆ

ข้อที่ 4 จัดสรรพื้นที่การทำสโตร์เล็กๆ สำหรับเก็บของ ควบคุมการซื้อของ

ขึ้นอยู่กับอาหารที่เราจะทำว่าเป็นอาหารประเภทไหน ของอบต้องมีเตาอบ ชงชาต้องมีกา ผัดอาหารต้องมีกระทะ พวกเครื่องปรุงต้องมีที่เก็บเป็นสัดส่วน ของสดมีที่แช่แข็ง แช่เย็น เก็บไม่ดีของจะเสีย ที่เก็บกล่อง ถุง ตะเกียบ ช้อนส้อม ถุงใส่น้ำจิ้ม อะไรต่างๆ นานา อย่าให้กระจาย อยู่ใกล้ๆ กันหาง่าย วันไหนแรงงานสไตรค์ แล้วจะรู้สึกเมื่อหาของไม่เจอ การจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนระเบียบนี้ยังช่วยในการควบคุมต้นทุน เราหาของง่าย ไม่ต้องซื้อซับซ้อน ซื้อเฉพาะที่พอใช้ ของไม่เสีย ไม่หมดคุณภาพก่อนขายหมด

ข้อที่ 5 ออกแบบอาหาร หน้าตา การแพ็ก ถ่ายรูป ทำเมนู

เป็นจุดสำคัญเลย อาหารออนไลน์จะขายได้ขายไม่ได้ อยู่ที่ถ่ายรูปอาหารสวยๆ แพ็กให้งาม มีถุงเป็นเอกลักษณ์ มีโลโก้ติดดูน่าเชื่อถือ การลงทุนเรื่องกล่องเป็นข้อสาหัสของการขายอาหารออนไลน์ กินต้นทุนไปมากกว่า 10% กล่องดีๆ ชนิดปิดสนิทน้ำไม่กระฉอก เข้าไมโครเวฟได้ ราคาประมาณ 7-10 บาท ไหนจะค่าสติ๊กเกอร์ ค่าถุงหิ้ว เครื่องมือในการกิน เปอร์เซ็นต์การขาย เหล่านี้กินต้นทุนวัตถุดิบไปโข อาหารกล่องนั้นแทนที่จะได้อาหารดีๆ เลยต้องลดคุณภาพ ลดของลง เสร็จแล้วกล่องอย่างนี้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เก็บไม่ได้ แถมยังเป็นขยะโลก ไม่เข้ายุคลดหลอด ลดพลาสติก ยังไงก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ยังไม่มีทางออก จนกว่าโรงงานเขาจะคิดแพ็กชนิดรักษ์โลกได้จริงๆ เราต้องจำยอมใช้ไป ทำอาหารขึ้นมา หากล่อง จัดถ่ายรูปโดยใช้กล่องถ่ายรูปที่เขาขายๆ กัน หรือเอาแผ่นโฟมมาตรึงปิดล้อมทุกด้าน เอาไฟยิงสะท้อนโฟมเข้า 2 ดวง อาหารก็ใสปิ๊งครับ ช่วงแรกมีรายการอาหารประมาณ 4-5 อย่างก็เพียงพอต่อการขาย ใช้วัตถุดิบให้ใกล้เคียงกัน อย่าแตกไลน์ออกไปมาก เดี๋ยวต้องสะสมของเยอะ ขายดีแล้วค่อยคิดเพิ่มเติม

ข้อที่ 6 คิดต้นทุน ราคาขายรวมกล่อง ค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้แอพ เหลือแล้วได้กำไรเท่าไหร่

เป็นข้อที่มือใหม่หลายคนไม่ยอมทำ ไม่ยอมจดบัญชี ไม่เก็บสต๊อก เอาแต่ซื้อๆ สุดท้ายถามว่ามีกำไรมั้ยขายมาตั้งนาน เขาบอกต่อกล่องกำไรแน่นอน แต่มีกล่องที่ไม่ใช้อีกเป็นพัน วัตถุดิบของเมนูที่ขายไม่ออกเก็บอยู่อีกเต็มตู้ ตกลงกำไรหรือไม่กำไร

การคิดต้นทุนง่ายๆ วัตถุดิบรวมกล่องให้อยู่ที่ 30% ของราคาขาย ค่าทำ ค่าไฟ แก๊ส ค่าทิป โน่นนี่อีก 30% ให้เหลือกำไรสุทธิประมาณ 30% เหลืออีก 10% เป็นเปอร์เซ็นต์การขายที่แต่ละแอพจะตัดเรา แต่มีแอพหนึ่งตัดถึง 35% แปลว่า เราต้องตัดกำไรลงเหลือแค่ 10-15% ต้นทุนวัตถุดิบกับค่าทำเท่าเดิม หลายคนจึงไม่ยอมขายในแอพนี้ ทำได้เท่าไหร่ให้เขาหมด

เท่าที่เจอมักจะหมดไปกับการลงทุนครั้งแรก วาดฝันไว้สวยหรูสั่งกล่องมาลงเป็นกุรุส ซื้อเนื้อ ซื้อแป้งมาเก็บเต็มตู้ พอเอาเข้าจริงขายออกวันละ 2 กล่อง แล้วเมื่อไหร่จะหากำไรมาคืนทุนได้ การวางแผนและคิดต้นทุนทุกอย่างตั้งแต่เริ่มคิดจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ การทดลอง ทำให้เราประเมินตัวเองได้ครับว่าต้องขายสักกี่กล่องถึงจะคุ้มทุน คาดการณ์การขายอย่าเพิ่งให้สวยหรู แอบผิดหวังเล็กๆ ไว้บ้าง

ข้อที่ 7 ควบคุมคุณภาพทั้งวัตถุดิบ หน้าตา วิธีการทำ การแพ็ก

เมื่อจะเริ่มขายจริง เราต้องทำคุณภาพให้คงที่ก่อน ไปโม้ไว้ว่าเป็นเนื้อโกเบ ก็ต้องเป็นเนื้อโกเบ ครับ เอาเนื้อโคขุนมาหลอกคนกินไม่ได้ หลอกได้หนเดียวเพราะคนสมัยนี้ชอบลองของแปลกของใหม่ แต่พอเขาลองแล้วผิดหวังไม่สมราคาคุย ทีนี้ล่ะรีวิวในแอพจะเป็นตัวหลอกหลอนเรา คนกินมาเขียนเอาไว้ เราลบออกไม่ได้ด้วย อย่างรายหนึ่งเขามาเขียนไว้ว่า “ถ้าใครอยากรู้ว่าเนื้อเหนียวขั้นนรกนั้นเป็นยังไง ก็ลองสั่งดู” จบเห่ครับ

ของที่ขาย จึงต้องมีคุณภาพตั้งแต่วัตถุดิบตามที่โฆษณาไว้ วิธีการทำไม่ขี้โกง ปริมาณ ส่วนผสม ปรุงรสให้เหมือนเดิมทุกครั้ง ลงกล่องจัดหน้าตาให้ดีตลอด คำนึงถึงเวลาขนส่งไม่หก ไม่กระฉอก ของไปถึงคนกินยังได้คุณภาพอยู่ ของเย็น ของร้อน ให้เป็นไปตามนั้น ร้านอาหารที่ขายตามแอพเขามักกำหนดไว้ไม่เกิน 10 กิโลเมตร จากที่คนกินค้นหา ไกลมากกว่านั้นส่งถึง แต่ไม่อร่อยครับ

เด็กสาวคนหนึ่งมีความคิดบรรเจิดไปเที่ยวญี่ปุ่นกลับมา เห็นอาหารญี่ปุ่นเขาทำรูปสวย กล่องสวย มีอาหารเก้าช่อง ใส่สิ่งละอันพันละน้อย จดจำมาทำในเมืองไทยบ้าง ลงทุนหิ้วกล่องเก้าช่องมาจากญี่ปุ่นนับพันใบ กะว่าเอาจริงแน่ แล้วก็ลงมือทำ คิดทดลองสูตรอาหารกับเพื่อน 2 คน ในเก้าช่องมีทั้งปลาแซลมอน ลูกชิ้นปิ้ง ผัดผัก ผักดอง ข้าวญี่ปุ่น 3 ชนิด หมูตุ๋น ผักทอด พอได้ที่ทำการโฆษณาผ่านแอพสั่งอาหารทุกช่องทาง มีโปรโมชั่นลดครึ่งราคา ทำใบปลิวไปแจกคนที่ทำงาน เริ่มสตาร์ตดูดี มีออร์เดอร์เข้ามาเป็นร้อยกล่อง ต้องระดมคนทำแทบไม่ทัน จากออร์เดอร์ 100 ไปๆ เหลือ 50 จนสุดท้าย เหลือวันละกล่อง และไม่มีเลย เธอก็มาปรึกษาผม ทำไงดี กล่องเก้าช่องเหลือนับพัน เกะกะคุณยายด่า จะเอาไปใส่อาหารไหว้เจ้า เสียบธูป ก็เสียดาย ผมเคยลองกินอาหารเก้าช่องของเธอแล้วครั้งเดียว ไม่ติดใจ เนื่องจากคุณภาพอาหารไม่ได้ รสชาติอาหารไม่ถูกปากคนไทย จืดๆ เค็มๆ อาหารเป็นอาหารที่ทำเก็บแช่เย็น เพราะกระบวนการในการปรุงอาหารแต่ละชนิดทำช้า ไม่สามารถทำได้สด บางวันแซลมอนก็ชิ้นใหญ่ บางวันชิ้นเล็ก ของทอดก็เหี่ยวไม่กรอบ ถ้าเธอมีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่แล้ว การทำอาหารเก้าช่องอย่างนี้จะง่ายขึ้นและได้ของสด ของเธอกลายเป็นต้องสะสมวัตถุดิบเยอะ เก็บไว้ไม่นานก็เสีย ช่วงหลังเธอเลยตัดใจเลิกขายเก้าช่อง หันมาขายข้าวหน้าปลาไหล กับหน้าเนื้อย่างแทน ข้าวหน้าปลาไหลไปได้ดีที่สุด ราคาถูกกว่ากินตามร้านญี่ปุ่น คุณภาพพอฟัดพอเหวี่ยง การจัดแต่งสวยงาม กระบวนการทำง่ายกว่าเก้าช่อง แค่เวฟ ทอด ช่วงแรกเธอทำโปรโมชั่นลดครึ่งราคา ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พอหมดโปร ยอดเหลือวันละไม่กี่กล่อง โปรนานไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแพง ส่วนข้าวเนื้อย่างไม่ค่อยดี เนื้อแต่ละล็อตนุ่มเหนียวไม่เหมือนกัน คุณภาพอาหารที่ออกไปจึงไม่คงที่ คนกินไม่ติดใจ

อีกเจ้าหนึ่งซื้อลิขสิทธิ์เกี๊ยวซ่าหน้าชีสมาจากญี่ปุ่น มาทำขายเอง แป้งจ้างโรงงานผลิต ไส้ทำกันเองจนรสชาติได้ที่ จ้างคนมาช่วยกันจีบ คุมคุณภาพจนคงที่ ไม่ต้องทำโปรโมชั่นมาก ยอดขายไปได้เรื่อยๆ วันละหลายสิบกล่อง เป็นข้อยืนยันว่าการทำโฆษณา โปรโมชั่นมีส่วนช่วยยอดขาย แต่ถ้าร้านอาหาร หรืออาหารของเราไม่มีคุณภาพ ก็แป้กได้ง่ายๆ ครับ

ข้อที่ 8 ติดต่อแอพขายอาหารต่างๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าง่ายที่สุด

เขามีข้อมูลลงไว้ให้หมดแล้วครับ แค่คลิกเข้าไปที่เว็บหรือแอพนั้น หรือพิมพ์ในอากู๋ “วิธีสมัครขายอาหารกับแอพ” ขึ้นมาให้อ่านเยอะแยะ การสมัคร ข้อแม้ เปอร์เซ็นต์ที่หัก ระยะทางในการส่ง ขั้นตอนการเก็บเงิน การเปิดบัญชี การทำโปรโมชั่น การลงโฆษณาซึ่งเสียตังค์เพิ่ม เมื่อไหร่มีโปร 50% ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และขาดทุนเป็นเทน้ำด้วย โปรเอาไว้กระตุ้นยอดขายแต่ไม่ได้กำไร ทำโปรบ่อยไปลูกค้าก็เมินเพราะรู้ว่าบวกราคาไว้แล้วถึงทำโปรได้บ่อย แต่ละแอพจะมีเครื่องมือเป็นแท็บเลตมาให้เอาไว้ติดต่อกับลูกค้าและแอพ พวกนี้ศึกษาหน่อยก็ทำได้แล้วครับ จะเลือกของเจ้าไหน เอาสักเจ้า หรือเอาทุกเจ้า อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายทวีขึ้นตามแต่ละเจ้า เมื่อไหร่เลิกโฆษณา เลิกทำโปร เราจะหล่นไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ แต่ถ้าจ่ายตังค์ให้เขาได้ขึ้นต้นๆ เลย

ร้านอาหารผีที่มีคุณภาพ ทำอร่อยจริง มีคนรีวิวชอบมากๆ ชื่อเสียงสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นร้านผีมีชื่อเสียง ถึงตอนนั้นการโฆษณา การทำโปรก็ลดน้อยลงได้ เพราะร้านของเราอยู่ได้ด้วยคุณภาพจริงๆ ส่วนร้านใหม่ๆ ทำใจเลยต้องตัดกำไรมาเป็นค่าโสหุ้ยนี้แน่นอน ต่อให้อร่อยแค่ไหน เขาก็หาเราไม่เจอครับ

ข้อที่ 9 ลงมือทำจริง

เป็นส่วนที่ยากที่สุด เราต้องทำให้ถูกต้อง ตรงตามออร์เดอร์ ทำให้ทันเวลาส่วนใหญ่ให้เวลา 1 ชั่วโมงนับจากสั่ง คุณภาพต้องคงที่เท่ากันทุกออร์เดอร์ ของต้องมี ไม่หมด แอพแต่ละแอพมีข้อกำหนดว่าเราปฏิเสธลูกค้าได้กี่ครั้ง เกินกี่ครั้งถูกตัดสิทธิ์ หรือส่งไม่ทันทำนองนี้ ขายไม่ดีมีปัญหาของสะสมเหลือ ขายดีมีปัญหาทำไม่ทัน ของหมด สะสมไม่พอ คุณภาพชุ่ย เร่งรีบ

ข้อที่ 10 ออกอาหารใหม่

อันนี้สำหรับคนที่ขายได้ติดลมบนแล้ว เมื่อขายไปพักใหญ่ เราต้องมีการรีวิวตัวเราเอง ปรับเมนู เพิ่มเมนูใหม่ๆ ไม่ให้คนจำเจ อะไรดีคนชอบเอาไว้ อะไรไม่ดีคนสั่งน้อยเอาออก เพิ่มเมนูใหม่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารผี หรือร้านอาหารมีตัวตน เหมือนกันที่เราย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดให้ดีขึ้นเรื่อย

ข้อที่ 11 การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ทำให้ถูกต้องซะเถอะครับ ช่วยชาติ ถ้าเราขายได้ มีกำไร มียอดขาย ไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เข้าระบบของราชการ ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ มีเครื่องหมายรับรองไม่ได้เป็นร้านผีอีกต่อไป คนกินคลิกมาเจอเราก็เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น การจดทะเบียนเป็นได้ทั้งคนธรรมดา และจดทะเบียนนิติบุคคล การเสียภาษีเสียตามใบเสร็จ มีใบกำกับภาษี vat 7% เข้าไปศึกษาได้ พิมพ์ค้นหาตามหัวข้อนี้เลยเดี๋ยวก็เจอ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อควรคำนึง เมื่ออยากจะเปิดร้านอาหารผี วางแผนดี ทำดี “ร้านผี” จะกลายเป็น “ร้านเทวดา” ครับ

เรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย! Workshop สร้างอาชีพสุดปัง! “How To มูฟออน : เริ่มต้นอาชีพใหม่ กับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์” ที่คัดมาแล้วว่าเด็ดสุดในปี 2021 เรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย! . เปิด 3 คอร์สอาชีพที่คัดมาแล้วว่าอินเทรนด์ไม่ต้องกลัวเอาต์! เรียนรู้ไว้เป็นต้นทุนสู้กับวิกฤต กับกูรู SMEs ตัวจริง! 3 วัน 3 คอร์สอาชีพ แอบกระซิบว่ารับแค่คอร์สละ 20 คนเท่านั้น!! . ⦿29 ตุลาคม | พบกับ Workshop “How To ขายอาหารออนไลน์ ทำอย่างไรให้ได้กำไร” โดย อาจารย์ยศพิชา คชาชีวะ จากสถาบันโรงเรียนแม่บ้านทันสมัย ที่เป็นทั้งกูรู วิทยากร คอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง และอีกมากมาย แนะนำทริกสร้างธุรกิจ “Cloud Kitchen” หรือ อาหารดีลิเวอรี่ อย่างไรให้ยอดขายปัง! . ⦿30 ตุลาคม | เอาใจผู้ที่ชื่นชอบสาย “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” อาชีพของคนรุ่นใหม่ สร้างรายได้จากสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ กับ Workshop “How To ทำเพจให้ปังติดตลาด คนติดตามเป็นล้าน” โดย คุณบูม-เทพศิรินทร์ กุนมี เจ้าของเพจ “มูมมาม” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน! พร้อมแนะวิธีสร้างสตอรี่ลงเพจอย่างไรให้น่าสนใจ . ⦿31 ตุลาคม | ปิดท้ายด้วยอาชีพที่มาแรงแซงทางโค้งที่สุดในตอนนี้ กับธุรกิจขายต้นไม้ออนไลน์ ใน “How To ขายต้นไม้ออนไลน์ ทำอย่างไรให้ได้เงินล้าน” โดย คุณอรรถกร เอี่ยมเจริญ ที่ผันตัวจากงานประจำมาจับธุรกิจเกษตรออนไลน์ สร้างยอดขายเดือนละ 3 ล้านบาท!! . สำหรับใครที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ คลิก >> https://bit.ly/3pdLYy8 . พบกัน 29-31 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00-15.00 น. มติชนอคาเดมี แผนที่ : https://bit.ly/2Xf72bW . ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Sentangsedtee – เส้นทางเศรษฐี Website : www.sentangsedtee.com หลังคลายล็อกดาวน์ เราต้องรอด! . #MOVEONเริ่มต้นอาชีพใหม่กับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ #Workshopสร้างอาชีพ #เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ #เรียนฟรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0