โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อยากบินก็ต้องเสี่ยง! การบินไทยเปิดขายตั๋วเครื่องบิน 36 เมือง 37 จุดบินทั่วโลก ส.ค.นี้

Manager Online

เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 10.25 น. • MGR Online

พบการบินไทยเปิดให้สำรองที่นั่งเที่ยวบินระหว่างประเทศแล้ว เริ่มทำการบินช่วง 1-3 ส.ค. รวม 36 เมือง 37 จุดบินทั่วโลก พบราคาตั๋วช่วงแรกแพง ก่อนจะค่อยๆ ลดในช่วงหลัง แต่เสี่ยงตรงที่ลุ้นมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ถ้าบินไม่ได้โอกาสคืนเงินเร็วเป็นไปได้ยาก เพราะกำลังลุ้นแผนฟื้นฟูศาลล้มละลายกลาง

วันนี้ (7 ก.ค.) เฟซบุ๊ก HFlight.net ตั๋วเครื่องบิน รีวิว สายการบิน โรงแรมและการท่องเที่ยว ได้โพสต์ข้อความระบุว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการเปิดให้สำรองที่นั่งในเที่ยวบินระหว่างประเทศในเส้นทางบินต่างๆ ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดผ่านระบบจัดจำหน่ายและสำรองที่นั่งทั่วโลก (Global Distribution System - GDS) พบว่า การบินไทยจะกลับมาทำการบินในเดือนสิงหาคมนี้จากฐานการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ไปยังเมืองต่างๆ รวม 36 เมือง 37 จุดบินทั่วโลก (ไม่รวมฐานการบินที่กรุงเทพฯ)

โดยวันที่ 1 ส.ค. เริ่มทำการบินเส้นทางโคเปนเฮนเกน (CPH) ประเทศเดนมาร์ค วันละ 1 เที่ยวบิน, นิวเดลี (DEL) ประเทศอินเดีย วันละ 1 เที่ยวบิน, แฟรงก์เฟิร์ต (FRA) ประเทศเยอรมนี วันละ 1 เที่ยวบิน, ฮานอย (HAN) ประเทศเวียดนาม วันละ 1 เที่ยวบิน, โฮจิมินท์ (SGN) ประเทศเวียดนาม วันละ 1 เที่ยวบิน, ฮ่องกง (HKG) วันละ 1 เที่ยวบิน, อิสลามมาบัด (ISB) ประเทศปากีสถาน สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, การาจี (KHI) ประเทศปากีสถาน สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, ลอนดอน (LHR) สหราชอาณาจักร วันละ 1 เที่ยวบิน, เมลเบิร์น (MEL) ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, มิวนิค (MUC) ประเทศเยอรมนี สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน, โอซาก้า (KIX) ประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, พนมเปญ (PNH) ประเทศกัมพูชา วันละ 1 เที่ยวบิน

โซล (ICN) ประเทศเกาหลีใต้ สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน, ไทเป (TPE) ไต้หวัน วันละ 1 เที่ยวบิน, โตเกียว (นาริตะ) (NRT) ประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, โตเกียว (ฮาเนะดะ) (HND) ประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, เวียงจันทน์ (VTE) ประเทศลาว วันละ 1 เที่ยวบิน, ย่างกุ้ง (RGN) ประเทศเมียนมา วันละ 1 เที่ยวบิน, กวางโจว (CAN) ประเทศจีน สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, ปารีส (CDG) ประเทศฝรั่งเศส สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, ซิดนีย์ (SYD) สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, เดนปาซาร์ (DPS) ประเทศอินโดนีเซีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, ธากา (DAC) ประเทศบังคลาเทศ สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, ละฮอร์ (LHE) ประเทศปากีสถาน สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, นาโงย่า (NGD) ประเทศญี่ปุ่น สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และซูริก (ZRH) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน

วันที่ 2 ส.ค. เริ่มทำการบินเส้นทางปักกิ่ง (PEK) ประเทศจีน สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, บริสเบน (BNE) ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, กัวลาลัมเปอร์ (KUL) ประเทศมาเลเซีย สัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน, มะนิลา (MNL) ประเทศฟิลิปปินส์ สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน, เพิร์ท (PER) ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, เซี่ยงไฮ้ (PVG) ประเทศจีน สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน, สิงคโปร์ (SIN) สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน และบรัสเซลส์ (BRU) ประเทศเบลเยียม สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน, วันที่ 3 ส.ค. เริ่มทำการบินเส้นทางโอ๊คแลนด์ (AKL) ประเทศนิวซีแลนด์ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน และจากาตาร์ (CGK) ประเทศอินโดนีเซีย สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน

สำหรับจุดบินที่เคยทำการบินในช่วงตารางการบินฤดูหนาว 2019/2020 และยังไม่กลับมาทำการบินในเดือนสิงหาคมนี้ได้แก่ กาฐมาณฑุ (KTM) ประเทศเนปาล, โคลัมโบ (CMB) ประเทศศรีลังกา, มุมไบ (บอมเบย์) (BOM) ประเทศอินเดีย, กัลกัตตา (CCU) ประเทศอินเดีย, ไฮเดอราบัด (HYD) ประเทศอินเดีย, เบงกาลูรู (BLR) ประเทศอินเดีย, เจนไน (MAA) ประเทศอินเดีย, ซับโปโร (CTS) ประเทศญี่ปุ่น, เซ็นได (SDJ) ประเทศญี่ปุ่น, ฟุกุโอกะ (FUK) ประเทศญี่ปุ่น, ปูซาน (PUS) ประเทศเกาหลีใต้, เซี่ยะเหมิน (XMN) ประเทศจีน, เฉิงตู (CTU) ประเทศจีน, คุนหมิง (KMG) ประเทศจีน, ดูไบ (DXB) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, มัสกัต (MCT) ประเทศโอมาน, โรม (FCO) ประเทศอิตาลี, มิลาน (MXP) ประเทศอิตาลี, มอสโก (SVO) ประเทศรัสเซีย, เวียนนา (VIE) ประเทศออสเตรีย, สตอกโฮล์ม (ARN) ประเทศสวีเดน และออสโล ประเทศนอร์เวย์ (OSL)

ผู้สื่อข่าว MGR Online ได้ตรวจสอบการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านระบบ Royal e-Booking ทางเว็บไซต์ Thaiairways.com เมื่อเวลา 17.00 น. พบว่าได้เปิดขายตามที่เฟซบุ๊ก HFlight.net ระบุไว้จริง โดยพบว่าช่วงแรกที่ทำการบินราคาบัตรโดยสารจะสูงที่สุด เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ลอนดอน (BKK-LHR) วันที่ 1 ส.ค. ราคาเริ่มต้นที่ 35,085 บาท ยาวไปจนถึงวันที่ 21 ส.ค. ก่อนที่วันที่ 22 ส.ค. เป็นต้นมา ราคาจะลดลงมาเหลือเริ่มต้นที่ 20,635-22,785 บาท ก่อนที่ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. และวันที่ 1-2 ก.ย. ราคาเริ่มต้นที่ 35,085 บาท และหลังจากวันที่ 3 ก.ย. ราคาเริ่มต้นที่ 20,635 บาท

แต่ถึงกระนั้นยังมีความเสี่ยงจากการกำหนดมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยจากรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และการกำหนดมาตรการเข้า-ออกนอกประเทศ โดยประเทศปลายทาง และหากไม่สามารถทำการบินได้การคืนเงินยังไม่สามารถทำได้โดยเร็ว เนื่องจากบริษัทฯ ยังอยู่ในขั้นตอนการเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งจะนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยให้ทำได้เฉพาะบุคคลตามข้อยกเว้น 11 ประเภท เครื่องบินพาณิชย์สำหรับนักท่องเที่ยว ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยต้องตรวจสอบว่าเป็นบุคคลตามข้อยกเว้น 11 ประเภทหรือไม่ เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขบุคคลแต่ละประเภท ติดต่อสถานทูตไทยหรือกงสุลไทย ประจำประเทศต้นทางเพื่อยื่นเอกสารที่จำเป็น และปฏิบัติตามเงื่อนไขการจองตั๋วเครื่องบิน เพื่อขอหนังสือรับรอง Certificate of Entry หรือ COE

วันเดินทางจะต้องยื่นเอกสารต่อสายการบิน ได้แก่ เอกสารแสดงตน เช่น หนังสือเดินทาง (Passport), หนังสือรับรอง COE, ใบรับรองการตรวจโควิด-19 (COVID-19 FREE) โดยวิธี RT-PCR มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง เฉพาะบุคคลบางประเภท, ประกันภัยครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลาในไทย ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (3,123,650 บาท) เฉพาะบุคคลบางประเภท และหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ตามปริมาณที่สายการบินกำหนด โดยต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง และปฏิบัติคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือลูกเรืออย่างเคร่งครัด

เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ผู้เข้ามาระยะสั้น ไม่เกิน 14 วัน จะต้องตรวจเชื้อโดยวิธี RT-PCR ที่สนามบิน และดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้ติดตามอาการและการเข้าสถานที่ต่างๆ ส่วนผู้เข้ามาระยะยาวมากกว่า 14 วัน จะต้องตรวจคัดกรองอาการ ทางเดินหายใจและวัดไข้ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้ติดตามอาการและการเข้าสถานที่ต่างๆ และเข้ารับการกักตัว 14 วัน

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0