โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อดีตนักศึกษาช่างกลอุเทนถวาย ทำสวนผสมผสาน ปลูกฝรั่งกิมจู แบบประหยัดน้ำด้วยโอ่ง

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 19 ส.ค. 2565 เวลา 04.06 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2565 เวลา 01.00 น.
ฝรั่งกิมจู

พื้นที่ 10 ไร่ ที่ดอนสูง คุณคงศักดิ์ นาคคุ้ม เกษตรกรหัวไวใจสู้ นำโอ่งขนาดใหญ่ หรือชาวภาคอีสานเรียกว่า “โอ่งแดง” ตั้งเรียงยาว แถวละ 10 ลูก 3 แถว ต่อท่อน้ำให้เชื่อมกัน จากนั้นสูบน้ำใต้ดินให้เต็มโอ่งเพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่พืชที่ปลูกแบบผสมผสานโดยใช้ฝรั่งกิมจูเป็นหลัก

คุณคงศักดิ์ อยู่บ้านเลขที่ 547 หมู่ที่ 5 บ้านนิคม ตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาจากช่างกลอุเทนถวาย สาขาช่างก่อสร้าง ทำงานภาคเอกชน มีภรรยาที่ร้อยเอ็ด จึงปักหลักที่ “ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บุญผะเหวด” แม้จะเปลี่ยนมาเป็น “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ” เขาก็รักร้อยเอ็ด เพราะเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ฟูมฟักตำนานเมือง มาวันนี้ ชายวัย 69 ปี แล้วครับ 1 ไร่ ได้แสน คือ แสนสุขใจ แสนสุขใจ แสนร่าเริง รายได้เป็นแสน

คุณคงศักดิ์ บอกว่า ตนไม่ได้จบการศึกษาทางการเกษตร “ใจรักชอบศึกษา” การเกษตรอินทรีย์ ระบบน้ำหยด การให้น้ำแบบประหยัด ตนเองเชี่ยวชาญมากๆ วันนี้จับงานการปลูกฝรั่งกิมจู 7-8 เดือน ได้ผลผลิต หลังจากที่เลือกพื้นที่ปลูกหลังบ้านมรดกภรรยา ไถพรวนยกร่อง ปลูกฝรั่งในร่อง ให้น้ำตามร่อง ระยะ 2×2 เมตร ความยาวตามแปลง ทำขวางแนวลาดชัน ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 400 ต้น จากนั้นก็ปรับปรุงดินโดยการตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเมล็ดวัชพืช ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักในปริมาณเท่าๆ กัน อัตราปุ๋ย 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน เพื่อให้ดินร่วนซุย

วิธีปลูก…หลังจากเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้นำกิ่งตอนฝรั่งกิมจู ที่ชำในถุงปลูกลงในหลุม กลบดินให้แน่นพอสมควร แล้วใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกกันลมโยกและรดน้ำทันที

คุณคงศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองน้อมนำพระราชดำริฯ ตามรอยเท้าพ่ออย่างพอเพียง “นำหลักการห่มดิน” โดยใช้ฟางข้าวคลุมผืนดิน เป็นการรักษาความชุ่มชื้นอย่างดียิ่ง ฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ กลางแปลงขนาด 2 เมตร ตนเองปลูกกล้วยหอมทอง เป็นพืชแซมหลังแปลง ระยะ 2 เมตร มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์เตี้ยค่อม ระยะ 4 เมตร ปลูกมันเทศพันธุ์โอกิโนวา จากประเทศญี่ปุ่น คลุมดิน ให้ผลผลิตดี ตลาดมีความต้องการสูง กิโลกรัมละ 120 บาท ราคาขายปลีก

คุณคงศักดิ์ นำเยี่ยมชมสวนผสมพร้อมเล่าให้ฟังว่า การปฏิบัติดูแลรักษา การให้น้ำ สังเกตดูความชุ่มชื้นของดิน ถ้าดินแห้งมากต้องรีบให้น้ำ และถ้ามีฝนตกหนักก็ควรระบายน้ำออกบ้าง การให้น้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต้นฝรั่ง ปริมาณความชื้นของดินในระหว่างการออกผลมีความสำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดการร่วง การแตก และขนาดของผล

การใส่ปุ๋ย ตนเองเน้นการใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยคอก อินทรีย์และปุ๋ยเคมี สูตรที่แนะนำ คือ 15-15-15 หรือ 13-13-21 ฝรั่งเมื่อออกดอกแล้วจำเป็นต้องให้น้ำและปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ประมาณ 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี หากจะให้ฝรั่งมีรสหวานยิ่งขึ้น ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 5-30-30 พ่นก่อนเก็บผล 1 เดือน นำปุ๋ยเกล็ดมาผสมน้ำฉีดพ่น ฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 2 ครั้ง ประมาณ 15 วัน เก็บผลผลิต

การพรวนดิน ไม่ควรพรวนดินลึก ที่นี่น้อมนำตามรอยเท้าพ่อ “ห่มดิน” การปักหลักกันโยกขณะฝรั่งยังเล็ก ใช้ไม้รวกหรือแขนงไม้ไผ่ ยาว 1 เมตร ค้ำกิ่ง ต้นละ 1-2 อัน และใช้เชือกฟางผูกติดกับกิ่ง แต่อย่าผูกให้แน่นมาก เพราะกิ่งอาจจะเจริญเติบโตช้า

การพยุงผลฝรั่ง อายุประมาณ 6 เดือน ใช้ไม้ไผ่ปักไว้เพื่อพยุงผลฝรั่ง ใช้ปลายหรือแขนงไม้ไผ่ ขนาดเล็ก ยาว 1 เมตร หรือมากกว่านั้นปักใกล้กับกิ่งที่ออกผลแล้ว โดยผูกยึดกับกิ่งไว้ หรือจะผูกขั้วผลกับกิ่งหรือไม้ปักเพื่อไม่ให้ผลถ่วงต้น เพราะน้ำหนักผลฝรั่งมาก ถ้ามีลมพัดแรงต้นจะเฉาตายและรากจะขาด

การตัดแต่งกิ่ง จะช่วยให้ฝรั่งเกิดกิ่งอ่อน และมีช่อดอกออกมาด้วย ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ได้สัดส่วน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง สะดวกในการเก็บผลและการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง นอกจากนี้ ยังทำให้ได้ผลผลิตที่แน่นอน ผลมีขนาดใหญ่ ต้นที่สมบูรณ์จะตัดกิ่งก้านออก 25-30% สำหรับต้นที่ไม่แข็งแรง ให้ตัดกิ่งก้านออก ประมาณ 20% นอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว การทำให้ใบร่วงจะทำให้ระยะการเก็บเกี่ยวสั้นลง และการปลิดผลทิ้งให้เหลือประมาณ 2-6 ผล ต่อกิ่ง แต่ถ้าจะให้ได้ผลที่มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดี ควรให้เหลือเพียง 1 ผล เท่านั้น

การห่อผล ประโยชน์ของการห่อผลนอกจากจะช่วยป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูฝรั่งแล้ว ยังทำให้ผลฝรั่งมีผิวสวยน่ารับประทาน วิธีการห่อผลฝรั่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ถุงพลาสติกหรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อก่อน แล้วจึงสวมถุงพลาสติกทับอีกชั้นหนึ่ง โดยจะเริ่มห่อผลฝรั่งเมื่อมีขนาดเท่าลูกมะนาวหรือหลังดอกบานแล้ว 1 เดือน

โรคที่สำคัญของฝรั่ง

  • โรคจุดสนิม การป้องกัน ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หากเป็นที่กิ่งอาจใช้สารเคมีดังกล่าวผสมในปูนแดงข้นๆ ทาบริเวณที่เป็นโรค
  • โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายผลอ่อน ผลสุกและใบ อาการบนใบจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ แผลอาจทะลุ ถ้าเป็นที่ผลอ่อนจะทำให้มีสีน้ำตาลและเน่าแห้งไปในที่สุด แต่ถ้าเป็นระยะผลสุกหรือใกล้สุก จะเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล อาการจะลุกลาม แผลจะบุ๋มลงเล็กน้อยมีจ้ำสีคล้ำและเมือกสีแสดปรากฏให้เห็น การป้องกัน ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยพ่นสารเคมีก่อนเก็บผล 1 เดือน

แมลงศัตรูฝรั่ง

  • แมลงวันทอง การทำลายเกิดจากแมลงวันทองวางไข่ที่ใต้ผิวฝรั่งสุก (หรือระยะที่ผิวผลอ่อน) ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จะเจริญกินเนื้อฝรั่งเป็นอาหาร ทำให้ฝรั่งอ่อนนิ่มและเละในที่สุด การป้องกัน ห่อผลในขณะที่ผิวยังแข็ง มีสีเขียว ขนาดเล็ก การห่ออาจห่อด้วยถุงพลาสติกชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น โดยต้องเจาะรูกระดาษห่อชั้นในก้นถุงให้น้ำไหลออกด้วย หรือใช้สารเคมีมาลาไทออนผสมโปรตีนไฮโดรไลเซท เป็นเหยื่อพิษฉีดพ่นในตอนเช้าตรู่เป็นจุดๆ บนใบแก่เท่านั้น ต้นละ 1-4 จุด แต่ละจุดใช้น้ำยาประมาณ 50 ซีซี พ่นแค่ให้ใบเปียก และพ่นทุกๆ 7 วัน ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยว หากพ่นก่อนการระบาด 1 เดือน จะได้ผลดีกว่าพ่นหลังแมลงระบาดแล้ว
  • เพลี้ยแป้ง จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบอ่อน กิ่งอ่อน และช่อดอก ทำให้แห้งเฉาหรือใบผิดรูปร่างและผลผลิตลดลง ใช้สารสมุนไพร น้ำหมักข่า ตะไคร้หอม ใบยูคาลิปตัส สะเดา เพื่อไล่แมลง ฉีดพ่น 5-7 วัน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ - Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0