โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อนาคตของการไม่ต้องพกบัตรหลายใบ จากบัตรแมงมุมสู่ระบบ ABT การพัฒนาตั๋วร่วมคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?

The MATTER

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 11.07 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 09.00 น. • Brief

หลายคนคงจำได้ว่าภาครัฐเคยมีความพยายามในการทำระบบตั๋วร่วม ที่ทำให้บัตรใบเดียว (บัตรแมงมุม) สามารถใช้จ่ายค่าเดินทางได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า BTS - MRT, รถเมล์, แท๊กซี่, เรือด่วน ไปจนถึงทางด่วน และสามารถใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อ โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ ได้ จนถึงตอนนี้บัตรแมงมุมก็ยังไม่ครอบคลุมการเดินทางทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้งานกับรถไฟฟ้า BTS ซึ่งยังไม่เข้าร่วมกับบัตรแมงมุมที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

ตอนนี้แนวคิดในการพัฒนาตั๋วร่วมได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่ต้องการให้บัตรใบเดียวสามารถใช้งานได้กับทุกอย่าง กลายเป็นการสร้างระบบที่รองรับการจ่ายเงินด้วยหลากหลายวิธีแทน

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 28-1/2563 ) คณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) และระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) พัฒนาระบบที่ทำให้สามารถใช้งานบัตรร่วมกันได้ภายใน 4 เดือน (ก.พ. - พ.ค) และให้เปิดการใช้งานข้ามระบบในเดือน มิ.ย.

นอกจากนี้ยังให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) เร่งพิจารณาการดำเนินระบบ Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งเป็นระบบที่รองรับการจ่ายเงินด้วยหลายวิธีให้เสร็จ และ และนำเสนอแนวทางการทำงานในการประชุมครั้งต่อไป

"ต่อไปนี้มีบัตรอะไรที่อยู่ในกระเป๋าก็สามารถใช้ได้กับทุกระบบ เช่น มีบัตร Rabbit ก็ขึ้นที่ไหนก็ได้ มีบัตร MRT PLUS ก็ไปขึ้นที่ไหนก็ได้ หรือต่อไปบัตร ATM บัตรอะไรต่างๆ ก็นำมาใช้ได้ คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นบัตรใบเดียวอีกต่อไปแล้ว" เผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องแผนในการพัฒนาระบบ ABT แหล่งข่าวจาก รฟม.เผยว่า ตอนนี้จะเริ่มจากการทำระบบ EMV (Europay/Mastercard/Visa) เพื่อให้บัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตร Prepaid สามารถใช้งานได้ก่อน ส่วนเรื่องการทำ ABT จะดำเนินการในเฟสต่อไป

“EMV เป็นส่วนหนึ่งของ ABT อีกหน่อยเอา Huawei pay เอา Samsung pay เอานาฬิกาที่ผูกไว้กับบัตรเครดิต เอาบัตรประชาชนมาลงทะเบียน (กับรฟม.) ก็ยังจ่ายได้เลย”

ระบบ ABT ยังครอบคลุมไปถึงการจ่ายเงินผ่านระบบอื่นๆ เช่น การสแกน QR CODE หรือการสแกนม่านตา

ส่วนเรื่องระบบที่กำลังพัฒนาอยู่จะใช้งานกับขนส่งสาธารณะประเภทใดได้บ้าง แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่าใช้ได้กับทุกระบบ เพียงแต่รถเมล์ต้องมีการพัฒนาระบบของตัวเอง ส่วนรถไฟฟ้าต้องปรับระบบหลังบ้านให้เชื่อมต่อกับระบบ Clearing house ของทางการ แต่การพัฒนาระบบให้ใช้งานกับเรือได้ยังคงเป็นปัญหาอยู่

"ท่าเรือทุกท่าเป็นท่าสาธารณะ เพราะฉะนั้นการไปตั้งเกตเก็บเงินก็ทำไม่ได้ ยังแก้กันอยู่

แต่ถ้าถามว่ารับบัตรบนเรือได้ไหม? ได้ รับตั๋วร่วมบนเรือได้เลย"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก รฟม.ก็ยังไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการพัฒนาระบบ ABT จะเสร็จสิ้นเมื่อไร แต่กล่าวว่าต้องใช้เวลาอีกระยะใหญ่ๆ เนื่องจากต้องทำให้บัตร BTS ใช้งานกับระบบของ รฟม. ได้ก่อน ถึงจะเริ่มมีการพิจารณาทำระบบ ABT ต่อไป

และการพัฒนาระบบที่ทำให้บัตรต่างๆ ใช้งานร่วมกันได้ไม่น่าจะสำเร็จภายใน 4 เดือน

#Brief #TheMATTER

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0