โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

หุ้น “ชิ้นส่วนรถยนต์” กระอัก! ค่ายรถแห่ปิดโรงงานหนีโควิด

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 30 มี.ค. 2563 เวลา 02.30 น.

ก่อนระบาดหนักไปทั่วโลก ขยายวงจากเอเชียไปสู่ยุโรปและสหรัฐที่ขณะนี้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบหยุดชะงัก เพราะหลายประเทศต้องออกคำสั่งเข้ม ห้ามคนออกจากบ้าน จำกัดพื้นที่การเดินทาง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้ภาคธุรกิจเสียหายหนัก หลายบริษัทต้องปิดกิจการ ประกาศเลิกจ้างพนักงงาน ทำให้คนทั่วโลกตกงานจำนวนมาก เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหม่

หันกลับมาดูประเทศไทยอาการสาหัสเช่นกัน เห็นตัวเลขล่าสุดของแบงก์ชาติแล้วน่าตกใจ ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบถึง 5.3% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี หลังเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวติดลบแรง

ดูแล้ววิกฤตครั้งนี้น่าจะรุนแรงกว่าตอนต้มยำกุ้งที่สาเหตุเกิดจากในประเทศ จากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์จนทำให้ฟองสบู่แตก และกระทบไปถึงภาคธนาคาร ก่อนขยายลามไปยังเพื่อนบ้านแต่ยังจำกัดอยู่แค่ในภูมิภาค ต่างจากรอบนี้ที่กระทบหมดทั้งโลก

ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไล่มาตั้งแต่ภาคการท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม ภาคการเงิน ภาคการผลิต และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน โดยยานยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่กระอักจากพิษไวรัส ทั้งในฝั่งของดีมานด์ที่เดิมกำลังซื้ออ่อนแออยู่แล้ว หดหายลงไปอีก ขณะที่ฝั่งซัพพลายกำลังการผลิตก็ลดลง เนื่องจากหลายค่ายต้องปิดโรงงานประกอบรถยนต์ชั่วคราว สะเทือนถึงซัพพลายเออร์อีกมากมาย

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก มีค่ายรถยักษ์ใหญ่ทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐ ฯลฯ เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิตขายในประเทศและส่งออกไปสู่ตลาดโลก ปรากฏว่าขณะนี้หลายค่ายเริ่มทยอยปิดสายการผลิตชั่วคราวตามนโยบายของบริษัทแม่ และสอดรับกับมาตรการควบคุมของภาครัฐ

เริ่มจาก “ฟอร์ด” สัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งระงับการผลิตชั่วคราวในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก อินเดีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ และประเทศไทย ปิดโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง หรือ เอฟทีเอ็ม จังหวัดระยอง มาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. และเบื้องต้นคาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องสายการผลิตอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. 2563

ค่าย “มาสด้า” ประกาศปิดโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ประเทศไทย ที่จังหวัดระยอง ชั่วคราวเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. – 8 เม.ย. 2563 ส่วนโชว์รูมมาสด้าทุกแห่งทั่วประเทศจะยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ทั้งฝ่ายขายและบริการหลังการขาย รวมถึงศูนย์ซ่อมสีและตัวถัง

และล่าสุด “ฮอนด้า” โดยบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งหยุดการเดินสายการประกอบรถยนต์ชั่วคราวของโรงงานทั้ง 2 แห่ง ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. – 30 เม.ย. 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโควิด-19

การปิดโรงงานของค่ายรถยักษ์ใหญ่แม้จะแค่ชั่วคราวเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสตามแนวปฏิบัติของภาครัฐ แต่หากสถานการณ์ยังรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงขาลงให้กับอุตสาหกรรม คงได้เห็นค่ายรถอีกหลายค่ายหยุดการผลิตตามๆ กันมา ส่วนโรงงานไหนที่ปิดอยู่แล้วมีโอกาสขยายเวลาออกไปอีก และใช่ว่าจะมีแค่ค่ายรถที่เสียหายเท่านั้น แต่ยังมีบรรดาซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกไม่น้อยที่จะโดนหางเลขไปด้วย

ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า การหยุดประกอบรถยนต์ชั่วคราวของค่ายรถต่างๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Automotive) โดย ฮอนด้า ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดผลิตรถยนต์รวม ดังนั้น การที่ฮอนด้าหยุดผลิตชั่วคราวจะกระทบต่อยอดผลิตรถยนต์ของไทยในเดือน เม.ย. ค่อนข้างมาก จากก่อนหน้านี้ ฟอร์ด ซึ่งมียอดการผลิตรถยนต์รวม 14% ได้ประกาศปิดโรงงานทั้ง 2 แห่ง ชั่วคราวไปแล้ว

สำหรับหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการหยุดสายการผลิตของฮอนด้า ได้แก่ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากฮอนด้า 20-30% และบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT มีสัดส่วนรายได้ 4% ส่วนบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ไม่ได้มีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้ฮอนด้า โดยยังคงให้น้ำหนักกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ “น้อยกว่าตลาด” แนะนำ “หลีกเลี่ยง” การลงทุน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0