โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อภิญญา ตะวันออก : โอบกอดและหลอมรวมแห่งโลกอัปสรา

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 15 ก.ค. 2563 เวลา 06.45 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 06.45 น.
อัญเจีย 2082

นาทีนั้น เมื่อตำนานนางนาคที่ถูกจารบนศิลาแลงแห่งอาณาจักรจัมปาและที่มาของพราหมณ์โกทัญญะแห่งแคว้นภวปุระ ต่อบทตำนานที่นักบันทึกรุ่นหลังมักนำมาเกริ่นไว้ราวกับอรรถาธิบายนี้คือลำนำแห่งความมลึงมลังนั้น

พลันฉันก็นึกถึงใครคนหนึ่ง ต่อชีวิตของเธอที่เกี่ยวกับกัมพูชา และแม้จะไม่เกาะเกี่ยวกันนัก สำหรับการถือกำเนิดวงศ์วานแห่งนางนาคและนางรำแต่ปุราณอันใด ทว่าระหว่างบรรทัดของนางรำราชสำนัก และความเป็นไปที่ผูกปมเป็นตำนาน จากอดีตจนมาถึงกัมพูชายุคหลังและย้อนไปในยุคฉัน-ร่วมสมัยโดยก่อนนั้น

นับแต่สมัยสมเด็จพระนางเจ้าสีโสวัฒถิ์ โกสะมัก กษัตริยานีผู้วางฐานมรดกที่รับมาจากราชสำนักนโรดมฝ่ายในลงมา ท้าวเธอซึ่งเป็นพระอัยยิกาเหล่าสายวงศ์ชั้นหลาน ตั้งแต่สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ผู้สืบทอดคณะระบำละครพระราชตร็อบหรือราชสำนัก อย่างริเริ่มสมัยและโชคโชติอีกครั้ง กระทั่งสงครามกลางเมือง

เมื่อผ่านพ้นวิกฤตแล้ว เจ้าหญิงบุปผาเทวีตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเวลานั้นได้นำพาคณะระบำเก่าแก่นี้ไปสู่ความเป็นมรดกโลก โดยแม้แต่การสืบสายฝ่ายในรุ่นต่อรุ่นของเหล่าขัตติยานี้ ยังมีความพยายามส่งต่อถึงเจ้าหญิงนโรดม รัตนาเทวี ที่แม้จะไม่อาจสวมมกุฎเทพีแห่งทวยเทพเฉกเช่นสมเด็จป้าบุปผาเทวีก็ตาม ทว่าไม่ช้าต่อมา อุ๊ก พอลลา ที่ต่อมาได้สวมตำแหน่งเป็นเนียะมะเนียงหม่อมนโรดม ที่มีทั้งพรสวรรค์และเป็นทั้งศิษย์โปรดเจ้าหญิงบุปผาเทวี

แต่เพียงครึ่งทางแห่งความหวัง เสารองและหลักของฝ่ายในซึ่งถึงแก่จากลาอย่างน่าอาลัยในช่วงเวลาอันไล่ๆ กันนั้น

ต้องกล่าวด้วยว่า เจ้าหญิงบุปผาเทวีนั้นเคยฝึกเจ้าหญิงรัตนาเทวีเพื่อแสดงต่อหน้าพระพักตร์พระอัยกานโรดม สีหนุ พระเจ้าอยู่หัวและอาคันตุกะมาแล้วในปี พ.ศ.2543 ปีเดียวกับที่ฮิโตมิ ยามานากะ ที่ฝึกฝนการเล่าเรียนนางรำในรั้ววิทยาลัยนาฏศิลป์กัมพูชา (l”Universit? Royale des Beaux-arts) พนมเปญ

พลันปฐมบทนางรำแห่งทวยเทพของฮิโตมิ ยามานากะ ก็เริ่มต้น

ในวัยของเธอที่ใกล้แตะสี่สิบปี

 

เมื่ออายุ 10 ขวบนั้น ฮิโตมิร่ำร้องมารดาเพื่อฝึกฝนตนเองเป็นนางรำกุมารีเกอิชา ทว่าเธอได้มาเพียงการเล่าเรียนเต้นรำร่วมสมัยในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น แต่มันก็เพียงพอจะกลายเป็นสงครามคน 2 โลกระหว่างเธอกับบิดา

และนั่น การห้ำหั่นความสุดโต่งระหว่างคติเก่าในชาวญี่ปุ่นหลังสงครามโลกกับเจนขบถเบบี้บูมเมอร์ของฮิโตมิผู้ปรารถนาจะเป็นนางรำเกอิชา

ทว่าความปรารถนาอันลึกเร้นนี้ ถูกตอกย้ำให้เป็นเพียงความสูญเสียในหมู่เพื่อนนิสิตคณะประวัติศาสตร์และปรัชญาที่ใกล้ชิด และส่วนใหญ่จบชีวิตด้วยอัตวินิบาตกรรม ทิ้งบาดแผลแห่งความปวดร้าวด้วยบทกวีและละครเวที และกิจกรรมศิลปะของหนุ่มสาวที่เธอไม่อาจลืมเช่นนั้น สำหรับกรอบชีวิตที่อัดแน่นและบอบช้ำ จากความพยายามค้นหาตัวตนของการเป็นคนนอก

และบทรำลึกเริ่มต้นของการเป็นนางรำคนหนึ่งก็เริ่มขึ้น

เส้นทางแห่งความเป็นอื่นของฮิโตมิ ยามานากะ ที่เริ่มจากหมู่เกาะโอกินาวา สถานที่แตกต่างจากวัฒนธรรมอันสูงส่งของเอโดะจากส่วนกลางนั่นดูจะช่วยบรรเทาเบาบางอาการซึมเศร้าที่ปะทุซ้ำเป็นครั้งคราจากเส้นขอบฟ้าและทะเลเวิ้งว้างที่เธอเฝ้ามองมันทุกวัน

ทว่าตอนนั้นเอง ความต้องการที่จะ “สลัดหลุด” วิถีญี่ปุ่นออกจากชีวิตทางศิลปะและการร่ายรำแขนงนั้น ดูจะซับซ้อนเกินเยียวยาสำหรับโอกินาวาที่เธอยังไม่อาจค้นพบ

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ฮิโตมิตัดสินใจหลีกเร้นออกจากคุณค่าความสำเร็จทางสังคมที่เธอไม่อาจพบพานในบ้านเกิดเมืองนอนของตน และเพื่อค้นหาการร่ายรำที่เธอเองก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร?

และเพื่อค้นหาศิลปะแห่งการร่ายรำนี้ ฮิโตมิจึงเดินทางครั้งแรกไปอินเดียใต้ จากศาสตร์ร่ายรำเพื่อฮินดูและทวยเทพ

 

อย่างไรก็ตาม วิถีความเชื่อ การแสดงออกตรงไปตรงมาและเถื่อนดิบในหมู่ชาวอินเดียใต้ ราวจะเป็นความโหดร้ายในการสลัดหลุดไปสู่วัฒนธรรมอื่นที่เธอไม่คุ้นชิน โดยเฉพาะด้านอนามัยและอากาศที่ร้อนจัด

เธอช็อกกับวัฒนธรรมฮินดูมุสลิมที่ร้อนแรงนั่นอยู่พักใหญ่ เมื่อกลับมาญี่ปุ่นนั้น ฮิโตมิไม่อาจแยกตนได้ว่า การเคลื่อนไหวแบบระบำฮินดูนั่น ได้กลายเป็นคำถามอันคาใจ และจะว่าไปแล้ว กล้ามเนื้อร่างกายของเธอเองต่างหากเล่าที่พ่ายแพ้

เมื่อชำระสะสางค้างคานั่นแล้ว อีกครั้งที่ฮิโตมิตัดสินใจมุ่งไปทางสายฮินดู แต่คราวนี้กลับเป็นบาหลีของอินโดนีเซียเพื่อเริ่มต้นศาสตร์การร่ายรำที่นั่น

ก่อนจะพบว่า มิติอันวนเวียนแต่ด้วยเรื่องพิธีกรรมต่างหากเล่าที่ดึงดูดเธอไว้ แต่หาใช่คุณค่าแห่งความเป็นนางรำอันแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ความน่าผิดหวังนี้ กลับทำให้ฮิโตมิพบพานกับการเยียวยาตนเอง พร้อมกับบาดแผลในความเป็นคนนอกของครอบครัวและคตินิยมเก่าฝ่ายบิดา การต่อสู้ที่ไม่เคยลดราต่อกันนี้ยังคงมีต่อไป ราวกับรอยเลื่อนที่โบกทับชีวิตของกันและกันจนยากเกินจะเยียวยา หรือมิฉะนั้นก็จนกว่าฝ่ายหนึ่งลาโลก

ฮิโตมิยังคงฝึกร่ายรำแบบฮินดู พร้อมๆ ไปกับปรึกษานักจิตเวช ด้วยความเชื่อมั่นว่าศาสตร์แห่งการร่ายรำของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้จะโอบกอดเธอไว้ได้

และนั่นคือชีวิตต่อมาที่เธออุทิศให้ในการรำไทย

ดังนั้น เมื่อสะสมออมเงินจากศูนย์พักพิงผู้สูงอายุที่เธอทำงาน ฮิโตมิก็ออกเดินทางอีกครั้ง

 

ผ่านอาณาจักรเก่าแก่สุโขทัยทางตอนเหนือของไทยที่ฮิโตมิมักแวะเวียนอย่างหลงใหลก่อนจะถึงเมืองเชียงใหม่ที่ซึ่งวิถีรำไทย หนึ่งในศาสตร์การรำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

และความอบอุ่นของที่นั่น ทำให้เธอเกือบจะเชื่อว่า นี่คือเส้นทางสุดท้าย

หากทวยเทพจะยินยอมและหลอมรวมเธอไว้กับชีวิตใหม่ที่คาดหวัง และชะตาชีวิตแบบไหนที่เธอเองก็ไม่รู้ ช่างยาวนานเสียกระไรในการเยียวยาและไล่ล่าความสำเร็จนั้น

จากนางรำแห่งเอโดะในวัยเยาว์ สู่การฝึกรำละครไทย นอกจากความปรารถนาที่จะเยียวยาจิตใจแล้ว ด้านหนึ่ง เธอหวังลึกๆ ว่า นี่คือพิธีกรรมแห่งทวยเทพที่ดำเนินไป

ทว่าชีวิตนักเรียนรำไทยของฮิโตมิกลับทอดยาวออกไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนที่เธอตกหลุมรักกับพม่าผู้ลี้ภัยที่นั่น

แต่นั้นมา ประสบการณ์ที่หลอมรวมให้เธอค้นพบความจริงบางด้าน ความเปล่าเปลี่ยวเคว้งคว้างที่แฝงมากับความเข้มแข็ง บนทางนั้นที่ทอดแยกออกไประหว่างความรักแบบหนุ่มสาวกับอุดมการณ์เป็นนางรำ

รวมทั้งการสูญเสียบิดาที่จากเธอไปอย่างกะทันหัน!

บนความเจ็บปวดที่ไม่เคยสะสางและเยียวยาอย่างจริงจัง

มันยังคงอยู่ ไม่ว่าเธอจะสวมใส่เครื่องทรงชฎาหรือชุดอลังการนางรำ และเขาไม่เคยจะยอมรับมัน ไม่ว่าจะสถานะความปรารถนาเป็นนางรำที่ยาวนานของเธอนั่น พลันทุกอย่างก็กลายเป็นเพียงอดีตที่มีแต่หน้าแท่นบูชา

และยอมรับว่า นอกจากเสียงกระซิบที่บอกเล่าความทรงจำต่อบิดาและการร่ายรำ หน้าแท่นบูชาของบิดา ราวกับเป็นเครื่องหมายในการแสดงความรักต่อเขาอย่างเดียวดายลำพัง

บนรอยทางแห่งการร่ายรำที่โอบกอดและหลอมรวมเธอไว้ในวันที่เขาหมดลมหายใจ

———————————————————————————————–
(1)-cr : cambodge soir
(3)-เชื่อกันว่าเป็นเครื่องทรงนางละครไทยที่กษัตริย์เขมรนำไปจากสยาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0