โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อดีตนาซีผู้อยู่เบื้องหลังจรวดพามนุษย์ไปดวงจันทร์ครั้งแรก

Manager Online

เผยแพร่ 20 ก.ค. 2562 เวลา 13.19 น. • MGR Online

ความสำเร็จของก้าวแรกบนดวงจันทร์จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากลูกเรืออะพอลโล 11 ไม่อาจเดินทางด้วยจรวดได้อย่างปลอดภัย และ “เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์” อดีตนาซีผู้ออกแบบจรวดมิสไซล์ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในสงครามโลกครั้งที่ 2 คือฮีโร่ผู้ออกแบบจรวดที่ปลอดภัย

อเมริกาส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ค.1969 เวลา 22.56 น.หรือตามเวลาประเทศไทยคือวันที่ 21 ก.ค.เวลา 09.56 น. โดยจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn 5) ได้ทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kenendy Space Center) ฟลอริกา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.เพื่อนำลูกเรืออะพอลโล 11 (Apollo 11) ทั้งหมด 3 คน คือ นีล อาร์สตรอง (Neil Armstrong) บัซ อัลดริน (Bauzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ไปดวงจันทร์

จรวดแซทเทิร์น 5 นั้น ออกแบบและสร้างโดย เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ (Wernher von Braun) ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยสร้างจรวดมิสไซล์วี-2 (V-2 missile) ให้นาซีเอาไปใช้ถล่มเมืองกลุ่มสัมพันธมิตรจำนวนมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาภายหลังเขาได้อยู่เบื้องหลังโครงการอะพอลโลที่พาคนไปลงดวงจันทร์

ขณะที่ทั้งฝ่ายฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและสหภาพโซเวียตต่างแย่งตัวฉัจฉริยะนาซีผู้นี้ แต่เป็นสหรัฐฯ ที่ได้ ฟอน บราวน์ มาทำงาน พร้อมทั้งจรวดวี-2 ที่ยังไม่ใช้งาน กองเอกสารวิชาการ และทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรอีกหลายร้อชีวิต โดยพวกเขาไปถึงเท็กซัสเมื่อเดือน ก.ย.1945 โดยไม่มีครอบครัวติดตามไปด้วย จนกระทั่งปี ค.ศ.1950 พวกเขาก็ไปอยู่ยังเมืองเกษตรเล็กๆ ของฮันท์วิลล์ ซึ่งได้เปลี่ยนสถานที่ผลิตอาวุธปืนใหญ่เป็นศูนย์พัฒนาจรวดมิสไซล์

ที่สุดครอบครัวของหัวกะทิชาวเยอรมันได้รวมตัวกันอย่างสมบูรณ์ และถึงปี ค.ศ.1960 ศูนย์พัฒนาจรวดมิสไซล์ได้กลายเป็นองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และ ฟอน บราวน์ ได้เป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center)

มาร์กริท ฟอน บราวน์ (Margrit) ลูกสาวคนที่ 2 ของฟอน บราวน์ ที่เกิดเมื่อปี 1952 ย้อนความหลังแก่ทางเอเอฟพีว่า เธอเติบโตมาอย่างเด็กธรรมดา โดยครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยครอบครัวชาวเยอรมันคนอื่นๆ พวกเขาใช้ทั้งภาษาเยอรมันและอังกฤษสื่อสารกัน

“แต่ฉันไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นชาวอเมริกันเอนมันเลยนะ ฉันมักนิยามตัวเองว่าเป็นชาวอเมริกันก่อนเสมอ” ลูกสาวของ เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์กล่าว และเธอยังกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อร่วมฉลอง 50 ปีในการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโลด้วย

มาร์กริทออกจากเมืองฮันท์วิลล์เพื่อไปศึกษา และอาศัยอยู่ที่ไอดาโอถึง 42 ปี และที่นั่นเธอกลายเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยของรัฐ และเธอยังร่วมก่อตั้งองคืกรไม่แสวงหาผลกำไรเทอร์รากราฟิกส์ (TerraGraphics) ที่ทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมตามประเทศต่างๆ เช่น ไนจีเรีย

ในขณะที่ลูกสาวทำงานวนเวียนเกี่ยวกับโลก แต่พ่อของเธอทำงานที่พุ่งไกลออกไปจากโลก เพื่อศึกษาดาวนอกโลก แต่มาร์กริทมองว่าเธอและพ่อต่างก็มีสิ่่งที่เชื่อมโยงกันอย่างที่คนอื่นอาจไม่คาดคิด

“เมื่อเราได้เห็นโลก ในฐานะลูกหินอ่อนสีฟ้าแสนงดงามอย่างโดดเดี่ยวในอวกาศ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังของประเทศนี้ (อเมริกา)” มาร์กริทกล่าว

จากความทรงจำมาร์กริทได้เล่าถึงปฏิกิริยาของพ่อเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ขณะที่จรวดแซทเทิร์น 5 ทะยานขึ้นจากฟลอริดา และในวันถัดจากนั้นเกือบทั้งวัน พวกเขาก็คุยกันเรื่องไปดาวอังคารไม่หยุดหย่อน

“ทว่าหากพ่อยังอยู่ถึงทุกวันนี้ พ่อคงจะช็อคและผิดหวังรุนแรง ที่เราไม่เพียงทิ้งช่วงกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งอย่างยาวนาน แต่ยังรวมถึงเรื่องที่เราไม่มีความคืบหน้าที่จะไปดาวอังคารต่อไป” มาร์กริทกล่าว

ฟอน บราวน์ มีความฝันที่จะขยายขอบเขตการเข้าถึงอวกาศของมนุษย์ชาติ แต่ความฝันนั้นถูกแปดเปื้อนจากสงคราม โดยระหว่างทำงานภายใต้การปกครองของนาซี เขาได้ควบคุมการยิงจรวดมิสไซล์วี-2 จากพีเนมุนด์ในทะเลบอลติก และเพื่อจะยุติสงครามโลก

ฮิตเลอร์มีเป้ายิงจรวดมิสไซล์พิสัยไกลลูกแรกของโลกไปยังลอนดอนของอังกฤษและเมืองแอนต์เวิร์ปของเบลเยียม เพื่อสังหารพลเมืองและทหารหลายหมื่นชีวิต นอกจากนี้ในการสร้างอาวุธสังหารยังมีแรงงาน 1-2 หมื่นรายที่ถูกเกณฑ์มาจากค่ายกักกันดอรา (Dora concentration camp) ต้องเสียชีวิตลงอย่างไร้มนุษยธรรม

ฟอน บราวน์เข้าร่วมพรรคนาซีเมื่อปี ค.ศ.1937 และยังได้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel: SS) หน่วยเสริมของทหารนาซีที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งนักประวัติศาสตร์มองเขาเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าเขาคืออาชญากรสงคราม ส่วนอีกฝ่ายมองว่า เขามีทางเลือกไม่มากต้องเลยตามเลยไปกับรัฐบาลที่ปกครองแบบเผด็จการ

แต่ก็มีความเห็นแย้งว่าไม่ควรเลือกข้างให้บุคคลในประวัติศาสตร์กลายเป็นฮีโร่หรือวายร้ายเพียงเพื่อให้ง่ายต่อการเจาะจง สำหรับมาร์กริทแล้วฟอน บราวน์คือ “พ่อ” และยังให้ความเห็นด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะรับมือ บางคนอาจถูกขอให้ทำในสิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ เธอเชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งไม่มีทางเลือกในแบบที่ผู้อาศัยในสังคมประชาธิปไตยแบบอเมริกาคุ้นเคย

“อเมริกันเปิดรับนักวิทยาศาสตร์จรวด และนักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยอเมริกาไปดวงจันทร์ ดังนั้น ฉันคิดว่าการระบุแบบนี้ถูกต้องมากกว่า” มาร์กริทกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0