โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อภิญญา ตะวันออก / จาก "มโนวิทยา" ถึง "อีช่อ" : การเมือง สภา และผ้าซิ่น

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 07.52 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 05.52 น.
Monovithya Pannika

เพื่อนฉันตำหนิว่า ฉันไม่ควรพูดคำว่า “อีช่อ” เธอหาว่าฉันหยาบคาย

“ไม่จริง” ฉันเถียง และเริ่มอธิบายคำว่า “อีช่อ” ในเชิงอุปมาอุปไมย

เริ่มต้นจาก “อัตลักษณ์” บุคคลในสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าแหกกฎระเบียบ ตั้งแต่การใช้ไมค์ การแต่งกาย ไปจนถึงวิวาทะในโซเชียลที่จุดกระแสอันร้อนแรงจนเกิดกระแสคำว่า “อีช่อ” ที่นำไปสู่ความหมายอื่น

แรกเลย วลีนี้ ดูจะมีที่มาเฉพาะตัว “บุคคล” จากมูลเหตุอัน “เจาะจง” แต่ในที่สุดความ “ลื่นไหล” ที่เกิดจากมนุษย์ให้คำจำกัดความได้ถ่ายเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นอื่น ทว่าปรากฏการณ์วิวาทะสงคราม ที่ยกระดับจากวลีหยาบคาย ไปสู่สังเวียนสงครามปากทางการเมือง

และยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนคำว่า “อีช่อ” กลายเป็นวลีภาษาแห่งการต่อสู้และตอบโต้ทางปัญญา หรือนัยหนึ่งคืออาวุธแห่งการตอบโต้ของทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นจากสถาบันการเมืองแห่งสภาผู้แทนราษฎร และกระจายไปสู่พลเมืองชาวเน็ตแห่งโลกออนไลน์

ที่บ่งบอกถึงความสนใจต่อการเมืองและรสนิยมเสพสื่อออนไลน์สไตล์ไทยๆ โดยเฉพาะประเด็นบุคคลสาธารณะและความเป็นส่วนตัวที่ถูกบุกรุกและเข้าถึงอย่างเบ็ดเสร็จและทรงอิทธิพลต่อวิถีชี้นำ ที่สร้างฉิบหายเจียนตายให้แก่หลายชีวิตมาแล้ว

โปรดอย่าล้อเล่นกับความรู้สึกของ “อีช่อ” และประชาชน ซึ่งมิได้มีและเกิดแต่เฉพาะที่ประเทศไทยอีกต่อไป

แต่เกือบจะทุกมุมของโลกใบนี้ที่มีโซเชียลเป็นวิถีเดียวกัน

รวมทั้ง “อีช่อ” บางคนที่ฉันพบพานในกัมพูชา

 

ไม่มีคำถามใดๆ เกี่ยวกับการที่นักการเมืองหญิงเขมรสวมใส่อะไรเข้าสภา และฉันเองก็เห็นมาตั้งแต่สมัยที่ประเทศนี้ยังไม่มีรัฐสภา หรือจะเรียกว่าสภาแห่งชาติก็ได้

กล่าวคือ ตั้งแต่สมัยสภาแห่งชาติ (2535) โดยเขมร 4 ฝ่ายเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในการร่างรัฐธรรมนูญก่อนกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดมา และหนึ่งคณะทำงานแห่งรัฐบาลปรองดองนี้ มีเนียะสรัยจูล่ง ซูมูล่า ภรรยานายสัม รังสี ในตำแหน่งรองผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ

ขณะนั้นกัมพูชาเพิ่งจะเปิดประเทศ จูล่ง ซูมูล่า ซึ่งลาออกจากธนาคารที่มั่นคงแห่งหนึ่งในปารีสทันที เธอก็สลัดการแต่งกายแบบกระโปรงสูทสากลแบบยุโรปยูนิฟอร์มมาเป็นผ้าซิ่นสมปดกับเสื้อขาวในแบบเขมรนิยม โดยหลังจากห่างหายไปใช้สมปดผ้าซิ่น จากการใช้ชีวิตในต่างแดนกว่า 25 ปี มาดามจูล่ง ซูมูล่าไม่นึกฝันมาก่อนว่าจะได้กลับมานุ่งสมปดผืนงามแบบเดียวกับที่เห็นจากมารดา ท่านผู้หญิงยึก จูล่งสวมใส่มาตลอดชีวิต

และการเมืองนั่นเองที่เป็นผู้ลิขิต

ตั้งแต่แรกปีรัฐธรรมนูญ (2481) ขณะนั้นสตรีกัมปูเจียดูจะยังไม่มีตัวตนด้านนโยบาย/การเมือง จนมาถึงการเลือกตั้งในปี 2536 ที่พบว่ามี ส.ส.หญิงได้เป็นผู้แทนราษฎรไม่กี่ที่นั่ง

แต่ก็เพียงพอที่พวกเธอจะเข้าสภาไปพร้อมอัตลักษณ์แห่งสมปดผ้าซิ่นไหม

 

ย้อนไปสมัยเขมรแดง ภรรยาล่ามประจำตัวพล พต-ลอเรนซ์ ปิกก์ สตรีต่างชาติคนเดียวในระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยที่แต่งกายด้วยผ้าซิ่นดำ สวมเสื้อขาว-ดำ เยี่ยงเดียวกับเจ้าหน้าที่กรรมาภิบาลเขมรแดงและประชาชนทั่วไป

ในกลุ่มผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เขียว/เอียง ทีริต รัฐมนตรีสวัสดิการสังคม (2518-2522) และประธานสมาคมสตรีกัมพูชาประชาธิปไตย-เขียว พอนนารี ทั้งสองถูกจดจำภายใต้ภาพในชุดสมปดดำ มากกว่าบทบาททางการเมืองและการศึกษาที่เธอได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่สำเร็จอุดมศึกษาเป็นคนแรกของกัมพูชา

สมเด็จพระมหาวีรกษัตรียานโรดม มุนีนาถ พระวรราชมารดา (อดีตพระชายาสีหนุ โมนิก) ก็เคยฉลองพระองค์ด้วยสมปดดำในสมัยเขมรแดงมาก่อน ทว่าเมื่อทรงเป็นประมุขฝ่ายในของกัมพูชา ทรงฉลองพระวรกายในพระชนม์ 84 พรรษา ด้วยสมปดไหมเขมรตามเฉดสีประจำวันราวกับเป็นขนบจารีตแห่งราชสำนัก

รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ นักการเมือง ตลอดจนข้าราชบริพารหมู่เหล่าที่เข้าเฝ้า ด้วยเหตุนี้ หากสมเด็จบุนรานี ฮุนเซน เข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานกิจการสภากาชาดต่อพระพักตร์ในชุดสมปดสีแดง และเช่นเดียวกับพระองค์

เราจะทราบโดยพลันว่าเป็นวันอาทิตย์

 

นั่นคือสิ่งที่เราคุ้นเคยที่จะเห็นสมปดผ้าซิ่นเขมรประดับกายกลุ่มสตรีเขมรทุกกลุ่มทุกคณะทุกสังคมและอาชีพ โดยเฉพาะนักการเมือง

อิง กันทะภาวี-รัฐมนตรีกิจการสตรีอีกคนที่ไม่เคยพลาดการแต่งสมปดในเกือบจะทุกโอกาส แม้แต่ภารกิจประชุมในต่างแดน เธอกลายเป็นตัวแทนทางอาภรณ์ของความเป็นกัมพูชาไปในทันที

แม้จะเคยมีพื้นเพการศึกษาและการงานในยุโรปเช่นเดียวกับมาดามสัม รังสี และอดีต ส.ส. มู สกฮัว แห่งพรรคสงเคราะห์ชาติ พวกเธอทั้งสามต่างนุ่งผ้าซิ่นเข้าสภาตลอด 25 ปีของชีวิตนักการเมือง หรือสมปดนั่นเอง ที่บ่งบอกถึงความเป็นนักการเมืองหญิงกัมพูชา

อย่างน้อยเราก็พบว่า ในยุคสมเด็จฯฮุน เซนนี้ ส.ส.หญิงในรัฐบาลทุกคนต่างสวมสมปด และบางโอกาสก็โจงกระเบนตามเฉดสีงดงามอย่างพร้อมเพรียง ราวกับย้อนไปในปี 2481 ที่กัมพูชามีรัฐสภาสมัยแรก

ตัวอย่าง สมัยเปิดประชุมรัฐสภาครั้งล่า ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดประชุมสภาและมีพระบรมราโชวาท อันตรงกับวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 124 ชีวิต เด่นสง่าในโจงกระเบนเขียว ทั้งเขียวอ่อน แก่ ปีกแมลงทับ ใบตอง แล้วแต่เฉดและรสนิยม

เป็นการรื้อฟื้นจารีตนิยมตามประเพณีทางการเมืองที่ล่วงมากว่า 6 ทศวรรษครึ่ง รวมทั้งประเพณี “พิพัฒน์สัตยา” ดื่มน้ำสาบานต่อหน้าพระพักตร์ในหมู่ ส.ส.เขมรด้วย

 

แต่ก่อนหน้านั้น คือการเลือกตั้งครั้งที่ 5/2556 พรรคซีเอ็นอาร์พีสามารถกวาดที่นั่งเกือบราวกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นนำมาจากสัดส่วน ส.ส.หญิงหน้าใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งในนั้นมีชื่อกึม มโนวิทยา/มโนวิเจีย บุตรสาวรองหัวหน้าพรรค นายกึม สกขา

กึม มโนวิทยา เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ได้ชื่อว่าพร้อมด้วยรูปสมบัติ ชาติตระกูล และการศึกษา ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีขนบแห่งความเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ที่ต่างจากจารีตของนักการเมืองร่วมสมัย (ซูมูล่า-สกฮัว) ที่แม้ว่าจะศึกษาในต่างแดนระยะสั้น แต่การเติบโตมากับยุคสหัสวรรษ/2000 ทำให้กึม มโนวิทยามีอัตลักษณ์และการแสดงออกที่แตกต่าง

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ ส.ส.หญิงของพรรคประชาชนกัมพูชา ที่ล้วนแต่สูงวัย มีความเป็นจุมเตียวภรรยาเครือญาติของนักการเมืองลายครามด้วยแล้ว ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทั้งการแสดงท่าทีแบบนักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ การแต่งกายสดใสในชุดสากลนิยม การเล่นโซเชียลมีเดียภาษาอังกฤษที่เป็นเหมือนไทม์ไลน์งานการเมือง

ทั้งหมดนี้ ทำให้กึม มโนวิทยา เป็น ส.ส.หญิงเขมรที่ติดเทรนด์น่าตบแห่งปีในสายตาฝ่ายชังผู้เห็นต่าง และนั่นคือที่มาของ “อีช่อ” ดราม่าแบบกัมปูเจียเมื่อ 4 ปีก่อน

ในฐานะโฆษกพรรคซีเอ็นอาร์พี ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคด้านกิจการสาธารณะ และกรรมาธิการระหว่างประเทศโควต้าพรรคฝ่ายค้าน ทำให้บ่อยครั้งมโนวิทยาต้องพบปะกับตัวแทนองค์กรต่างประเทศ คราวหนึ่งเธอถูกโจมตี ในชุดสูทครึ่งท่อนที่เผยท่อนขาเรียวงามจากท่านั่งไขว่ห้างขณะสนทนากับตัวแทนต่างประเทศ

กึม มโนวิทยา กลายเป็นเป้าวิจารณ์จากฝ่ายนิยมฮุนเซนและโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรงไม่แพ้ “อีช่อ” ไทยแลนด์ กระนั้น สยบความเคลื่อนไหวด้วยการออนทัวร์แสดงวิสัยทัศน์ในภารกิจประชุมนานาชาติอย่างสม่ำเสมอและเรียกความสนใจจากสื่อนอก จนสมเด็จฯฮุน เซน ตัดสินใจสกัดแคมเปญ

ส่งพลโทฮุน มาเนต เดินสายประชันไอเดีย ทว่ากลับถูกประท้วงต่อต้านจากชาวเขมรโพ้นทะเลใน 3 ทวีป

น่าเสียดายที่กึม มโนวิทยาถูกอัปเปหิจากประเทศจากการเลือกตั้งครั้งล่าเสียก่อน โดยที่บิดาของเธอนั้น ปัจจุบันยังถูกกักกันภายในบ้านพักชานกรุงพนมเปญ

แม้จะพลัดที่นาคาที่อยู่จากรัฐสภาเขมรในรอบนี้ กระนั้นนักนิยมประชาธิปไตยทุกฝ่ายยังเชื่อมั่นเสมอว่าพวกเขาจะกลับมาในวันหนึ่ง

รวมทั้ง “อีช่อ” กัมพูชา-เนียงสรัยกึม มโนวิทยา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0