โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หัดเยอรมัน โรคที่ติดต่อจากแม่สู่ลูกได้

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 10 ม.ค. 2563 เวลา 04.01 น. • Motherhood.co.th Blog
หัดเยอรมัน โรคที่ติดต่อจากแม่สู่ลูกได้

หัดเยอรมัน โรคที่ติดต่อจากแม่สู่ลูกได้

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักโรค "หัดเยอรมัน" กันเป็นอย่างดี แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว โรคนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ ก็จะนำอันตรายมาสู่ทารกในครรภ์ได้อย่างมาก บางครั้งหนักหนาสาหัสถึงขั้นเสียชีวิตหลังคลอดได้เลยทีเดียว วันนี้ Motherhood มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก เพื่อให้ได้ระวังกันไว้ค่ะ

หัดเยอรมันคืออะไร?

หัดเยอรมัน (Rubella/German Measles/Three-day Measles) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักมีอาการออกผื่นแดงตามร่างกาย ไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ตามปกติแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้โดยการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านทางรก หรือเสียชีวิตหลังคลอด เนื่องจากติดเชื้อขณะคลอดผ่านน้ำคัดหลั่งหรือเลือดของคุณแม่ระหว่างคลอด ทั้งนี้ยังรวมถึงน้ำนมของคุณแม่หลังจากคลอดเสร็จแล้วด้วย ความรุนแรงของโรคหัดเยอรมันนี้จะขึ้นอยู่ที่ความรุนแรงของตัวเชื้อหัดเยอรมัน รวมถึงระยะเวลาในการติดเชื้อ และภาวะภูมิคุ้มกันของคุณแม่และตัวทารกเองด้วย

ผื่นแดงอมชมพูจะลามไปทั่วตัว และอยู่ 2-3 วัน
ผื่นแดงอมชมพูจะลามไปทั่วตัว และอยู่ 2-3 วัน

อาการของโรค

อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรกค่อนข้างจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

  • มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะตรงบริเวณหลังหูและลำคอ
  • มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพู ขึ้นตามใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังช่วงตัว เช่น แขน ขา แต่จะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักขึ้นแบบกระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ
  • ตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ
  • คออักเสบ
  • ปวดข้อ และข้อต่อบวม โดยเฉพาะในผู้ใหญ่เพศหญิงที่พบได้มากถึง 60 – 70%

นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของการติดเชื้อหัดเยอรมันจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้เห็น

ความเสี่ยงกับการตั้งครรภ์

จากสถิติพบว่า แม่ท้องติดเชื้อหัดเยอรมันประมาณร้อยละ 0.1-0.2 การติดเชื้อจากแม่สู่ทารกสามารถติดต่อได้ขณะแม่ตั้งครรภ์ โดยความรุนแรงของโรคและความพิการของทารกขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ขณะที่มีการติดเชื้อ ทำให้เกิดการแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือพิการแต่กำเนิดได้ แต่ก็มีทารกบางส่วนที่ไม่พบการติดเชื้อและไม่มีความพิการใด ๆ ซึ่งความพิการโดยกำเนิดของทารกจะเกิดจะมากที่สุดเมื่อติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

โอกาสในการติดเชื้อของทารก

ทารกมีโอกาสติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 80 และจะพบทารกติดเชื้อในครรภ์ได้น้อยลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 54 ที่อายุครรภ์ 13-14 สัปดาห์ และร้อยละ 25 เมื่อติดเชื้อหลังไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นจะเริ่มมีการส่งผ่านภูมิคุ้มกันจากแม่ไปสู่ลูกได้มากขึ้น

ถึงกระนั้น การติดเชื้อหัดเยอรมันของทารกในครรภ์มิได้ก่อให้เกิดความพิการในทารกทุกราย ซึ่งความพิการโดยกำเนิดของทารกที่พบได้แก่ ความผิดปกติทางตา (ต้อกระจก ต้อหิน ตาเล็ก) ความผิดปกติของหัวใจ ความบกพร่องทางการได้ยิน ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ม้ามและตับโต มีเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะซีด รวมทั้งความผิดปกติของโครโมโซม

เชื้อจะส่งต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้
เชื้อจะส่งต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกที่ติดเชื้อในครรภ์

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกที่ได้รับเชื้อตอนอยู่ในครรภ์มารดานั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

1. กลุ่มที่ปรากฏความผิดปกติขึ้นชั่วคราว จะสามารถพบได้นานถึง 3 เดือนหลังจากคลอด ได้แก่ ตับและม้ามโต ตัวเหลือง ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เกล็ดเลือดต่ำ ปอดอักเสบ

2. กลุ่มความผิดปกติถาวร กลุ่มความผิดปกตินี้ ได้แก่ ความบกพร่องในการได้ยิน ความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด ความผิดปกติทางตา ความผิดปกติทางสมอง รวมทั้งภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งพบได้ร้อยละ 10-20

3. กลุ่มที่ปรากฏความผิดปกติภายหลัง คือไม่แสดงอาการขณะแรกคลอด พบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของทารกที่มีการติดเชื้อ แต่จะมีอาการแสดงออกภายหลังในช่วง 10-30 ปี

ความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ ความบกพร่องของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ เบาหวาน และภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต รวมทั้งความบกพร่องในการได้ยินและการมองเห็น ความบกพร่องของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โดยความผิดปกติของสมองมักพบในทารกที่แม่ติดเชื้อตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

การวินิจฉัยโรคและภาวะติดเชื้อ

ภาวะติดเชื้อนี้บางครั้งสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยไม่สูงนัก แม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติสัมผัสโรคหรือมีอาการคล้ายหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ก่อน 16 สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจยืนยันการติดเชื้อหัดเยอรมันเพื่อช่วยในการตัดสินใจดูแลต่อไป

ส่วนทารกก่อนคลอดมีความสำคัญที่จะต้องตรวจเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ผลการตรวจยืนยันในแม่ได้ผลไม่ชัดเจน เรายังสามารถตรวจเพิ่มเติมได้โดยการตรวจ IgM ในเลือดลูก โดยการเก็บเลือดจากสายสะดือโดยตรงเนื่องจาก IgM ไม่ผ่านจากแม่สู่ลูก ซึ่งตรวจได้หลังจากแม่ติดเชื้อแล้ว 7-8 สัปดาห์ และตรวจเมื่ออายุครรภ์ถึง 20-22 สัปดาห์

หลังแม่ได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อจริง แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการให้สารภูมิต้านทานที่เรียกว่า ไฮเปอร์ฮีมูน กลอบูลิน (Hyperimmune Globullin) เพื่อใช้ต้านไวรัสและบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาได้ อาจต้องมีการพบแพทย์เป็นเป็นระยะควบคู่ไปด้วย

สำหรับกรณีที่มีการติดเชื้อของทารกในครรภ์ด้วย แม่ควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับโอกาสเกิดความพิการโดยกำเนิดของทารกและการยุติการตั้งครรภ์

หากมีโอกาสสัมผัสเชื้อ แม่ท้องควรรีบไปรับการตรวจโดยด่วน
หากมีโอกาสสัมผัสเชื้อ แม่ท้องควรรีบไปรับการตรวจโดยด่วน

ป้องกันความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง?

สำหรับคู่รักที่อยู่ในช่วงการวางแผนครอบครัว ถ้าหากไม่แน่ใจว่าร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันการเกิดโรคหัดเยอรมันหรือไม่ รวมถึงคู่รักที่กำลังมีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ ในประเทศที่พบว่ามีโรคหัดเยอรมันระบาดหนัก สูตินรีแพทย์แนะนำให้มารับการปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางก่อน เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยและทำการตรวจหาภูมิคุ้มกันเพื่อให้มั่นใจว่าจะป้องกันการติดเชื้อหัดเยอรมันได้

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0