โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อนาคตใหม่ ถีบทิ้ง อนาคตเก่า

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 12 พ.ย. 2562 เวลา 01.30 น. • เผยแพร่ 12 พ.ย. 2562 เวลา 01.22 น.

ไม่เหนือความคาดหมาย อีเวนท์ใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่ "รวมพลคนอยู่ไม่เป็น" ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ที่เจเจ มอลล์ ชั้น 6 ห้องกำแพงเพชร 12.00 น.

หลังปล่อยแคมเปญ "อยู่ไม่เป็น" มาเรียกเรตติ้ง ก็ตามด้วยอีเวนท์การเมืองเพื่อตอกย้ำ "อุดมการณ์" ให้ฝังลึกในเนื้อตัวมวลชนสีส้ม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยปราศรัยก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้งว่า "อย่าไปคิดถึงผลการเลือกตั้ง ชนะทางอุดมการณ์ก่อน ถึงจะได้เสียง จะชนะยังไง ต้องสร้างพรรคที่เข้มแข็ง ยึดกันด้วยอุดมการณ์เท่านั้นถึงจะชนะได้ เกมยาวอย่างเดียว"

สังเกตได้ไม่ยาก"ธนาธร-ปิยบุตร" จะท่องคำนี้ "ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน และเพื่อประชาชนเสมอ นั่นคือเหตุผลที่เราต่อสู้สุดกำลังเพื่อนำมันกลับมา เพราะอนาคตของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะต่อสู้เพื่อมันหรือไม่"

การนัดรวมพลสมาชิกพรรคที่จตุจักร ก็จะย้ำเรื่องอุดมการณ์นี้แหละเป็นเรื่องใหญ่ และที่สำคัญ "ธนาธร" จะบอกว่าประชาธิปไตยของอนาคตใหม่ ต่างจากประชาธิปไตยของเพื่อไทย

จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของพรรคอนาคตใหม่เหมือนพรรคเพื่อไทย เริ่มจากการสร้างแบรนด์คน (Personal Brand) พวกเขาเชื่อมั่นในทฤษฎี Political Marketing ที่ว่า "พรรคการเมืองจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ต้องเป็นพรรคที่มีเข็มมุ่งทางการตลาดเท่านั้น"

รูปแบบการเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่ก็คือการตลาดการเมืองที่ทักษิณ ชินวัตร เคยทำมาแล้ว ตอนที่สร้าง "พรรคไทยรักไทย" ด้วยการนำกลยุทธ์การตลาดเข้ามาใช้ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา จนสามารถเสนอ "โปรดักส์" ที่เรียกว่า "ประชานิยม" อันแตกต่างในตลาดจนประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้ง

จุดอ่อนของพรรคการเมืองในตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย และไทยรักษาชาติ คืออุดมการณ์ของพรรคขึ้นกับผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พรรคอนาคตใหม่ ก้าวเดินไปตามทฤษฎี Political Marketing โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ "ผู้นำพรรค" อย่าง "เอก" ธนาธร กับ "ป๊อก" ปิยบุตร ให้คนรุ่นใหม่จริงๆ และมีแนวคิดที่ฉีกจากพรรคเก่าๆ

จะว่าไปแล้วจุดขายเชิงอุดมการณ์ยังไม่บรรลุผลเท่าใด หากแต่เป็นเรื่องของกระแสตลาด และบริบทการเมืองที่พลิกผันจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ

อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคน้องใหม่ได้ ส.ส.เกินคาด เป็นพรรคขนาดใหญ่ชั่วข้ามคืน แต่หลังเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาล มิหนำซ้ำตกเป็นฝ่ายตั้งรับ เจอคดีความเพียบ

ปฏิบัติการของ 70 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 เป็น "โหวตเชิงยุทธศาสตร์" ทำให้อนาคตใหม่ถีบตัวเองขึ้นมาโดดเด่นเหนือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด

เหนืออื่นใดโหวตเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนั้นนำมาซึ่งแคมเปญ "อยู่ไม่เป็น" และการก้าวขึ้นเป็นอยู่หัวแถวของฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้พรรคเพื่อไทย ตกอยู่ในสภาพ "พรรคการเมืองเฉพาะตระกูล" ไปทันที

ลึกๆ แคมเปญอยู่ไม่เป็นของธนาธร ก็ต้องการเหน็บการเล่นการเมืองแบบ "อยู่เป็น" ของค่ายทักษิณ และดึงเอามวลชนคนเสื้อแดงสายฮาร์ดคอร์มาอยู่ที่พรรคส้มหวาน

อนาคตใหม่ได้เสียงจาก "นิวโหวตเตอร์" มากมาย แต่เจาะพื้นที่่ภาคอีสานและภาคเหนือของเพื่อไทยได้เพียงเล็กน้อย ฉะนั้นแคมเปญอยู่ไม่เป็น ก็มีเป้าหมายดึงกลุ่มรากหญ้าที่ภักดีต่อทักษิณให้หันมาหนุน "ธนาธร-ปิยบุตร"

หากสถานการณ์วันข้างหน้าจำเป็นต้องลงถนนก็จะได้มีกำลังพลจากชนบทเป็นกองหนุน เพราะแกนนำอนาคตใหม่รู้ดีว่า "เอฟซี ธนาธร" ส่วนใหญ่อยู่หน้าจอ และเป็นมวลชนดิจิทัล ไม่ใช่มวลชนสู้รบ

ยุทธศาสตร์ถีบทิ้งอนาคตเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย ก็มีความจำเป็นเร่งด่วน มิเช่นนั้นความฝันจะปลุกพลังมวลชนลุกฮือนั้น ก็แค่ความเพ้อฝัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0