โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

อมตะที่แท้ทรู : 'Ragnarok' เกมเขย่าสังคมไทยที่อยู่ในใจผู้คนมาแล้วเกือบ 20 ปี

Main Stand

อัพเดต 01 มิ.ย. 2563 เวลา 09.46 น. • เผยแพร่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ชยันธร ใจมูล

Ragnarok กลับมาแล้ว! เสียงของวัยรุ่นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วประสานกันอย่างไม่ได้นัดหมาย เมื่อบริษัท Gravity กลับมาเปิดบริการเกม Ragnarok อีกครั้ง 

 

นี่คือเกมออนไลน์ที่สร้างแรงกระเพื่อมมากที่สุดในสังคมไทย เรียกได้ว่าครั้งหนึ่งเกมนี้เคยเป็นเหยื่อที่ทำให้คนมองว่า "เกมทำลายเยาวชนของชาติ" มาแล้ว

ทำไมเกมนี้จึงถูกมองว่าอันตราย และทำไมเกมนี้จึงไม่ยอมตายเสียที ในขณะที่เกมออนไลน์รุ่นราวคราวเดียวกันเหลือเพียงแค่ตำนานเท่านั้น …

ในยุคที่เกมอื่นๆ ชิงความนิยมจากแฟนๆด้วยกราฟฟิกที่เหนือชั้นและเกมเพลย์ที่ลื่นไหล แต่ Ragnarok กลับอยู่ได้ด้วยตัวการ์ตูน 2D มาเกือบ 20 ปี ทำไมเป็นเช่นนั้น?

ติดตามกับ MainStand ได้ที่นี่ 

 

เกมที่สังคมไทยไม่เคยเจอ…

ยุค 2000's นั้นคือยุคที่เกิดการผลัดเปลี่ยนหลายอย่างในแง่ของเทคโนโลยี หลังจากที่ในช่วงปี 90's เกมคอนโซลจากเครื่องเพลย์สเตชั่นบุกครองตลาดวัยรุ่นทั่วโลก ชนิดที่ว่าใครไม่เคยเล่นเกม "เพลย์ 1" นั้นก็ถือว่าคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง 

Photo : www.compgamer.com

รูปแบบการเล่นเกมของยุค 2000's นั้นเปลี่ยนไปมาก เนื่องจาก PC ที่สมัยก่อนเรียกกันง่ายๆว่า "เกมคอม" เริ่มเข้ามาสร้างความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ Starcraft, Warcraft (เกมต้นแบบของ Dota), Diablo, Half-Life, Command & Conquer: Red Alert, Battle Realms และ Counter-Strike เป็นต้น

ความนิยมเหล่านี้มีเครื่องยืนยัน คือมีร้านบริการเกมคอมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงยุคดังกล่าว โดยแต่ละเกมสามารถเพิ่มอรรถรสความสนุกในเบบที่เกมเพลย์สเตชั่นให้ไม่ได้ นั่นคือการเล่นกันแบบ LAN ที่ทำให้ใครก็ตามที่เล่นในร้านเดียวกันสามารถเข้ามาดวลกันในเกมได้ผ่านการเชื่อมต่อผ่านสายแลนนั่นเอง ซึ่งการได้แข่งกันแบบนี้ทำให้ผู้เล่นแต่ละคนเกิดอาการ "ลุกยาก" เล่นแล้วติดเลิกไม่ได้จนกว่าจะชนะหรือชั่วโมงหมด ดังนั้นจึงเกิดเรื่องคลาสสิกตามมาหลายอย่างทั้ง "เด็กเกาะเบาะ", แม่ตามมาตีในร้านเกมเพราะไม่ยอมกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งพูดจาทับถมกันจนชกต่อยกันเองก็มี … นี่คือบรรยากาศคร่าวๆ ของเกมแบบ LAN นั่นเอง 

อย่างไรก็ตามยุคของ Counter-Strike และเกมอื่นๆ แบบ LAN ก็ถูกสั่นคลอนในช่วงปี 2002 เมื่อบริษัท Asiasoft ขอซื้อลิขสิทธิ์จาก Gravity เพื่อนำเกม Ragnarok Online มาเปิดบริการในเมืองไทย เมื่อนั้นความโกลาหลและมิติใหม่แห่งการเล่นเกมของคนไทยก็เกิดขึ้น ชนิดที่ว่า ณ เวลานั้นไม่มีเกมไหนจะอิมแพ็คต์เท่าเกมนี้อีกแล้ว 

หากจะถามว่าอิมแพ็คต์ขนาดไหน ก็คงต้องบอกว่าเป็นเกมแรกที่กล้าเก็บเงินผู้เล่นในการเข้าเล่นเกม กล่าวคือแม้ตัวเกมจะโหลดฟรีได้ แต่ถ้าจะเข้าเล่นต้องเติมเงินเพื่อซื้อ Air Time เข้ามาเพื่อล็อกอินเข้าในเกม ราคาของบัตรเติมเงินนั้นมีตั้ง 50 จนไปถึงหลัก 1 พันบาท แต่ถึงแม้จะเก็บเงินค่าเข้าเล่น สุดท้ายแฟนๆ ก็พร้อมจะเปย์ไม่อั้น เพราะไม่มีทางเลือกมากมายนัก เมื่อติดแล้วก็ต้องเติม เหมือนที่สมัยนี้พูดกันว่า "ของมันต้องมี" นั่นแหละ 

 

โลกเสมือนจริงที่หยุดไม่ได้ 

Ragnarok นั้นเป็นเกมออนไลน์เจ้าแรกๆ ที่เปิดบริการในไทย เกมออนไลน์ คือเกมนี้ไม่ต้องกดเซฟ (เพราะเซฟให้เองอัตโนมัติ) เล่นออนไลน์ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตกับผู้คนทั่วโลก ดังนั้นให้ลองคิดภาพง่ายๆ แค่เล่นในร้านเกม LAN ยังมีเรื่องราวมากมายขนาดนี้ เมื่อเป็นเกมออนไลน์ที่ต้องเจอกับคนอื่นๆ อีกมากมาย ความโกลาหลก็เกิดขึ้น

Photo : blogspot.com

หากจะให้อธิบายเกม Ragnarok คงต้องบอกว่านี่เป็นเกมแนว MMORPG หรือเป็นเกมแบบโอเพ่นเวิลด์ (Open World) สามารถเดินไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้แล้วแต่ผู้เล่นต้องการ ซึ่งคอนเทนท์หลักๆ แล้วคือการสู้กับมอนสเตอร์เพื่อเก็บเลเวลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นๆ ในเกมผ่านการแชทผ่านตัวอักษรอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้ผู้เล่นได้ความสนุกจากตัวเกมไปพร้อมๆ กับการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ที่รู้ตัวอีกทีก็หยุดเล่นไม่ได้เสียแล้ว 

ไม่น่าเชื่อว่าแค่เกมเก็บเลเวลพร้อมกับกราฟฟิกแบบ 2D ได้กลายเป็นกระแสในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความนิยมขึ้นมาภายในเวลาไม่กี่เดือน เรียกได้ว่าถ้าย้อนกลับไปยุคนั้นแล้วเดินเข้าไปในร้านคอม ก็แทบจะเห็นหน้าจอเป็นเกม Ragnarok ทุกเครื่อง นอกจากนี้ยังมีเว็บบอร์ดพูดคุยเกี่ยวกับนี้ในเว็บไซต์ระดับตำนานอย่าง Pramool.com ที่กระทู้การถาม-ตอบ ของเหล่าผู้เล่นไหลทั้งวันตามอ่านกันแทบไม่หมดเลยทีเดียว รวมถึงการเป็นเกมที่มีนิตยสารรายสัปดาห์วางขายชื่อว่า RO-News และ RO-Club 

Photo : www.ragnarok.co.ph

เมื่อเกิดกระแสครั้งใหญ่ในแบบที่ไม่เคยมีเกมใดทำได้ Ragnarok จึงก้าวไปอีกขั้น นั่นคือการถูกพูดถึงบนหน้าสื่อในแง่มุมของเกมที่ "มอมเมาเยาวชน" ซึ่งเกิดมาจากเรื่องราวหลายๆ เรื่อง อาทิ การซื้อขายไอเท็มในเกมเป็นเงินจริงที่มีการโกงกันเกิดขึ้น ซึ่งสินค้าบางชิ้นนั้นมีราคาถึงหลัก 1 แสนบาท ซึ่งไม่ใช่เงินที่หาง่ายเลยในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ถูกสื่อนำเสนอ ทั้งการทำร้ายร่างกายจากการโกงการซื้อขายแบบนัดเจอ, วัยรุ่นเด็กสาวยอมค้าประเวณีเพื่อให้ได้ไอเท็มระดับ S คลาสในเกมมาครอบครอง 

ซึ่งปัญหานี้ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมายให้เยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถออนไลน์ได้ถึงแค่เวลา 4 ทุ่ม (22:00 น.) เท่านั้น ส่วนใครที่อายุเกินนั้นต้องไปลงทะเบียนยืนยันที่สำนักงานไปรษณีย์จึงสามารถเล่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากจะว่ากันตรงๆ แล้วในยุคนั้น เด็กๆ หลายคนก็ให้พี่, ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งคนข้างบ้านไปลงทะเบียนแทน เพราะต้องการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากจุดนี้เห็นได้ชัดว่า Ragnarok คือหนึ่งในเกมที่สร้างอิทธิพลกับผู้เล่นมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว

 

อีสปอร์ตยุคแรกๆ 

พูดถึงในแง่ของรายละเอียดแล้ว Ragnarok มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ทั้งอาชีพของตัวละคร อุปกรณ์สวมใส่ และการ์ดจากมอนสเตอร์ต่างๆ ที่ทั้งหมดสามารถหยิบจับผสมกันได้ตามใจตามถนัด

Photo : www.ro.com

ซึ่งจุดตัดสินกันว่าใครเก่งไม่เก่งนั้นขึ้นอยู่กับการเอาตัวละครมาสู้กัน ในโหมดที่เรียกว่า PVP ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในตัวละคร การกดสกิลต่างๆ และการเลือกอุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถแก้ทางฝ่ายตรงข้ามในเวลาเดียวกัน ซึ่งโหมด PVP นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนนำมาซึ่งสงครามที่ใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบของ “กิลด์วอร์” ซึ่งก็คือการสู้กันของ กิลด์ (หรือแก๊ง) ต่างๆ เพื่อแย่งชิงปราสาทมาให้ได้ และกิลด์ใดที่มีปราสาทครอบครองนั้นจะถูกมองว่าเป็น “พี่ใหญ่” ของเซิฟเวอร์ เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล ราวกับเป็นเน็ตไอดอลเลยทีเดียว

ความนิยมของ กิลด์วอร์ นั้นได้นำมาสู่การแข่งขันแบบจริงจังมากขึ้น ในยุคการบูมของตัวเกมนี้ มีการจัดแข่งขันกันอย่างแพร่หลาย ทั้งการชิงแชมป์ประเทศไทย รวมไปถึงการชิงแชมป์โลกเลยทีเดียว ซึ่งความสุดยอดของเกมเมอร์ไทยนั้นเรียกได้ว่าเป็นระดับท็อปของโลก  มีตัวแทนของประเทศไทยที่คว้าแชมป์ RWC (ชิงแชมป์โลก Ragnarok) มาแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีไม่กี่เกมที่ถึงขั้นชิงแชมป์โลกกันและมีเงินเดิมพันหลักล้านบาทแบบนี้ เรียกได้ว่า Ragnarok นั้นถือเป็นอีสปอร์ตที่มาก่อนกาลก็ว่าได้ 

 

ความนิยมตก…แต่ยังไม่ตาย

ความนิยมที่พุ่งทะยานถึงขีดสุดตั้งแต่เปิดเกม ทว่าตั้งแต่ปี 2006 ความนิยมของ Ragnarok ก็ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลจากความ "ตัน" ของตัวเกม บวกกับการเกิดเซิฟเวอร์เถื่อนที่ดึงผู้เล่นจากเซิฟเวอร์ถูกลิขสิทธิ์ จนสุดท้ายเซิฟเวอร์แท้ ก็ต้องปิดบริการไป …

Photo : www.flashfly.net

แม้จะดูเป็นการสิ้นยุคสมัย เพราะมีเกมออนไลน์อื่นๆ ตามหลังมามากมาย ทว่า Ragnarok นั้นยังอยู่ในสถานะที่ยังไม่ตายสนิท เนื่องจากมีเซิฟเวอร์เถื่อนเปิดบริการมากมาย และคนเล่นก็มีจำนวนหลักหมื่น บางเซิฟเวอร์เหยียบๆ แสนคนเลยก็มี ดังนั้นความนิยมยังคงมีอยู่ เพียงแต่ว่าเกิดขึ้นในรูปแบบการเล่นใต้ดินเท่านั้น

ขณะที่เจ้าของลิขสิทธิ์แท้พยายามจะพัฒนาเกมให้ออกมาในรูปแบบใหม่ๆ ทั้ง Ragnarok Online 2 ที่เปลี่ยนให้เกมเป็นแนว 3D และเดินเควสต์ ตามแบบฉบับเกมออนไลน์สมัยยุคปี 2010 ซึ่งสุดท้ายแล้วกระแสตอบรับกลับล้มเหลว และปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เกิดซีรี่ส์เกม Ragnarok ออกมาในอีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งวางแผน ตะลุยด่าน เก็บเลเวล แม้กระทั่ง ทำฟาร์ม ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่มีรูปแบบเกมใดสามารถทำลายสถิติความนิยมของเวอร์ชั่นคลาสสิกลงไปได้ 

Photo : www.thailandesportclub.com

จนกระทั่งในปี 2017 เมื่อเกิดยุคที่เรียกว่า "ยุคโหยหาอดีต" จึงมีบริษัทเกมที่ชื่อว่า Electronics Extreme เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์เกม Ragnarok เวอร์ชั่นคลาสสิกในเมืองไทยต่อจาก Asiasoft และนำมาเปิดบริการอีกครั้ง หนนี้ไม่มีการเก็บเงินค่าแอร์ไทม์ แต่เปลี่ยนเป็นการขายสินค้าในเกมโดยใช้เงินจริงซื้อ ซึ่งตัวเกมในปี 2017 นั้นกลับมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามอีกครั้ง เรียกได้ว่าในปีนั้นบริษัท Gravity มีรายได้ 1,476 ล้านบาท และได้กำไร 225 ล้านบาท ภายในครึ่งปีเท่านั้น (เพิ่มจากปี 2016 ถึง 200 ล้านบาท) 

นอกจากนี้ยังมีการแยกซีรี่ส์ออกมาเป็นเกมมือถือชื่อว่า Ragnarok M ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของผู้เล่นและรายได้จนทำเงินให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้มากมาย 

ปัจจุบัน Ragnarok Online ได้กลับมาอยู่ในมือของ Gravity อีกครั้ง และกำลังจะเปิดบริการในวันนี้ (28 พฤษภาคม 2020) ซึ่งการกลับมาครั้งนี้สร้างกระแสตื่นตัวให้เกมเมอร์หรือผู้เล่นรุ่นเก่าๆ อย่างมาก เรียกได้ว่ามีแคสเตอร์หลายคนเริ่มแคสเกม Ragnarok อีกครั้ง ขณะที่ตามกลุ่ม Facebook ต่างๆ ก็มีผู้พูดถึง พูดคุยเกี่ยวกับเกมนี้ทั้งวันทั้งคืนเช่นกัน ส่วนเรื่องรายได้ของผู้ให้บริการนั้นไม่ต้องคิดมากเลยทีเดียว เพราะจากการออกโปรโมชั่นเติมเงินก่อนเปิดเซิฟเวอร์ ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะโปรโมชั่นการเติมเงินรวม 10,000 บาท ที่จะได้ไอเทมดีๆ ในเกมอีกมากมาย ที่สำคัญที่สุดตัวเลขผู้สมัครเมมเบอร์สำหรับเซิฟเวอร์ปัจจุบันนี้ พุ่งทะยานไปที่ 800,000 เมมเบอร์เรียบร้อยแล้ว

Photo : www.flashfly.net

สิ่งที่เราเห็นได้จากการคัมแบ็คของ Gravity คือพวกเขาพยายามเรียกกระแสเกมสุดคลาสสิกนี้กลับมาให้เกิดใหม่ได้อีกครั้ง โดยการเกาะกลุ่มผู้เล่นเก่าที่มีกำลังในการเล่น (เติมเงิน) นอกจากนี้ตัวเกมยังมีการอัพเดพแพทช์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ทำให้เกิดคว้าท้าทาย และสร้างความตื่นเต้นให้ผู้เล่นหน้าเก่า ที่เล่นเกมนี้เวอร์ชั่นเดิมจนทะลุปรุโปร่งหมดแล้วกลับมาลองเล่น Ragnarok 2020 นี้ 

ไม่มีใครรู้ว่าเซิฟเวอร์ลิขสิทธิ์จาก Gravity นี้จะเปิดบริการยาวนานเท่าไร แต่ที่แน่ๆ คือมันทำให้เราเห็นถึงความคลาสสิกของ Ragnarok ในฐานะเกมออนไลน์อันดับ 1 ที่แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 20 ปี แต่เมื่อเกมกลับมาเปิดตัวใหม่ที่ไรก็ได้รับความนิยมทุกทีไป

ขณะนี้ก็ได้เวลาอันสมควรแล้ว เซิฟเวอร์ Ragnarok ของประเทศไทยได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการ พร้อมต้อนรับนักผจญภัยหน้าเก่าและหน้าใหม่ทุกคน … อ่านจบแล้วก็ได้เวลาที่จะกดสลับหน้าจอและกลับสู่วัยเด็กอีกครั้ง … ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Ragnarok Online เล่นแต่พอประมาณ ดูและสุขภาพ และดื่มด่ำกับคืนวันเก่าๆให้เต็มที่ … เราขอเตือนคุณเพียงเท่านี้

 

แหล่งอ้างอิง

-https://www.longtunman.com/5187
-http://ragnarok.wikia.com/wiki/Ragnarok_Online
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ragnarok_Online
-http://financials.morningstar.com/ratios/r.html?t=GRVY®ion=usa&culture=en-US
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ragnarok_Online

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0