โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"หัวเว่ย" จุดเดือดใหม่ ในสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 05.47 น.
for01230562p1

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนทวีความเข้มข้นขึ้นมาก หลังจากทั้งสองฝ่ายหันมาตอบโต้กันด้วยมาตรการขึ้นภาษีใส่กันอีกครั้ง แต่ที่ชวนสังเกตคือ แม้ในขณะนั้นต่างฝ่ายต่างเปิดช่องให้มีการเจรจากันอยู่ พร้อมกันนั้น ผู้นำของทั้งสองประเทศก็ยังมีโอกาสพบปะ หารือกันซึ่ง ๆ หน้า ในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศจี 20 ในเดือนมิถุนายนนี้อีกด้วย ทำให้ทั่วโลกยังคงมีความหวังอยู่ว่า สงครามการค้าอาจไม่ยืดเยื้อและสามารถยุติได้ในเร็ววันความคาดหวังที่ว่านั้นหมดไปในทันทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเล่นงาน “หัวเว่ย เทคโนโลยี” บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา คำสั่งของทรัมป์ซึ่งอาศัยอำนาจตามรัฐบัญญัติว่าด้วยภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจและความมั่นคง กฎหมายเก่าแก่ที่ไม่ค่อยมีใครหยิบมาใช้กันดังกล่าวนั้น ไม่ได้ระบุชื่อประเทศและชื่อบริษัทไว้ก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐอเมริกากล่าวหามายาวนานแล้วว่า อุปกรณ์ของหัวเว่ยนั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และอาจเป็นช่องทางให้จีนใช้ในการทำจารกรรมได้ เคยล็อบบี้ให้ชาติพันธมิตรปิดทางไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมในโครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 หรือ 5 จี และเมื่อเดือนมกราคมนี้ก็เพิ่งยื่นฟ้องในคดีอาญาต่อหัวเว่ย กล่าวหาว่า “ขโมยความลับทางการค้า” ของที-โมบาย

นอกเหนือจากกรณีสำคัญที่กล่าวหาว่า หัวเว่ยละเมิดการแซงก์ชั่นอิหร่าน ซึ่งยังผลให้ เมิ่ง ว่านโจว ซีเอฟโอของหัวเว่ย ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่แคนาดาอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นแม้ไม่ได้ระบุชื่อก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า สหรัฐอเมริกาเจาะจงเล่นงานหัวเว่ยและจีน

สาระสำคัญของคำสั่งนี้ก็คือ การห้ามไม่ให้เอกชนอเมริกันทั้งหลายจัดซื้อ หรือใช้งานอุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ของหัวเว่ย ที่ถูกระบุว่า “เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และบ่อนทำลายผลประโยชน์” ของสหรัฐอเมริกา พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ขึ้นบัญชีดำ หัวเว่ย เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทซึ่ง “ทำลายผลประโยชน์” นี้ สามารถจัดซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์จากบริษัทอเมริกัน ไปใช้ในการทำลายความมั่นคงและผลประโยชน์ของอเมริกันเองได้บริษัทไหนจะขายอะไรให้หัวเว่ย ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็คือการ “ห้ามขาย” ใด ๆ ให้นั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้ง สก็อตต์ เคนเนดี ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์การเมืองและธุรกิจจีน ประจำศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (ซีเอสไอเอส) ในวอชิงตันชี้ว่า กรณีหัวเว่ยยกระดับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ขึ้นสู่ระดับใหม่ที่ “สุ่มเสี่ยง” จะเกิดอันตรายขึ้นตามมา

กรณี “หัวเว่ย” อาจส่งผลถึงขนาดทำให้การเจรจาการค้าที่ดำเนินมาแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ถึงกับพังพาบไปทั้งหมด หนักยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอยู่ในสภาพเสี่ยงอีกต่างหากการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย อาจส่งผลให้หัวเว่ยไม่สามารถใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่จัดซื้อจากบริษัทอเมริกันอย่าง ควอลคอมม์, ไมครอน หรืออินเทล มาผลิตอุปกรณ์ของตนต่อไปได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ ระบบการสื่อสารไร้สาย ทั้ง 4 จี และ 5 จี ที่หัวเว่ยทำสัญญาพัฒนาไว้ใน 170 ประเทศทั่วโลก ก็อาจมีปัญหาตามมาได้

ที่รุนแรงยิ่งกว่าก็คือ หากรายงานของรอยเตอร์สล่าสุดที่ระบุว่า “อัลฟาเบท อิงก์” หรือ กูเกิล ถูกกระทรวงพาณิชย์อเมริกันบีบให้ตัดขาดในการทำธุรกิจบางส่วนกับหัวเว่ย รวมถึงการใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นจริงขึ้นมา ก็จะกระทบกับธุรกิจสมาร์ทโฟนมูลค่าหลายพันล้านของหัวเว่ยทั้งหมดโดยตรง และสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของหัวเว่ยทั่วโลกแน่นอน

พอล ตริโอโล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีโอเทคโนโลยีของยูเรเซียกรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระบุเอาไว้ว่า จีนจะมองความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการแสดง “พฤติกรรมปฏิปักษ์อย่างเปิดเผย” และ “ยั่วยุ” ไม่ต่างอะไรกันกับการ “จับตัวประกัน” เอาไว้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจา ผลก็คือโอกาสที่จีนจะเจรจาการค้าอย่างจริง ๆ จัง ๆ ต่อไป แทบเป็นไปไม่ได้ หรือหากยังคงมีการเจรจาการค้าต่อไป ก็ยากที่จีนจะยินยอมเสียเปรียบ หรือโอนอ่อนผ่อนตามสหรัฐอเมริกาได้อีก

ที่สำคัญก็คือ บริษัทอเมริกันที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนอย่างหนัก ทั้งโบอิ้ง, จีเอ็ม, เทสลา เรื่อยไปจนถึงไนกี้ ตอนนี้ก็หนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กัน รอวันที่จะถูกมาตรการตอบโต้ของจีนเล่นงานนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0