โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"อนุทิน" ยันเซย์โนสารพิษ เผย "มนัญญา" ถูกล็อบบี้หนัก แต่ยังลุยต้าน

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 08.49 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 08.49 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

"อนุทิน" จี้ทุกกระทรวงร่วมต้าน 3 สารพิษภาคเกษตร ลุ้นผลโหวตพรุ่งนี้ ลั่นหากพลิกล็อก โยนคนเหนือกว่า รมต.จัดการ ด้าน "มนัญญา" ย้ำต้องเลิกใช้ ลั่นไม่ยอมให้ใครล็อบบี้เด็ดขาด

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.62 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai Pan) และผู้แทนสนับสนุนการแบน 686 องค์กร ร่วมกันสวมชุดสีขาวเพื่อแสดงจุดยืน Kick Off ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในพรุ่งนี้ (22 ต.ค.)

โดย นายอนุทิน กล่าวว่า ตนและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ขอยืนยันเซย์โนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะอีกหมื่นอีกพันที่เป็นอันตรายกับสุขภาพประชาชนก็ไม่เอา ไม่เฉพาะเกษตรกรที่ใช้สารเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บริโภคและทารกที่กำลังจะเกิดมา ที่มีคนบอกว่าตนไม่มีความรู้เรื่องนี้ และกำลังถูกหลอกให้แบนสารเคมีเหล่านี้ ขอย้ำว่าตนอ่านหนังสือเป็น พอสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ภาษาจีนได้ แต่ใครจะหลอกอย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือคนต้องไม่ตาย รู้ว่าหลอกก็เต็มใจให้หลอก เพราะตนเห็นแล้วว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากประโยชน์กับคนที่หวังรวยบนความยากจน บนปัญหาสุขภาพของเกษตรกร ที่บอกว่าใช้แล้วให้ผลผลิตดี เกษตรกรรวยขึ้น แล้วได้อะไรถ้าไม่ได้ใช้เงินเพราะป่วย เสียชีวิต ย้ำว่าต่อให้มีสิทธิในการรักษาฟรีแต่ไม่คุ้ม เพราะเสียโอกาสในการทำมาหากิน เสียโอกาสในการแข็งแรงดังเดิม ทั้งนี้ขอให้กำลังใจ น.ส.มนัญญา ที่เป็นด่านหน้าต่อสู้เรื่องนี้ และไม่หวั่นไหวกับการถูกล็อบบี้อย่างหนัก  

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แสดงตัวโหวตยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ตัวในที่ประชุมเลย เพื่อให้มีการจารึกเอาไว้ว่า สิ่งที่ทำเป็นการทำตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข หากมีอะไรเรารับผิดชอบร่วมกัน โดยตนเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด และเชื่อว่าผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ 2 คน ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 2 คน จะสนับสนุนให้มีการยกเลิกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้แม้แต่นายกฯ ก็บอกให้ลด ละ เลิก ท่านเป็นผู้ใหญ่จึงไม่พูดตรงๆ แต่คำตอบคือให้หยุดการใช้ หวังว่าการประชุมวันที่ 22 ต.ค.นี้ ผู้ที่มาจากส่วนราชการจะได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติในเรื่องนี้ ผลเป็นอย่างไรก็อยู่ที่การโหวตของคณะกรรมการทั้ง 29 คน และหากกระทรวงอื่นจะกรุณาสนับสนุน ก็จะทำให้รัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นตัวชี้ว่ารัฐบาลมองทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์พลิกล็อกก็ต้องเป็นหน้าที่ของคนที่เหนือกว่ารัฐมนตรีทุกคนแล้วที่ต้องมาแก้ไข

ด้าน น.ส.มนัญญา กล่าวว่า เรียนว่าการจะทำเกษตรอินทรีย์วันนี้ ต้องระเบิดดินเป็นฟุตกว่าก่อนนำเมล็ดไปฝังถึงจะได้พืชที่บริสุทธิ์ ถ้ายังไม่ยกเลิกสารเคมีวันนี้ เราไม่ต้องขุดลึกถึงดานดินเลย หรือวันนี้พืชหรือแม้แต่หญ้าก็สามารถเอามาทำเป็นปุ๋ย เป็นพืชคลุมดินได้ ตนขอยืนยันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีภาคเกษตร และไม่ยอมให้ใครมาล็อบบี้เด็ดขาด ซึ่งช่วงกลางๆ แรงมาก ส่วนจะมีใครไปกดดันการประชุมในวันพรุ่งนี้หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ

ด้าน นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนา "ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค" ว่า ตนสนับสนุนการแบนสารเคมี 3 และฝากถึงผู้มีอำนาจรัฐที่ยังลังเล เรื่องความเป็นตายของประชาชน ถ้าเป็นเหตุผลเรื่องสุขภาพไม่น่ามีเหตุผลอื่นเข้ามา จากข้อมูลกองทุนหนี้สินเกษตรกร พบว่าเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว เป็นหนี้ 5 แสนราย รวมมูลค่าหนี้ 80,000 ล้านบาท อีก 20 ปียังแก้ไม่ได้เพราะว่าทำเคมีเชิงเดี่ยว ยังไม่รวมเป็นหนี้ ธ.ก.ส.อีกแสนล้าน 2. เรียกร้องไปยังเกษตรกรให้เลิกใช้ แล้วเกษตรกรต่อต้านไม่ให้มีการแบน บางครั้งไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง ไม่ใช่ชาวสวนยาง สวนปาล์ม วันนี้สวนยางมีพื้นที่ 20 ล้านไร่ มีเกษตรกร 1.7 ล้านราย สวนปาล์ม 5 ล้านราย คน 3 แสนราย ซึ่งมีงานวิจัยของ มอ. ล่าสุดพบว่ามีชาวสวนปาล์มร้อยละ 74 ไม่ใช้สารเคมี ชาวสวนยางที่ไม่ใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซตร้อยละ 90 แต่มีคนอ้างว่าถ้าชาวสวนยางเลิกใช้จะมีต้นทุน 3-4 หมื่นล้าน เป็นข้อมูลเท็จ

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าว ว่า ข้อมูล Thai Pan เป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลผลผลไม้ในตลาด ตั้งแต่ 2555 จากเพื่อตรวจหาสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตร 250 ชนิด ส่งตรวจห้องปฏิบัติการประเทศอังกฤษ ซึ่งมีคนหาถามหาใบอนุญาตส่งผัก ผลไม้ หาเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะเราส่งไปตรวจสอบสารเคมี ไม่ได้ส่งไปขาย แต่สามารถชี้แจงได้หมด ซึ่งผลตรวจสอบเกินครึ่งเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ทางที่ดีควรยกเลิกการใช้ ไม่ใช่จำกัดการใช้เพราะในประเทศที่ให้มีการยกเลิกเขาเคยจำกัดการใช้แล้วแต่ไม่ได้ผล ถ้าไม่ยกเลิกรัฐบาลมีเงินมากพอที่จะจ่ายค่ารักษาโรคที่เกิดจากสารเคมีหรือไม่ มีจ่ายชดเชยจากการฟ้องร้องที่จะตามมา.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0