โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อดิศักดิ์ นาคสมบัติ คนชุมพร มุ่งมั่นผลิต หมอนทองนอกฤดู มาตรฐานส่งออก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 15 ก.พ. 2562 เวลา 21.10 น.
หมอนทอง 16กพ

ปัจจุบัน การผลิตทุเรียนนอกฤดู หรือทุเรียนทะวายได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยราคาจำหน่ายที่สูงกว่าทุเรียนที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลปกติ ผนวกกับการเติบโตของตลาดทุเรียนในต่างประเทศที่มีความต้องการมาก ส่งผลให้การผลิตทุเรียนภายในประเทศยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ

คุณอดิศักดิ์ นาคสมบัติ (คุณต้น) เกษตรกรปลูกทุเรียนที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน บนเส้นทางผลิตทุเรียนหมอนทองนอกฤดูเกรดพรีเมี่ยม ในเนื้อที่กว่า 20 ไร่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความชื่นชอบในเนื้อสีเหลืองทอง พร้อมรสสัมผัสที่หวานมันเกินห้ามใจ จนสามารถสร้างรายได้และเพิ่มความมั่นคงให้แก่ครอบครัวในวิถีของชาวสวนได้เป็นอย่างดี

คุณอดิศักดิ์ เล่าว่า ตนเองจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ คณะบริหาร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ได้นำความรู้ที่จบด้านการเขียนโปรแกรมมาลงทุนประกอบธุรกิจเปิดร้านคอมพิวเตอร์อยู่ภายในตัวเมืองชุมพร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ผนวกกับในช่วงระยะเวลานั้นบิดาประสบอุบัติเหตุทำให้เป็นอัมพาต จึงไม่มีใครดูแลสวนทุเรียนที่ปลูกอยู่ ซึ่งนับวันจะยิ่งทรุดโทรม ตนเองจึงตัดสินใจกลับมาทำสวนทุเรียนสานต่อธุรกิจครอบครัว ประมาณปี พ.ศ. 2543

ในช่วงแรกที่เริ่มต้นทำสวนทุเรียนก็เน้นผลิตทุเรียนตามฤดูกาลธรรมชาติ ไม่ได้มีการทำทุเรียนนอกฤดู เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญในการทำสวนทุเรียน จึงใช้ทุเรียนต้นเก่าทำไปก่อน ไม่ได้มีการปลูกทุเรียนใหม่แต่อย่างใด แต่ปัญหาที่พบคือ ต้นทุเรียนมีขนาดใหญ่ สูงกว่า 30 เมตร ทำให้ตัดแต่งกิ่งและฉีดยาฆ่าแมลงได้อย่างยากลำบาก ผลผลิตได้รับความเสียหายจากแมลงที่ไปกัดกินผลทุเรียน อีกทั้งการโยงเชือกในแต่ละครั้งผู้โยงก็ต้องปีนต้นไม้สูงเสี่ยงต่อการพลัดตกต้นไม้

เนื่องจากทุเรียนมีขนาดต้นที่ใหญ่ ยากแก่การดูแล คุณอดิศักดิ์ จึงตัดสินใจโค่นต้นทุเรียนลงในบางส่วน แล้วปลูกทุเรียนหมอนทองเพิ่มอีก จำนวน 200 ต้น เนื่องจากทุเรียนสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศและมีราคาสูง พร้อมทั้งหมั่นศึกษาความรู้ในการจัดการแปลงปลูกจากบุคคลรอบข้าง ทั้งในประเด็นของการจัดการระบบน้ำในสวนทุเรียน การใช้ธาตุอาหารเสริมต่างๆ สำหรับบำรุงต้นทุเรียน ซึ่งได้นำภูมิปัญญาเหล่านี้มาปรับประยุกต์ใช้และเสาะหาเทคนิคใหม่ในการผลิตทุเรียนอยู่โดยตลอด

 การจัดการระบบน้ำภายในสวนทุเรียน

คุณอดิศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนมองถึงเป้าหมายผลกำไรที่ได้จากการขายผลทุเรียนในอนาคต ต้องเริ่มต้นจากการจัดการระบบน้ำภายในแปลงปลูกเป็นลำดับแรก แนวการวางท่อเมนหลักต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่หากพื้นที่สูงให้เน้นวางท่อเมนไปในส่วนที่สูงก่อน เพื่อให้มีแรงผลักดันน้ำไปถึงและปล่อยน้ำลงมาสู่พื้นที่ด้านล่างในปริมาณที่สมดุลกัน สำหรับแปลงที่ปลูกทุเรียนอยู่ในปัจจุบัน เลือกใช้ท่อเมนหลัก ขนาด 3 นิ้ว พร้อมกับติดตั้งหัวสปริงเกลอร์รอบโคนต้นทุเรียน จำนวน 3 หัว เพื่อกระจายความชุ่มชื้นให้ได้อย่างทั่วถึง ส่วนการรดน้ำต้นทุเรียนจะให้น้ำในทุกๆ 7 วัน หรือตามสภาพอากาศ หากแล้งมากจะปรับมาเป็น 3 วัน/ครั้ง เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำจืดที่เพียงพอ จึงใช้วิธีการขุดบ่อบาดาลแล้วใช้ปั๊มซัมเมิร์สในการดึงน้ำจากบ่อบาดาลมาเก็บไว้ในแท็งก์น้ำรูปแบบวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 12×12 เมตร สูง 1.85 เมตร สามารถจุน้ำได้ 185,000 ลิตร สำหรับสวนทุเรียน 1 แปลง จำนวน 200 ต้น จะใช้น้ำประมาณ 100,000 ลิตร/การรดน้ำ 1 ครั้ง โดยเลือกใช้ปั๊มสูบน้ำ ขนาด 3 นิ้ว 3 แรง สามารถรองรับหัวสปริงเกลอร์แบบสายฝนได้ จำนวน 100 หัว เมื่อให้น้ำครบ 15 นาที ก็เปลี่ยนไปรดน้ำอีก 100 หัว ทำแบบนี้สลับไปจนครบทุกต้น

อย่างไรก็ตาม การรดน้ำทุเรียนจะต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ในการปลูกและบ่อกักเก็บน้ำ ในกรณีที่ใช้ปั๊มน้ำ ขนาด 3 นิ้ว จะให้อัตราการดูดน้ำในปริมาณที่มากและรวดเร็ว ซึ่งน้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการเปิดรดในคราวเดียวทั้งแปลง อาจเลี่ยงมาใช้วิธีการทำประตูน้ำแล้วแบ่งรดครั้งละประมาณ 30 ต้น ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำในบ่อที่เพียงพอต่อการรดน้ำต้นทุเรียนทั้งแปลง

เทคนิคการดูแลต้นทุเรียนเล็ก

คุณอดิศักดิ์ เลือกที่จะสั่งซื้อต้นพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจากบ้านคลองพร (กิโลเมตรที่ 18) ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตต้นกล้าทุเรียน (ทุเรียนถุง) แหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดชุมพร โดยเลือกจากร้านจำหน่ายที่มีความไว้ใจกันและเคยมาตัดยอดทุเรียนหมอนทองที่สวน เพื่อนำมาเสียบยอดเข้ากับต้นทุเรียนบ้าน ผลิตเป็นต้นกล้าทุเรียนหมอนทองออกจำหน่าย

คุณอดิศักดิ์ กล่าวว่า เลือกใช้วิธีการซื้อทุเรียนถุง ที่มีอายุต้นไม่ต่ำกว่า 1 ปี ความสูงโดยเฉลี่ย ประมาณ 70 เซนติเมตร มาลงปลูกในระยะ 8×8 เมตร ด้วยวิธีการขุดหลุมปลูกแบบสลับฟันปลา ระหว่างหลุมเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลแปลงปลูก และเมื่อทุเรียนโตเต็มที่แล้วจะไม่มีปัญหารัศมีใบทับซ้อนกัน ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักแล้วตัดเปิดถุงพร้อมกับตัดปลายราก ส่วนสาเหตุที่ต้องตัดปลายรากก็เพราะทุเรียนเมื่ออยู่ในถุงเป็นระยะเวลานาน รากแก้วจะขดตัวอยู่ก้นถุง ในกรณีที่ไม่ได้ตัดปลายรากแก้วแล้วนำลงปลูก เมื่อทุเรียนต้นใหญ่ขึ้นแล้วโดนกระแสลมพัดก็มีโอกาสที่จะล้มได้ง่าย เพราะฉะนั้นจะต้องใช้วิธีการตัดปลายรากแก้วที่ติดกับก้นถุงอยู่เสมอ แล้วนำลงปลูกก่อนกลบดินให้เรียบร้อย

การดูแลต้นทุเรียนหมอนทองในช่วง 1-2 ปีแรกนั้น คุณอดิศักดิ์ เลือกใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมูลไก่ หรือปุ๋ยคอก ใส่บำรุงต้นทุเรียน ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมกับปลายเดือนพฤศจิกายน ในอัตราส่วน 1-2 กิโลกรัม/ทุเรียน 1 ต้น โดยใช้วิธีการใส่ให้ห่างจากโคนต้นทุเรียน อาศัยการสังเกตรัศมีใบทุเรียนที่กว้างไปถึงไหนย่อมหมายความว่ารากยาวไปถึงนั่นแล้ว จึงใส่ปุ๋ยรอบๆ รัศมีใบซึ่งจะใช้แนวทางการใส่ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงต้นทุเรียนไปจนถึงเมื่อต้นทุเรียนมีอายุประมาณ 5 ปี

คุณอดิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีแรกไม่ควรที่จะใช้ยากำจัดวัชพืชจำพวกดูดซึม และเผาไหม้ เข้ามาฉีดภายในแปลงทุเรียน เนื่องจากจะทำให้ต้นแคระแกร็นไม่โต เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วก็ควรใช้จอบทำโคนพูนดินให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้นปกติเล็กน้อย ส่วนในกรณีที่ต้องการใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงต้นทุเรียนก็สามารถที่จะใช้ควบคู่กับปุ๋ยชีวภาพได้เช่นกัน โดยใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 2-3 ครั้ง หรือ 4 เดือน/ครั้ง ในอัตราส่วน ปุ๋ยเคมี 2-3 ขีด/ทุเรียน 1 ต้น สำหรับปุ๋ยเคมีสูตรที่ใช้ก็จะเป็นจำพวกสูตรเสมอ 15-15-15, 20-20-20 และ 16-16-16 สลับกับการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีไนโตรเจนสูง 30-20-10 หรือ 16-0-0 เพื่อเร่งลำต้นและกิ่งให้มีขนาดใหญ่

สำหรับการดูแลต้นทุเรียนในปีที่ 2 คุณอดิศักดิ์ เลือกใช้วิธีการตัดแต่งกิ่งทุเรียนที่มีเป็นจำนวนมากให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเหลือไว้ แต่กิ่งที่มีความสมบูรณ์เพื่อให้ได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่ โดยต้นทุเรียนอายุ 2 ปี จะมีขนาดความสูงประมาณ 1.2 เมตร มีกิ่งแตกออกมาประมาณ 20-30 กิ่ง ต้องตัดแต่งกิ่งด้านล่างสุด 3 กิ่ง แล้วเว้นระยะ 3-4 กิ่ง ก่อนจะแต่งต่อไปอีก 3 กิ่ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้คงเหลือต้นละประมาณ 15-20 กิ่ง หากไม่มีการตัดแต่งกิ่งตั้งแต่ทุเรียนต้นเล็ก เมื่อโตขึ้นจะยากกับการดูแล เป็นโรคง่าย และเมื่อกิ่งทุเรียนไม่โดนแดดต้นทุเรียนจะปลดกิ่งตามธรรมชาติ ทำให้โครงสร้างต้นทุเรียนแลดูผิดปกติอีกด้วย

ในปีที่ 4-5 เป็นช่วงที่ทุเรียนเริ่มออกลูก แต่ไม่แนะนำให้เก็บลูกในช่วงนี้ เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนมีอาการแคระแกร็นต้องเกี่ยวดอกออก เพื่อไม่ให้ต้นทุเรียนติดลูก แต่หากเก็บลูกไว้ก็จะได้ลูกทุเรียนที่ไม่สวยมากนัก เนื่องจากต้นทุเรียนได้รับสารอาหารประเภทไนโตรเจนมายาวนานถึง 5 ปี ลูกทุเรียนจึงมีลักษณะเป็นพูแหลมเรียวไม่กลม เปลือกหนา เนื้อน้อย ภาษาถิ่นภาคใต้เรียกทุเรียนประเภทนี้ว่า “ทุเรียนกระดูก, ไอ้เข้, ไอ้โข่ง” ในกรณีที่ต้องการเก็บผลทุเรียนเอาไว้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเลือกลูกทุเรียนที่มีลักษณะผลสมบูรณ์ เก็บไว้ประมาณ 10-20 ลูก/ต้น เท่านั้น

จนกระทั่งย่างเข้าสู่ช่วงปีที่ 6 จึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทุเรียนจะมีการออกดอก ประมาณ 400-500 ดอก/ต้น จะต้องตัดแต่งดอกคงเหลือไว้เฉพาะดอกที่มีความสมบูรณ์เท่านั้น ทั้งนี้ทุเรียน 1 ต้น ควรมีลูกทุเรียนอยู่ประมาณ 80 ลูก หากมีการปล่อยไว้เกิน 120 ลูกขึ้นไป ผลทุเรียนจะไม่โต เนื่องจากสารอาหารไม่พอ และในระหว่างนี้ควรใส่ธาตุอาหารเสริม หรือปุ๋ยสูตรเสมอไปพร้อมกับการฉีดยาฆ่าแมลงและยาฆ่าเชื้อรา เพื่อเตรียมต้นทุเรียนให้มีสภาพที่พร้อมสำหรับการผลิตทุเรียนนอกฤดูมากที่สุด

 เผยเคล็ดลับ ผลิตทุเรียนนอกฤดู

คุณอดิศักดิ์ เลือกผลิตทุเรียนนอกฤดูในปีที่ 7 ซึ่งสภาพต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์เหมาะแก่การทำทุเรียนทะวาย โดยใน 6 เดือนแรก เป็นการแต่งใบทุเรียน ส่วนในช่วงเดือนที่ 7 ทุเรียนจะเริ่มมีตาดอกขนาดเล็กจนกระทั่งดอกบาน กินระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เมื่อดอกทุเรียนบานแล้วจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 120 วัน ก็สามารถที่จะตัดผลทุเรียนจำหน่ายได้ โดยรวมแล้วใช้ระยะเวลา 1 ปี พอดี อาจจะมีเกินระยะเวลาบ้างก็สุดแล้วแต่สภาพอากาศ หากมีฝนตกมากดอกไม่ออก ก็อาจยืดระยะเวลาให้นานขึ้นไปอีกประมาณ 1 เดือน

คุณอดิศักดิ์ กล่าวว่า การผลิตทุเรียนนอกฤดูเกษตรกรจะต้องกำหนดห้วงเวลาว่า จะตัดทุเรียนจำหน่ายในเดือนใดของปีหน้า หากกำหนดตัดจำหน่ายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะต้องเริ่มเตรียมการตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีนี้ โดยวงจรในการทำทุเรียนนอกฤดู จะกินระยะเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นภายหลังตัดลูกเสร็จจะต้องแต่งแขนง แต่งใบ เพื่อเตรียมพร้อมทำทุเรียนนอกฤดูทันที

ในช่วงเดือนแรกต้องแต่งใบทุเรียน รวมถึงแขนงน้ำค้างผ่านวิธีการสังเกตใบทุเรียนที่แก่จัด มีคราบมอสส์ หรือเฟิร์นเกาะอยู่ แต่งออกโดยใช้ตะขอเกี่ยว หรืออาจใช้เลื่อยในการแต่งกิ่ง เมื่อแล้วเสร็จจึงนำปุ๋ยเกล็ดสูตรที่มีไนโตรเจนสูงมาละลายน้ำในถัง ขนาด 200 ลิตร ผสมกับยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา และอาหารเสริมประเภทแคลเซียมโบรอนฉีดพ่นทางใบทุกๆ 7-10 วัน เพื่อรักษาใบไม่ให้แมลงกิน เนื่องจากในกรณีที่ทุเรียนมีการแตกใบอ่อนจะมีศัตรูพืช คือ เพลี้ยไฟ ให้ใช้สารเคมีในกลุ่มอะบาเม็กติน (Abamectin) มาฉีดพ่นไปพร้อมกับการให้น้ำทุเรียนทุกๆ 2-3 วัน เมื่อพ้นระยะ 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว จะต้องคอยระวังศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยไก่แจ้ และเพลี้ยกระโดด สามารถกำจัดได้โดยใช้สารเคมีในกลุ่มคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ฉีดพ่นทางใบผสานกับการบำรุงต้นทุเรียนด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ทำอย่างนี้จนใบทุเรียนเริ่มแก่ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 3 ใบทุเรียนกลับมาแก่ต้องแต่งกิ่งแขนงของทุเรียนอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่เน้นแต่งใบแก่ มุ่งเน้นไปที่การแต่งแขนงน้ำค้างที่ออกตามใบแล้วฉีดปุ๋ยเกล็ดที่มีไนโตรเจนสูงซ้ำอีก 1 ครั้ง เพื่อเร่งให้แตกใบอ่อนแล้วกลับมาใช้วิธีการเหมือนกับในช่วง 2 เดือนแรกที่เริ่มทำทุเรียนนอกฤดู กินระยะเวลารวมเป็น 4 เดือน

ส่วนเดือนที่ 5 ให้แต่งแขนงน้ำค้างตามใบออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งใบทุเรียนในช่วงนี้จะมีลักษณะกลางอ่อนกลางแก่ (ใบเพสลาด) ต้องมีการบำรุงต้นทุเรียนด้วยปุ๋ยเคมีทางดิน พร้อมเผยเคล็ดลับใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 จำนวน 4 กระสอบ และปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 จำนวน 1 กระสอบ ผสมกันแล้วนำมาใส่ ในอัตราส่วน 5 กิโลกรัม/ต้น สำหรับทุเรียน อายุ 7-10 ปี หากต้นทุเรียนมีอายุมากกว่านั้น ต้องใส่ถึงต้นละ 7-10 กิโลกรัม/ต้น แต่ไม่แนะนำการใส่ปุ๋ยสูตรนี้สำหรับเกษตรกรมือใหม่ เพราะต้นทุเรียนอาจมีการติดดอกมากเกินไปจนยืนต้นตายได้

ในเดือนที่ 6 จะมีการฉีดสารแพคโคลบิวทราโซล (Paclobutrazol) ใต้ทรงพุ่มเพื่อหยุดการดูดซับแร่ธาตุในดิน บังคับให้ทุเรียนออกดอก ในอัตราส่วน 30-40 เปอร์เซ็นต์/ต้น หากฉีดมากกว่านั้นทุเรียนอาจตายได้ เสริมด้วยการฉีดปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 ในอัตราส่วน 10 ลิตร/ทุเรียน 1 ต้น เพื่อเร่งให้ทุเรียนออกดอกในทุกๆ 7-10 วัน หมั่นสังเกตเมื่อใบทุเรียนเริ่มแก่ให้งดน้ำ ประมาณ 10 วันขึ้นไป ในระหว่าง วันที่ 6-7 ที่งดน้ำนี้ จะฉีดเปิดตาดอกด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 13-0-46 และ 0-52-34 โดยใช้วิธีการฉีดใต้ทรงพุ่มในช่วงเวลาก่อนพลบค่ำ หรือช่วงเย็นเท่านั้น เพราะหากฉีดในขณะที่มีอากาศร้อนจะทำให้ตาดอกทุเรียนแตกได้

เมื่อครบกำหนดงดน้ำ 10 วันแล้ว ต้องกำจัดเศษขยะ หรือวัชพืชที่อยู่บริเวณรอบโคนต้นทุเรียนออก ให้เหลือแต่พื้นดินที่มีสภาพแห้งแล้วโชยน้ำ (รดน้ำ) ในช่วงหลังเที่ยง 1 วัน สังเกตบริเวณกิ่งทุเรียนว่ามีตุ่มดอกขึ้นมาหรือไม่ หากพบทุเรียนติดดอกแล้วต้องรดน้ำในทุกๆ วัน ส่วนในกรณีที่ทุเรียนยังไม่ติดดอก ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 13-0-46 ฉีดพ่นในทุกๆ 7 วัน เพื่อกดไม่ให้ยอดทุเรียนแตก และบังคับให้ทุเรียนออกดอก

คัดเลือกดอกทุเรียนที่มีความสมบูรณ์

เมื่อทุเรียนติดดอกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรใช้สารเร่งยอดจิบเบอเรลลิน แอซิด (Gibberellic Acid) ช่วยเร่งให้ดอกทุเรียนยาวขึ้น เนื่องจากทุเรียนที่มีการฉีดสารแพคโคลบิวทราโซล จะมีขนาดกลีบดอกที่สั้นกว่าปกติ ก่อนเปลี่ยนปุ๋ยกลับมาเป็นสูตรเสมออีกครั้ง จนกว่าดอกทุเรียนบาน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ในระยะนี้เกษตรกรห้ามฉีดยาฆ่าแมลงโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ดอกทุเรียนหลุดร่วงได้

คุณอดิศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากดอกทุเรียนบานแล้วจะต้องฉีดตัดดอก เพื่อคัดเลือกเอาเฉพาะดอกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด และกำจัดปิง (ส่วนของปลายดอกที่ติดกับลูก) ให้หลุดร่วงลงมา หากไม่ฉีดตัดดอกอาจทำให้ผลทุเรียนมีหนามในลักษณะที่ติดกัน จัดเป็นทุเรียนเบอร์ไม่สวย มีราคาถูก ส่วนยาที่ใช้ฉีดตัดดอก ควรเป็นยาสูตรเย็น สามารถใช้ได้หลายประเภท ทั้งสารกำจัดเชื้อรา ปุ๋ยเกล็ด และยาฆ่าแมลงขึ้นอยู่กับความถนัดของเกษตรกรแต่ละราย ในทางตรงกันข้ามหากใช้ยาสูตรร้อนจะส่งผลให้หนามของทุเรียนมีสีแดงจัด เป็นทุเรียนตกไซซ์ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้อาหารเสริมบำรุงต้นทุเรียนในระยะนี้ เนื่องจากหากไม่ทราบวิธีการใช้อาจส่งผลให้มีสารตกค้างไปสู่ผู้บริโภค และเป็นพาหะของโรคในทุเรียนอีกด้วย

จนกระทั่งผลทุเรียนมีขนาดโตเท่าไข่ไก่ ให้แต่งลูกคัดเฉพาะผลที่มีลักษณะสมบูรณ์ สำหรับต้นทุเรียนอายุ 7 ปี ควรคัดลูกให้เหลือประมาณ 70-80 ลูก/ต้น ส่วนทุเรียนที่มีอายุมากกว่า 20 ปี อาจไว้ได้ถึง 100-120 ลูก/ต้น ในระยะห่าง 1 ฟุต/1 ลูก โดยเฉลี่ยแล้วกิ่งหนึ่งจะไว้ได้ประมาณ 5 ลูก หรือขึ้นอยู่กับความชำนาญของคนแต่งแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ในช่วงแต่งลูกนี้จะต้องใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 พร้อมกับการฉีดพ่นทางใบด้วยปุ๋ยเกล็ด สูตร 25-5-30 เพื่อบำรุงลูกทุเรียนควบคู่กันไปด้วย

เมื่อผลทุเรียนมีขนาดโตเต็มที่ จะมีน้ำหนักมาก ต้องใช้เชือกฟางผูกโยงยึดเข้ากับลำต้น เพื่อรองรับน้ำหนัก ซึ่งก่อนที่ทุเรียนแก่ 1 เดือน จะหยุดใส่ปุ๋ยทุกชนิด แต่ยังคงฉีดเฉพาะยาฆ่าแมลงกับยาป้องกันเชื้อราเพื่อรักษาให้ลูกทุเรียนมีผิวที่สวย และจะหยุดฉีดก่อนตัดขาย ประมาณ 1 สัปดาห์ นับระยะเวลาตั้งแต่ทุเรียนดอกบานไปจนถึงทุเรียนแก่ จะอยู่ที่ 110 วัน ตัดลูกในช่วงที่ทุเรียนแก่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะรอให้ทุเรียนสุก 90-95 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ เพราะเนื้อภายในจะเละก่อนถึงปลายทาง โดยใช้วิธีการตัด 2 ครั้ง เนื่องจากทุเรียน 1 ต้น จะสุกไม่เท่ากัน เมื่อตัดเสร็จแล้วก็ต้องนำมาคัดขนาดเพื่อส่งล้งรับซื้อทุเรียนส่งออกต่อไป ก็เป็นอันจบขั้นตอนการทำทุเรียนนอกฤดูใน 1 ปี

คุณอดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงผู้สนใจปลูกทุเรียนว่า สำหรับเกษตรกรรายใหม่ถ้าคิดจะปลูกทุเรียน ก็ให้พึงระลึกเสมอว่า ทุเรียนเป็นไม้เนื้ออ่อน ที่มีความอ่อนแอสูง หากฝนตกมาก หรือน้ำแล้งจัดก็อาจยืนต้นตายได้ เพราะฉะนั้นต้องหมั่นดูแลอยู่ตลอด อย่างน้อย 2-3 วัน ต้องเข้าไปในสวนทุเรียน 1 ครั้ง แล้วความเหน็ดเหนื่อยที่ทุ่มเทไปจะแปรเปลี่ยนเป็นความชื่นใจเมื่อได้รับผล

*ติดต่อเกษตรกร คุณอดิศักดิ์ นาคสมบัติ (คุณต้น) บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 3 ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86100 โทร. 084-745-6687 *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0