โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ห้าแยกลาดพร้าวเดือด เซ็นทรัล-STEC-SCไล่ซื้อที่รับศูนย์บางซื่อ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 26 เม.ย. 2562 เวลา 12.00 น.

ทุนยักษ์ซุ่มซื้อที่ดินปักหมุดขึ้นมิกซ์ยูสรอบสถานีกลางบางซื่อ บีทีเอสกรุ๊ป ขายที่ดิน 2 แปลงใหญ่ ให้ซิโน-ไทยขึ้นอาคารสำนักงาน เซ็นทรัลทาบซื้ออีกแปลงกว่าหมื่นล้าน เอสซียึด 5 แยกลาดพร้าวขึ้นคอนโดฯหรู ปตท.โดดชิงที่รถไฟ แปลง เอ

ทำเลห้าแยกลาดพร้าวถูกยกให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจแห่งใหม่ หรือ New CBD จากการไหลบ่าของกลุ่มทุนปักหมุดซื้อที่ดิน ขึ้นโครงการมิกซ์ยูส ตึกสูงคอนโดมิเนียม รองรับการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางทางรางใหญ่ระดับอาเซียนภายในปี 2563 คาดหมายว่าจะมีคนเข้าใช้พื้นที่เปลี่ยนถ่ายการเดินทางมากที่สุดในประเทศ ล่าสุดบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นฯ ร่วมทุนกับญี่ปุ่น ซื้อที่ดินหัวมุมห้าแยกลาดพร้าวฝั่งพหลโยธิน เยื้องกับห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ติดกับยูเนี่ียนมอลล์เกือบ 2 ไร่ขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมหรู ราคาขายต่อตารางเมตรอยู่ที่ 1.7-2 แสนบาทต่อตารางเมตร หรือเฉลี่ยราคาขายต่อหน่วย 7 ล้านบาท หลังค่ายพฤกษา แสนสิริ ขึ้นโครงการไปก่อนหน้านี้ ทำเลห้าแยกลาดพร้าวฝั่งวิภาวดีฯ เรียกว่าราคาที่ดินร้อนระอุขยับไปกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะขุมทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ดินกว่า 2,000 ไร่ เริ่มทยอยนำที่ดินที่มีความพร้อมเปิดให้เอกชนที่สนใจประมูล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนใจที่ดินแปลงดี บีทีเอสกรุ๊ป มองทำเลทองกม.11 และมีเอี่ยว ร่วมลงทุนกับปตท. ส่วนที่ดินแปลง เอ ของสถานีกลางบางซื่อ ขนาดพื้นที่ 35 ไร่มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนรายใหญ่ซื้อซองประมูล มีทั้งกลุ่มเซ็นทรัล, ช.การช่าง และ บีอีเอ็ม และกว่าจะปิดการขายซองวันที่ 7 พฤษภาคม คาดว่าจะมีกลุ่มทุนอีกไม่น้อยกระโจนร่วมวงชิงพื้นที่

 

บีทีเอสขายที่2แปลงยักษ์

ต่อเรื่องนี้ นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าทำเลย่านพหลโยธินมีศักยภาพสูง มีเอกชนให้ความสนใจขึ้นโครงการกันมาก ทั้งรูปแบบมิกซ์ยูส อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม เนื่องจากมีเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ เชื่อมการเดินทางห้างเซ็นทรัล รวมถึงการพัฒนาที่ดินหมอชิต 63 ไร่ (ที่จอดรถฟรี) โครงการบางกอกเทอรมินอล ขณะบีทีเอสกรุ๊ปตัดสินใจขายที่ดินเนื้อที่ 11 ไร่ บริเวณด้านหลังโครงการเดอะไลน์จตุจักร ติดกับบางกอกเทอร์มินอล ให้กับบมจ.ซิโน-ไทย มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ขึ้นโครงการอาคารสำนักงาน รองรับกลุ่มคนทำงานละแวกดังกล่าว โดยบีทีเอส มีแผนทำสกายวอล์กจาก สถานีหมอชิต เชื่อมเข้าสู่ตัวอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้พื้นที่ ขณะ ค่ายสิงห์ เอสเตทซื้อที่ดินยกแปลง ซอยเฉยพ่วง ตั้งแต่ ถนนวิภาวดีฯ ยาวมาสุดพหลโยธินใกล้ที่ดินที่บีทีเอสซึ่งขายให้ซิโน-ไทย

 

เซ็นทรัลซื้อยกแปลง

ขณะเดียวกันที่ดินแปลงพหลโยธินตรงข้ามแดนเนรมิต 46 ไร่ กลุ่มเซ็นทรัลเจรจาซื้อยกแปลง มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส เนื่องจากเป็นที่ดินผืนใหญ่เชื่อมทั้งฝั่งวิภาวดีฯและพหลโยธิน มีส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ฝั่งวิภาวดีฯมีสายสีแดง รวมถึงการตัดถนนผ่านแปลงที่ดินเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับวิภาวดีฯ อย่างไรก็ตาม ที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนหน้านี้กลุ่มบีทีเอสกรุ๊ปถือหุ้น ร่วมกับกลุ่มจีแลนด์ สัดส่วน 50:50 โดยซื้อมามูลค่า 7,000 ล้านบาท เมื่อกลุ่มเซ็นทรัลซื้อจีแลนด์ ทำให้เซ็นทรัลสนใจซื้อดังกล่าว

 

สนที่กม.11

นายสุรยุทธ กล่าวต่อว่า ในส่วนของบีทีเอสกรุ๊ป ให้ความสนใจที่ดินแปลงกม.11 ของรฟท. ส่วนที่ดินแปลง เอ ที่อยู่ระหว่างเปิดขายซอง บริษัทก็สนใจเช่นกัน เนื่องจากมีศักยภาพ

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มยังไม่ได้ซื้อซองโครงการแปลง เอ แต่ต้องการเข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาที่ดินแปลง กม.11 ซึ่งจัดเป็นโซนด้านที่อยู่อาศัยร่วมกับค่ายแสนสิริ ส่วนจะร่วมกับกลุ่มปตท.นั้นยังไม่ได้หารือร่วมแต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงานยืนยันว่า ปตท. จะร่วมกับบีทีเอส พัฒนาที่ดินบริเวณกม.11

 

ปตท.สนพัฒนาสมาร์ทซิตี

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ยื่นประมูลในพื้นที่โซน เอ สถานีกลางบางซื่อ โดยผ่านพีทีทีโออาร์ ที่ ปตท.ยังถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งผ่านมา ปตท หารือร่วมกับ รฟท. มาตลอด โดย ปตท.มีความสนใจลงทุนสมาร์ทซิตี้ ครอบคลุมพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ปัจจุบันพีทีทีโออาร์ยื่นประมูลก่อน ยังไม่ได้จับมือกับพันธมิตร ส่วนในอนาคตจะจับมือกับใครนั้นจะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจะต้องเสนอเข้าบอร์ด ปตท.ต่อไป

สำหรับการยื่นประมูลพื้นที่โซน เอ พื้นที่จะใหญ่หรือเล็กนั้น จะต้องดูถึงการพัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้การเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ ปตท.ยังสนใจพัฒนาในโซนอื่นเพิ่มเติม เพื่อครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 

รฟท.เร่งเข็นอีก3แปลง

แหล่งข่าวระดับสูงจาก รฟท. ระบุว่า การขายซองประมูลคาดว่าจะได้รับความสนใจจากอีกหลายบริษัท เนื่องจากยังมีระยะเวลาอีกหลายวัน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงตรง
กับวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จึงมีน้อยรายเข้ามาซื้อซอง คาดว่าระยะเวลาที่เหลือจะได้รับ
ความสนใจจากกลุ่มลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีการเปิดขายซองไปจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 นี้

สำหรับความคืบหน้าการเปิดประมูลแปลงต่อๆไป มี แปลง บี เป็นจุดพวงรางใกล้ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง พื้นที่ 78 ไร่ แปลง ซี ช่วงสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (หมอชิตใหม่) พื้นที่ 105 ไร่ แปลง ซี พื้นที่ 87.5 ไร่ ใกล้จุดขึ้นทางด่วน และแปลง อี ช่วงตึกแดงบางซื่อขนาดพื้นที่ 120 ไร่นั้น พบว่าแปลง บี-ซี-ดี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งข้อมูลที่นำไปศึกษาเรื่องการร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 และ 2562 ตามนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐคืนให้รฟท.เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดันต่อไป ส่วนแปลง กม.11 ยังไม่ได้มีการเห็นชอบผลการศึกษาจากรฟท. จะเสนออนุกรรมการด้านทรัพย์สินในวันที่ 25 เมษายนนี้ ก่อนเสนอ บอร์ดรฟท.เห็นชอบต่อไป 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 วันที่ 25-27 เมษายน 2562

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0